backup og meta

ผิวเผือก เกิดจากอะไร และอันตรายหรือไม่

ผิวเผือก เกิดจากอะไร และอันตรายหรือไม่

ผิวเผือก เป็นโรคทางพันธุกรรม ที่เกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการผลิตเม็ดสีเมลานินในร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้ผิวหนัง เส้นผม ดวงตา และขนที่ขึ้นทั่วทั้งร่างกาย เช่น ขนตา ขนคิ้ว หนวดเครา มีลักษณะเป็นสีขาว ผิวเผือกอาจไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่อาจส่งผลให้เกิดอาการบางอย่างซึ่งสามารถรักษาได้ เช่น ผิวหนังไวต่อแสง การมองเห็นเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจได้

ผิวเผือก เกิดจากอะไร

ผิวเผือก เกิดจากกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินในร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เม็ดสีลดลงหรืออาจไม่มีเลย ซึ่งเม็ดสีเมลานินเป็นเม็ดสีผิวที่ผลิตจากเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ที่แทรกตัวอยู่ในชั้นผิวหนังชั้นนอกสุด หากมีเม็ดสีเมลานินมากก็อาจทำให้สีผิวดูคล้ำ หากมีเม็ดสีเมลานินน้อยอาจทำให้สีผิวอมเหลือง ขาว ไปจนถึงผิวเผือกตามลำดับ

อาการของผิวเผือก

อาการของผิวเผือก มีดังนี้

  • มีผิวขาวทั่วทั้งร่างกาย บางคนอาจมีกระ ไฝ ฝ้า สีชมพูขึ้นบนผิว และเมื่อโดนแสงแดด สีผิวจะไม่มีสีคล้ำขึ้น
  • เส้นผมมีสีโทนอ่อน เช่น สีน้ำตาลแดง สีเหลือง สีขาว
  • เส้นขนบนผิว ขนตา ขนคิ้ว หนวดเครามีสีขาวซีด
  • ดวงตามีสีน้ำเงินอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาล
  • การเคลื่อนไหวของดวงตาไม่ดี ขยับดวงตาลำบาก จึงอาจจำเป็นต้องหันศีรษะแทนการเลื่อนตาไปมอง
  • ตาแห้ง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น ตาพร่ามัว ตาบอด เห็นสิ่งรอบตัวเป็นภาพซ้อน สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ตาเหล่ และตาบอด

นอกจากนี้ หากสังเกตว่ามีอาการอื่น ๆ เช่น ร่างกายมีรอยช้ำง่าย มีการติดเชื้อเรื้อรัง เลือดกำเดาไหลบ่อยเกินไป ควรเข้าพบคุณหมอในทันที เพราะอาจโรคเฮอร์แมนสกี พุดเลค (Hermansky-Pudlak syndrome) หรือ โรคเชดิเอค ไฮคาชิ (Chediak-Higashi syndrome) ซึ่งเป็นโรคผิวเผือกชนิดที่พบได้ยาก ที่อาจเกิดอาการรุนแรงมากกว่าโรคผิวเผือกทั่วไป

ผิวเผือก อันตรายไหม

โรคผิวเผือก มักไม่ทำให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรง แต่อาจส่งผลให้มีอาการบางอย่างที่หากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ ดังนี้

  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง ขยับลูกตาลำบาก ซึ่งอาจส่งผลให้มองเห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว และอาจสูญเสียการมองเห็นได้
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนัง เนื่องจากโรคผิวเผือกจะส่งผลให้ผิวไวต่อแสง การตากแดดเป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตสูง ที่เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากการมีสีผิวและเส้นผมที่เป็นสีขาวซีด อาจทำให้ดูแตกต่างจากคนอื่น และทำให้ถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง จนอาจส่งผลให้มีความรู้สึกโดดเดี่ยว วิตกกังวล เครียด สูญเสียความมั่นใจ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

ผิวเผือก รักษาได้หรือไม่

โรคผิวเผือก อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่สามารถรักษาตามอาการที่เป็นได้ ดังนี้

  • ผ่าตัดกล้ามเนื้อตา สำหรับผู้ที่มีปัญหาการมองเห็น ตาเหล่ ตาพร่ามัว
  • สวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตา เช่น สายตาเอียง สายตาสั้น สายตายาว หรืออาจทำการผ่าตัดแก้ไขปัญหาสายตา โดยควรปรึกษาคุณหมอเพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
  • ดูแลผิว โดยการเข้ารับการประเมินสุขภาพผิว และตรวจคัดกรองโรคมะเร็งผิวหนังทุก ๆ 6-12 เดือน และควรปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป หรือสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิว
  • ปรึกษาคุณหมอด้านสุขภาพจิต สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเนื่องจากการถูกล้อเลียน การกลั่นแกล้ง หรือความวิตกกังวล เพื่อช่วยดูแลสภาพจิตใจให้ดี และอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ได้

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Melanin? https://www.webmd.com/a-to-z-guides/what-is-melanin. Accessed May 23, 2022 

Albinism. https://www.nhs.uk/conditions/albinism/. Accessed May 23, 2022 

Albinism. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/albinism/symptoms-causes/syc-20369184. Accessed May 23, 2022 

Albinism. https://medlineplus.gov/ency/article/001479.htm. Accessed May 23, 2022 

Albinism. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/what-is-albinism. Accessed May 23, 2022 

What Is Albinism? https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-albinism. Accessed May 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/05/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

แผลถลอก รักษายังไงให้หายอย่างรวดเร็ว

ฉีดผิวขาว ขั้นตอน และความเสี่ยงต่อสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา