backup og meta

ผิวหนัง ลอก เกิดจากสาเหตุอะไร อาการแบบไหนที่เป็นอันตราย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

    ผิวหนัง ลอก เกิดจากสาเหตุอะไร อาการแบบไหนที่เป็นอันตราย

    ผิวหนัง ลอก คือ การหลุดลอกของชั้นหนังกำพร้าซึ่งอยู่นอกสุดของผิวหนัง อาจเกิดขึ้นเนื่องจากผิวหนังโดนความร้อน แสงอาทิตย์ แพ้สารเคมี ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ ผิวหนังที่หลุดลอกออกไป มักสมานกลับมาเหมือนเดิมได้ในภายหลัง แต่หากผิวหนังลอกเป็นอาการของโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น โรคไข้อีดำอีแดง โรคสะเก็ดเงิน โรคคาวาซากิ โดยมีอาการรุนแรง ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

    สาเหตุของผิวหนัง ลอก

    ผิวหนังลอกอาจเป็นอาการหนึ่งของโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ อาทิ

  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคผิวหนังซึ่งพบบ่อยในเด็ก ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย อาการที่พบได้ คือ ผิวลอก มีผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสบนร่างกาย รวมถึงอาการคันซึ่งอาจรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน หากสงสัยว่าเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ควรพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษา
  • โรคผื่นระคายสัมผัส เกิดจากการแพ้สารเคมีในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด วัสดุที่ทำจากโลหะหรือยาง รวมถึงพืชบางชนิด อาการโดยทั่วไปของโรคคือ มีผื่นแดง ตุ่มพอง อาการคัน ผิวหนังแห้ง ลอกเป็นขุย อาการมักหายไปเองเมื่อไม่ได้สัมผัสสิ่งของที่ทำให้เกิดอาการแพ้
  • โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นเซลล์ที่พัฒนาไม่สมบูรณ์ กลายเป็นสะเก็ดสีเงินบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ข้อศอก แผ่นหลัง แขน ข้อมือ ควรดูแลตัวเองในเบื้องต้นและปรึกษาคุณหมอเพื่อวางแผนการรักษาเนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและไม่สามารถรักษาให้หายขาด
  • โรคไข้อีดำอีแดง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ (Group A Streptococcus) โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง เจ็บคอ ร่วมกับมีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย และผิวหนังอาจหลุดลอก ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะหากไม่ได้รับการรักษา โรคไข้อีดำอีแดงอาจส่งผลร้ายต่ออวัยวะอื่น ๆ อาทิ ไต หัวใจ ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
  • โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) เป็นโรคเกี่ยวกับการอักเสบของผนังหลอดเลือด พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สาเหตุของโรคคาวาซากิยังไม่เป็นที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อที่อาจทำให้ให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติอาการของโรคได้แก่ ไข้สูง มีผื่นบริเวณลำตัวหรืออวัยวะเพศ มือและเท้าบวมแดง ผิวหนังลอก รวมถึงการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ ตาแดง ริมฝีปากแห้ง หากไข้ขึ้นสูงติดต่อกันและผื่นไม่ยุบลงภายใน 3-5 วัน ควรพาผู้ป่วยไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษาทันที
  • กลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome) เกิดจากพิษของแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) อาการของผู้ป่วย คือ มีไข้เฉียบพลัน ความดันโลหิตต่ำ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องร่วง ผิวหนังตามมือและเท้าลอก ในกรณีร้ายแรง ผู้ป่วยอาจชักหรือเสียชีวิตได้ ควรพบคุณหมอเพื่อสังเกตอาการและรับการรักษาต่อไป
  • นอกจากนี้ ผิวหนังลอกอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

    • แดดเผา ผิวหนังชั้นกำพร้าอาจถูกทำลายได้หากร่างกายได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์เป็นเวลานาน จนเกิดอาการหลุดลอกออกมา ไม่ควรแกะหรือเกา ควรใช้วิธีอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายตามปกติ และทาผิวด้วยว่านหางจระเข้เพื่อสมานผิว ประคบด้วยน้ำเย็น ดื่มน้ำมาก ๆ และหลีกเลี่ยงการออกไปเผชิญแสงแดด หากจำเป็นควรสวมเสื้อผ้าปกปิดบริเวณผิวที่โดนแดดเผา
    • ความร้อน หากผิวหนังสัมผัสวัตถุหรือของเหลวอุณหภูมิสูง เช่น ในกรณีจับภาชนะใส่อาหารที่ร้อน หรืออาบน้ำร้อน ผิวอาจพองก่อนแล้วหลังจากนั้นผิวหนังจะหลุดลอกออกเป็นแผ่น และอาจรู้สึกเจ็บปวด
    • สารเคมี โดยเฉพาะหากผิวหนังสัมผัสโดนสารเคมีซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด จะทำให้ผิวหนังแสบร้อนได้ ต่อมาอาจลอกเป็นขุยหรือแผ่น โดยปกติหากจำเป็นต้องสัมผัสสารเคมีไม่ว่าชนิดใดก็ตาม เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ ผสมปูน ควรสวมถุงมือหนา ๆ และล้างทำความสะอาดมือหลังเลิกใช้งาน
    • ผิวแห้ง มักทำให้ผิวหนัง ลอก แดง เป็นขุย เกิดจากผิวขาดความชุ่มชื้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ซึ่งป้องกันได้ด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร อาบน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่ควรอาบน้ำร้อนจนเกินไปเพราะจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น เลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว และทาครีมบำรุงผิวสม่ำเสมอ
    • การรักษาโรคมะเร็ง ผิวหนังลอกเป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้จากการฉายรังสีหรือทำเคมีบำบัด ซึ่งอาจเลือกดูแลผิวด้วยการทาครีมบำรุง ดื่มน้ำมาก ๆ หลีกเลี่ยงการเกาและแกะผิว รวมทั้งทาครีมกันแดดเมื่อต้องออกนอกบ้าน

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    โดยปกติแล้ว ผิวหนังลอกในชีวิตประจำวันนั้น ไม่เป็นอันตราย เพราะอาจเกิดจากการที่ผิวแห้งเนื่องจากการล้างจานบ่อย หรือล้างมือบ่อย รวมทั้งร่างกายขาดน้ำ หรือโดนแสงแดด  บางครั้งอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ผิวหนังแดง คัน ระคายเคือง ผิวแห้งสาก

    อย่างไรก็ตาม หากผิวหนังลอกเป็นอาการของโรค หรือรุนแรงจนทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือคันผิดปกติ รวมทั้งมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรรีบไปพบคุณหมอ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของโรคผิวหนังที่ร้ายแรง ได้แก่

    • มีไข้สูง
    • ผิวหนังปวดหรือบวม
    • มีผื่นตามลำตัว หรือในปาก
    • หายใจลำบาก
    • ปวดข้อต่อ
    • ปวดหัว
    • ท้องเสีย
    • คลื่นไส้ อาเจียน

    การรักษาผิวหนัง ลอก

    ผิวหนัง ลอก ตามธรรมชาติไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะร่างกายจะสร้างหนังกำพร้าขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสียหายเอง ทั้งนี้ ระหว่างขั้นตอนการฟื้นฟู ไม่ควรเกาหรือแกะ เพราะจะทำให้ผิวหนังฟื้นฟูตัวเองได้ไม่เต็มที่ หรือผิวหนังลอกมากกว่าเดิม

    อย่างไรก็ตาม ในกรณีผิวหนังลอกเนื่องจากโรคหรือการติดเชื้อ รวมทั้งหากไม่แน่ใจว่าผิวหนังลอกเกิดจากสาเหตุใด และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัย โดยคุณหมออาจจ่ายครีมหรือปิโตรเลียมเจลลีให้ทาบริเวณที่ผิวหนังลอก หรือซักประวัติเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุของโรคและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา