backup og meta

ผื่นแพ้อากาศหนาว สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    ผื่นแพ้อากาศหนาว สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

    ผื่นแพ้อากาศหนาว หรือลมพิษจากการสัมผัสความเย็น เป็นภาวะภูมิแพ้ผิวหนังที่เกิดจากการผิวหนังสัมผัสกับความเย็น เช่น น้ำเย็นจัด อากาศหนาว จนทำให้มีผื่นแดงและคันผิวหนัง ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น ปากบวม คอบวม ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ปวดแสบบริเวณที่สัมผัสกับความเย็น อาการแพ้อาจหายไปเองภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือบางกรณีอาจใช้เวลา 1-2 วัน ผื่นแพ้อากาศหนาวอาจรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้แพ้ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการแพ้

    ผื่นแพ้อากาศหนาว เกิดจากอะไร

    ผื่นแพ้อากาศหนาวหรือลมพิษจากการสัมผัสความเย็น (Cold urticaria หรือ Hives) เป็นภาวะผิวหนังที่ทำให้เกิดผื่นแดงคันบนผิวหนัง อาจเกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้อย่างอากาศที่เย็นกว่าปกติ สัมผัสกับน้ำเย็นจัดอย่างกะทันหัน หยิบจับวัตถุที่มีความเย็น หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชื้นและมีลมแรงก็อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นได้

    นอกจากนี้ ผื่นแพ้อากาศหนาวยังอาจเกิดร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ แมลงกัดต่อย พันธุกรรม โรคมะเร็งผิวหนัง โรคมะเร็งเม็ดเลือด หากผิวหนังความเย็นสัมผัสกับผิวหนังอย่างเต็มที่ อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้รุนแรง และส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพหรืออุบัติเหตุได้ เช่น เกิดผื่นแพ้อาการหนาวตอนว่ายน้ำเย็นจัด  อาจทำให้หมดสติและจมน้ำได้

    ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นลมพิษได้ อาจมีดังนี้

  • การออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมทางกาย
  • ความเครียดและความวิตกกังวล
  • การสัมผัสกับแสงแดด
  • ไข้หวัด
  • การเกาผิวหนัง
  • การสัมผัสกับสารเคมี
  • การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ อาหาร
  • พฤติกรรมที่สร้างแรงกดบริเวณผิวหนัง เช่น การนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน
  • ประเภทของผื่นแพ้อากาศหนาว

    ผื่นแพ้อากาศหนาวอาจแบ่งประเภทได้ดังนี้

    • Essential cold urticaria ผื่นแพ้อากาศหนาวที่เกิดขึ้นได้ในทันทีหรือภายใน 2-5 นาทีหลังสัมผัสความเย็น และอาการมักหายไปภายใน 1-2 ชั่วโมง
    • Familial cold urticaria ผื่นแพ้อากาศหนาวที่เกิดขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังสัมผัสความเย็น ส่วนใหญ่อาการมักหายไปภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางครั้งก็อาจมีอาการนานถึง 48 ชั่วโมง

    อาการของผื่นแพ้อากาศหนาว

    อาการของผื่นแพ้อากาศหนาวอาจแตกต่างไปในแต่ละคน โดยอาการที่พบบ่อย มีดังนี้

  • มีผื่นคันหรือลมพิษขึ้นตามผิวหนังหลังผิวหนังสัมผัสความเย็น
  • ผิวหนังที่สัมผัสกับความเย็นบวมขึ้น
  • ปากบวมจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ
  • ปวดศีรษะหรือวิงเวียนศีรษะ
  • ปวดแสบผิวหนังบริเวณที่สัมผัสความเย็น
  • อาการผื่นแพ้อากาศหนาวรุนแรง อาจมีดังนี้

    • เกิดภาวะภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) เนื่องจากระบบภายในร่างกายมากกว่า 1 ระบบมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้อย่างอากาศที่หนาวเย็น จนอาจทำให้เป็นลม หัวใจเต้นเร็ว แขนขาหรือลำตัวบวม อาจถึงขั้นมีอาการช็อก หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
    • มีอาการหายใจลำบากเนื่องจากลิ้นและคอบวม

    วิธีรักษา ผื่นแพ้อากาศหนาว

    คุณหมออาจรักษาผื่นแพ้อากาศหนาวด้วยการให้ใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) เช่น ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine) อาจช่วยลดอาการทางผิวหนังอย่างผื่นแดงคันที่เกิดจากการสัมผัสความเย็นได้ และคุณหมอยังอาจสั่งจ่ายยา เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) โอมาลิซูแมบ (Omalizumab) ให้เพิ่มเติม ในกรณีที่ใช้ยาชนิดอื่นแล้วอาการไม่ดีขึ้น

    สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องสัมผัสกับความเย็นเป็นประจำ อาจเสี่ยงเกิดภาวะภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลันที่เป็นอันตรายต่อชีวิต คุณหมออาจแนะนำให้พกยาฉีดอะดรีนาลีนหรืออีพิเพ็น (Adrenaline/Epipen) ติดตัวไว้เสมอ หากเกิดอาการให้รีบปฐมพยาบาลด้วยการฉีดอะดรีนาลีนหรืออีพิเพ็น แล้วรีบไปพบคุณหมอ

    วิธีป้องกัน ผื่นแพ้อากาศหนาว

    วิธีป้องกันผื่นแพ้อากาศหนาว อาจทำได้ดังนี้

    • หากเคยมีอาการผื่นแพ้อากาศหนาวมาก่อน ควรรับประทานยาแก้แพ้ที่สั่งจ่ายโดยคุณหมอหรือที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาก่อนไปสัมผัสความเย็น
    • ควรตรวจสอบอุณหภูมิของน้ำก่อนว่ายน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ และไม่ควรไปว่ายน้ำเพียงลำพัง
    • ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ให้ผิวชุ่มชื้น ไม่แห้งแตกจนเกิดอาการคัน
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม แอลกอฮอล์ พาราเบน เพราะอาจกระตุ้นให้อาการคันแย่ลง
    • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทำให้ผิวหนังสัมผัสกับความเย็นจนเกิดเสี่ยงอาการแพ้ เช่น การรับประทานอาหารเย็น ๆ อย่างอาหารแช่เย็น ไอศกรีม เครื่องดื่มใส่น้ำแข็ง การใช้แผ่นมาสก์หน้าที่เย็นจัด
    • หากต้องไปในพื้นที่หนาวเย็น ควรสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด สวมหมวก และผ้าพันคอ เพื่อไม่ให้ความเย็นสัมผัสร่างกายมากเกินไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา