backup og meta

ผื่นขึ้นตามตัว เกิดจากสาเหตุอะไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/06/2022

    ผื่นขึ้นตามตัว เกิดจากสาเหตุอะไร

    ผื่นขึ้นตามตัว คือ โรคผิวหนังที่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา ซึ่งส่งผลให้เกิดตุ่มผื่นเล็ก ๆ หรือแผลพุพองเกิดขึ้นบนผิวหนัง นอกจากนั้น ยังอาจทำให้ผิวหนังคัน ระคายเคือง ผิวหนังบวมแดง เจ็บแสบ ลอกเป็นขุย ถึงแม้ว่าผื่นส่วนใหญ่อาจหายไปได้เองและไม่ส่งผลอันตราย แต่ในกรณีที่ผื่นขึ้น แล้วมีไข้ มีหนอง หรือเกิดแผลพุพองขึ้นรอบอวัยวะที่สำคัญ เช่น ดวงตา ปาก อวัยวะเพศ ควรรีบเข้าตรวจและรักษาจากหมอผิวหนังทันทีก่อนที่การติดเชื้อจะรุนแรงขึ้น

    ผื่นขึ้นตามตัว เกิดจากสาเหตุอะไร

    สาเหตุที่ทำให้ ผื่นขึ้นตามตัว อาจมาจากภาวะโรคผิวหนังต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

    1. โรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือกลาก

    เป็นภาวะที่เกิดจาก แบคทีเรีย สารระคายเคือง สารก่อภูมิแพ้ สภาพอากาศร้อน ที่เป็นตัวกระตุ้นก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง มีผื่น และตุ่มใสเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกาย รวมถึงส่วนต่าง ๆ เช่น หน้าอก เปลือกตา ใบหน้า หนังศีรษะ เท้า ข้อมือ ข้อศอก ข้อพับ โดยส่วนใหญ่แล้วอาการคันที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ผิวหนังมักรุนแรงโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน โรคภูมิแพ้ผิวหนังอาจพบได้บ่อยในทารก เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ แต่ก็อาจพบได้ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ รวมถึงผู้ที่มีประวัติเป็นภูมิแพ้ ไข้ละอองฟาง โรคหอบหืด

    วิธีรักษา

    โรคภูมิแพ้ผิวหนัง สามารถรักษาได้ด้วยยา ครีม ขี้ผึ้งในกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน ลดรอยแดง นอกจากนี้ การบำบัดด้วยรังสียูวีเอ (UVA) และรังสียูวีบี (UVB) อาจช่วยรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง แต่อาจส่งผลให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง หรือผิวแก่ก่อนวัย ดังนั้น ก่อนเข้ารับการรักษาควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อสอบถามถึงประโยชน์และข้อเสียอย่างละเอียด เพื่อประกอบการตัดสินใจ

    วิธีป้องกัน

    สำหรับวิธีการป้องกันโรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือกลาก ด้วยตัวเอง อาจทำได้ดังนี้

    1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดสารระคายเคือง เช่น น้ำยาฟอกขาว สบู่ ผงซักฟอก
    2. เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังด้วยการทาโลชั่น ครีม อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
    3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้เหงื่อออกและอากาศร้อนจนเกินไป หรือเปิดพัดลม เครื่องปรับอากาศทำให้อุณหภูมิเย็นขึ้น อากาศไหลเวียนได้สะดวก 
    4. อาบน้ำอุ่นแทนน้ำร้อน และอาบน้ำในระยะเวลาสั้น ประมาณ 10-15 นาที เพื่อสุขภาพผิวที่ดี ทั้งยังช่วยป้องกันผิวแห้งและก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง
    5. สวมใส่เสื้อผ้าที่ให้ความสบาย ไม่รัดแน่น เนื้อผ้าเรียบ ป้องกันอาการคันเมื่อเสียดสีกับผิวหนัง
    6. ไม่ควรเกาผื่นแรง ควรใช้วิธีการกด หรือนำผ้าพันแผลมาปิดผื่นเอาไว้ เพื่อป้องกันการเกา

    2. ผื่นแกรนูโลมาวงกลม (Granuloma Annulare)

    ผื่นแกรนูโลมาวงกลม คือ ภาวะผิวหนังเรื้อรังที่มีสาเหตุไม่แน่ชัด แต่อาจเป็นไปได้ว่าเป็นผื่นที่เกิดจากการถูกแมลงกัดต่อย การติดเชื้อ ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ผื่นวงกลมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

    • โลคัลไรซ์ (Localized) เป็นผื่นที่มีลักษณวงกลมหรือครึ่งวงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2 นิ้ว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณมือ ข้อมือ เท้า และข้อเท้า พบได้มากในช่วงวัยผู้ใหญ่
    • เจเนอร์ไรซ์ (Generalized) ทำให้เกิดตุ่มนูนหรือผื่นขึ้นตามตัว แขน ขา และอาการคัน อาจส่งผลกระทบในผู้ใหญ่
    • ผื่นใต้ผิวหนัง ผื่นชนิดนี้อาจมีลักษณะเป็น กลุ่มก้อนเล็ก ๆ ใต้ผิวหนังบริเวณหนังศีรษะ มือ หน้าแข้ง อาจส่งผลกระทบต่อเด็กเล็ก

    วิธีรักษา

    ผื่นแกรนูโลมาวงกลมอาจได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ก็อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ในจุดเดิม วิธีการรักษาอาจทำได้ ดังนี้

    • ใช้ครีมหรือขี้ผึ้งคอร์ติโคสเตียรอยด์ทาบริเวณผื่นและอาจใช้ผ้าพันแผลปิด
    • หากอาการยังไม่ดีขึ้นหรือผื่นยังไม่ลดจำนวนลงคุณหมออาจใช้วิธีรักษาด้วยการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์บริเวณผื่น และอาจต้องฉีดซ้ำทุก ๆ 6-8 สัปดาห์ จนกว่าอาการจะดีขึ้น
    • การบำบัดด้วยแสงอัลตราไวโอเลต อาจเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นผื่นวงกลมในระดับรุนแรง
    • รักษาด้วยความเย็น คุณหมออาจใช้ไนโตรเจนเหลวบริเวณผื่นวงกลม เพื่อกำจัดร่องรอยผื่น

    วิธีป้องกัน

    ควรรับประทานยาหรือทายาที่ปฏิชีวนะตามคำแนะนำของคุณหมอ และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าคุณหมอจะวินิจฉัยว่าหายดี เนื่องจากเป็นผื่นที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้

    3. ผื่นกุหลาบ

    ผื่นกุหลาบ เป็นผื่นผิวหนังที่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด อาจลักษณะของผื่นจะสีชมพูเกิดขึ้นหย่อมบริเวณหน้าอก คอหลัง หน้าท้อง ต้นแขน และขา บางคนอาจมีอาการคัน มีไข้ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า เจ็บคอร่วมด้วย มักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงอายุ 10-35 ปี และอาจหายไปได้เองภายใน 10 สัปดาห์ ผื่นชนิดนี้ไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้

    วิธีรักษา

    ผื่นกุหลาบสามารถรักษาได้ด้วยยาที่คุณหมอแนะนำดังนี้

    • ยาแก้แพ้ เช่น ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) เพื่อบรรเทาอาการคัน แต่อาจทำให้ง่วงซึมได้หลังรับประทาน
    • ยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir)
    • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เบต้าเมทาโซน (Betamethasone) บรรเทาอาการบวมและคัน

    หากอาการผื่นกุหลาบไม่ดีขึ้น คุณหมออาจแนะนำให้บำบัดด้วยแสงเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน และทำให้รอยผื่นจางลง นอกจากนั้น ยังอาจรักษาด้วยแสงแดดจากธรรมชาติ แต่ไม่ควรตากแดดนานจนเกินไป เพราะอาจทำให้สุขภาพผิวเสียได้

    วิธีป้องกัน

    อาจไม่มีวิธีป้องกันผื่นกุหลาบ แต่สามารถบรรเทาอาการคันที่อาจส่งผลให้ผิวหนังอักเสบจากการเกา ดังนี้

    • ทายา หรือรับประทานยาที่คุณหมอกำหนด หากผื่นหรืออาการคันแย่ลง ควรแจ้งให้คุณหมอทราบเพื่อเปลี่ยนชนิดยา
    • อาบน้ำด้วยน้ำอุ่น หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบอ่อนโยนจากธรรมชาติ เช่น ข้าวโอ๊ต
    • เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวด้วยการทามอยส์เจอไรเซอร์ คาลาไมน์

    4. ไลเคนพลานัส (Lichen Planus)

    ไลเคนพลานัสเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าไปทำลายเซลล์ เนื้อเยื่อของผิวหนัง ที่ถูกกระตุ้นโดนยาบางชนิดที่ใช้สำหรับรักษาโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ ยาแก้ปวด สารเคมี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และการติดเชื้อไวรัส เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) อาการของไลเคสพลานัสอาจสังเกตได้จากตุ่มสีม่วง อาการคัน ผื่นขึ้นตามลำตัว หนังศีรษะ ข้อพับแขน ข้อมือ ข้อเท้า ตุ่มในช่องปาก และบริเวณอวัยวะเพศ

    วิธีรักษา

    ปกติแล้วไลเคนพลานัสสามารถหายไปได้เอง แต่อาจใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี แต่หากมีอาการคัน ระคายเคือง อาการปวดที่ทำให้รู้สึกส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเข้ารับการรักษาจากคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยและจ่ายยาตามความเหมาะสม ดังนี้

    • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ในรูปแบบครีมที่ทาผิวหนังและรักษาในช่องปาก เพื่อบรรเทาอาการคันรุนแรง เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone)
    • ยาป้องกันการติดเชื้อในช่องปาก เช่น เอซาไธโอพรีน (Azathioprine) มัยโคฟีโนเลต (Mycophenolate) 
    • ยาแก้แพ้ เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) บรรเทาอาการคันจากผื่นไลเคนพลานัส

    นอกจากนี้ คุณหมอผิวหนังอาจบำบัดด้วยรังสียูวีบี (UVB) ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือนานหลายสัปดาห์ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวสีเข้ม เพราะอาจทำให้ผิวคล้ำขึ้นกว่าเดิม กรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยแสงบำบัด คุณหมออาจปรับเปลี่ยนมารักษาด้วยการให้รับประทานยาเรตินอยด์ เช่น อาซิเทรติน (Acitretin)

    วิธีป้องกัน

    อาจไม่มีวิธีป้องกันไลเคนพลานัส แต่สามารถบรรเทาอาการคันและลดผื่นได้ ด้วย

    • การหลีกเลี่ยงการเการุนแรง
    • ใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มให้ความอ่อนโยนและความชุ่มชื้นแก่ผิว
    • ทายาบริเวณที่ได้รับผลกระทบตามที่คุณหมอแนะนำสม่ำเสมอ

    สำหรับผู้ที่เป็นไลเคนพลานัสในช่องปาก ควรงดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการรับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ด เปรี้ยว เพื่อป้องกันการเจ็บปวดแผลในช่องปาก

    5. ผื่นแพ้ยา

    เป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านสารแปลกปลอมจากยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาขับปัสสาวะ แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพนิซิลลิน (Penicillin) เคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งจนก่อให้เกิดผื่นขึ้นตามตัว อาการคัน ผื่นแดง อาเจียน วิงเวียนศีรษะ คันตา น้ำตาไหล

    การแพ้ยาถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

    • ผื่นที่เกิดขึ้นจากอาการแพ้ยา
    • ผื่นที่เป็นผลข้างเคียงจากยา
    • ผื่นแพ้ยาที่อาจปรากฏเมื่อผิวถูกแสงแดด

    ผื่นแพ้ยาอาจส่งผลรุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้ ซึ่งหากมีอาการผิดปกติขึ้นหลังจากรับประทานยา ควรเข้าขอรับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัย

    วิธีรักษา

    หากอาการไม่รุนแรงคุณหมออาจให้ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) เพื่อกดภูมิคุ้มกันไม่ให้ปล่อยสารฮีสตามีนออกมาทำปฏิกิริยากับสิ่งแปลกปลอม หรืออาจให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในรูปแบบรับประทานหรือฉีดผ่านช่องปาก

    วิธีป้องกัน

    ควรหยุดรับประทานยาและเข้ารับการวินิจฉัยจากคุณหมอทันทีพร้อมแจ้งยาที่ใช้อยู่ให้คุณหมอทราบ

    6. โรคสะเก็ดเงิน

    โรคสะเก็ดเงิน คือ โรคผิวหนังที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผิดปกตินำไปสู่การกระตุ้นสารเคมีในเซลล์เม็ดเลือดขาวจนเพิ่มจำนวนเซลล์ผิวหนังรวดเร็ว ทำให้เกิดเป็นสะเก็ดหนาปลกคลุมผิวหนังทั่วร่างกาย รวมถึงหนังศีรษะ มีผื่นขึ้นตามลำตัว อาการคัน แสบร้อน ผิวแห้งแตก

    ประเภทของโรคสะเก็ดเงิน มีดังนี้

    • สะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา เป็นรูปแบบที่พบบ่อยที่สุดซึ่งเกิดจากคราบจุลินทรีย์ ส่งผลให้มีสะเก็ดปกคลุมทั่วผิวหนัง ผิวหนังแห้ง เกิดอาการคันโดยเฉพาะบริเวณหนังศีรษะ ข้อศอก เข่า หลังส่วนล่าง
    • สะเก็ดเงินที่เล็บ เป็นประเภทที่ส่งผลกระทบต่อเล็บมือและเล็บเท้าทำให้เกิดเป็นรูพรุน เล็บเปลี่ยนสี และเล็บพังได้
    • สะเก็ดเงินบริเวณข้อพับ คือ ประเภทที่ส่งผลกระทบบริเวณข้อพับ หน้าอก ขาหนีบ และก้น หากเกิดการเสียดสีหรือเหงื่อออกปริมาณมากในบริเวณดังกล่าว อาจทำให้เกิดการติดเชื้อรา และอาการของผื่นแย่ลงได้
    • สะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง เป็นประเภทที่หายากซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้า 
    • สะเก็ดเงินชนิดผื่นเล็ก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดรอยผื่นแดงขนาดเล็ก ตามลำตัวและแขน
    • สะเก็ดเงินบริเวณข้อต่อ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอาจส่งผลให้ข้อต่อบวมอักเสบ จนนำไปสู่ความเสียหายรุนแรงของข้อต่ออย่างถาวร

    วิธีรักษา

    วิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงิน คือ หยุดการเจริญเติบโตของเซลล์ผิว ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เหมาะกับรักษาผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินในระดับปานกลาง มีจำหน่ายในรูปแบบขี้ผึ้ง โลชั่น เจล โฟม แชมพู รวมถึงยารับประทานและแบบฉีดเข้าสะเก็ดเงิน ซึ่งควรดำเนินการด้วยคุณหมอ
    • เรตินอยด์ เป็นยาที่ใช้เพื่อลดการผลิตเซลล์ผิวโดยมีรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทานและเจลหรือครีม ผลข้างเคียงที่อาจพบบ่อยจากการใช้ยานี้ในการรักษาคือ ผิวหนังระคายเคืองและไวต่อแสง 
    • กรดซาลิไซลิก เป็นกรดที่มีส่วนช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงินบริเวณที่ผิวหนัง
    • น้ำมันดิน เป็นผลิตภัณฑ์ที่อาจอยู่ในรูปแบบแชมพู ครีม ช่วยลดการระคายเคือง บรรเทาอาการคันและการอักเสบ
    • แอนทราลิน (Anthralin) เป็นครีมที่ใช้ทาสะเก็ดเงินเพื่อชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิว อีกทั้งยังสามารถขจัดสะเก็ดทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้น แต่อาจไม่เหมาะสำหรับนำมาใช้บริเวณใบหน้าและอวัยวะเพศ เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง
    • ยาชนิดรับประทาน เช่น เมโธเทรกเซท (Methotrexate) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ที่ช่วยลดการอักเสบ
    • การบำบัดด้วยแสง ซึ่งมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นแสงแดดจากธรรมชาติซึ่งอาจตากแดดโดยพอประมาณ สำหรับการบำบัดด้วยแสงยูวีเอ คุณหมออาจทำการส่องไฟไปยังบริเวณผิวที่ได้รับผลกระทบเพื่อบรรเทาอาการคัน

    วิธีป้องกัน

    วิธีป้องกันไม่ให้โรคสะเก็ดเงินมีอาการแย่ลง อาจทำได้ดังนี้

    • อาบน้ำทุกวันเพื่อช่วยขจัดเกล็ดของสะเก็ดเงิน และแช่ตัวในน้ำที่ผสมเกลือ หรือข้าวโอ๊ต  อย่างน้อย 15 นาที
    • เพิ่มความชุ่มชื้นด้วยมอยเจอร์ไรเซอร์ ควรเช็ดผิวให้แห้งหลังอาบน้ำและทามอยเจอร์ไรเซอร์
    • ตากแดดเพื่อใช้แสงจากธรรมชาติในการบรรเทาอาการสะเก็ดเงิน แต่ควรตากแดดประมาณ 5-15 นาที ไม่ควรเกิน 30 นาที ในช่วงเวลา 9 โมงเช้า
    • รักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว ปลา น้ำมันมะกอก และออกกำลังกาย เพื่อรักษาน้ำหนักและทำให้ร่างกายแข็งแรง
    • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการสะเก็ดเงินแย่ลง เช่น การสูบบุหรี่ การบาดเจ็บที่ผิวหนัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา