การ รักษาสิวอุดตัน อาจสามารถทำได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะที่คุณหมอด้านผิวหนังแนะนำ และไม่พยายามบีบสิวหรือใช้ที่กดสิว เพราะอาจก่อให้เกิดการอักเสบ ทิ้งรอยแผลเป็น และอาจติดเชื้อจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดได้
สิวอุดตัน คืออะไร
สิวอุดตัน คือ กลุ่มสิวที่เกิดจากการอุดตันของเชื้อแบคทีเรีย เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และน้ำมัน ปกติต่อมไขมันบนใบหน้าจะผลิตน้ำมัน หรือที่เรียกว่าซีบัม (Sebum) ออกมาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง แต่หากต่อมไขมันหลั่งซีบัมออกมามากจนเกินไป อาจส่งผลให้เกิดการอุดตันในรูขุมขนใต้ผิวหนัง จนนำไปสู่การเกิดสิวอุดตัน
สิวอุดตันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- สิวหัวดำ เป็นสิวอุดตันที่มีลักษณะเป็นจุดสีดำบนรูขุมขน ที่เกิดจากการอุดตันของเซลล์ผิวที่ตายและน้ำมันที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศจนหัวสิวเปลี่ยนแปลงเป็นสีดำ
- สิวหัวขาว มีลักษณะเป็นสิวมีหนองสีขาว สีเนื้อ ที่อยู่ใต้รูขุมขน แต่อาจไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บ
รักษาสิวอุดตัน
การรักษาสิวอุดตันแบ่งออกเป็น 3 วิธีดังนี้
ยารักษาสิวอุดตันเฉพาะที่ในรูปแบบทาภายนอก
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เป็นยาฆ่าเชื้อที่ช่วยลดจำนวนแบคทีเรียบนผิวหนัง ต้านการอักเสบ และลดความเสี่ยงการเกิดสิวหัวดำ สิวหัวขาว โดยควรใช้ยาทาบริเวณสิววันละ 1-2 ครั้ง หลังล้างหน้าประมาณ 20 นาที ควรใช้ยาในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวระคายเคือง ผิวแห้งตึง รู้สึกแสบร้อน ผิวลอก
- เรตินอยด์ (Retinoids) เรตินอยด์เป็นยาที่มีบทบาทสำคัญในการขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน โดยควรใช้วันละ 1 ครั้งก่อนนอน ยาเรตินอยด์อาจทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยตรง และหลีกเลี่ยงการใช้ยาเรตินอยด์ขณะตั้งครรภ์ เนื่องอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ หากมีความจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาคุณหมอก่อน
- กรดอะซีลาอิก (Azelaic) มีส่วนช่วยในการขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกจากผิวหนัง และช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยานี้อาจไม่ทำให้ผิวไวต่อแสง แต่อาจส่งผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น อาการคัน แสบผิว ผิวแห้ง รอยแดง
- ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ ใช้เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพราะการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องอาจทำให้แบคทีเรียดื้อต่อยา และอาจเกิดอาการผิวหนังลอก ระคายเคือง มีรอยแดงได้
ยาปฏิชีวนะรูปแบบรับประทาน
ยาปฏิชีวนะรูปแบบเม็ดสำหรับการรักษาสิวในระดับปานกลางถึงรุนแรง เช่น เตตราไซคลีน (Tetracyclines) โดยปกติคุณหมอจะแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะรูปแบบรับประทานในระยะสั้น และใช้ร่วมกับยาอื่นเพื่อป้องกันการดื้อยา แต่ผู้ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ และให้นมบุตรอาจยกเว้นให้ใช้ยากลุ่มนี้ หรืออาจเปลี่ยนเป็นใช้ อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ที่อาจใช้ได้อย่างปลอดภัยกว่า
การรักษาด้วยฮอร์โมน
- โค-ไซปรินดีอล (Co-cyprindiol) ใช้สำหรับการรักษาสิวอุดตันในระดับรุนแรง ที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยลดการผลิตซีบัม ยาชนิดนี้ประกอบด้วยฮอร์โมน ไซโปรเตอโรน อะซิเตท(Cyproterone acetate) และเอททินิล เอสตราไดออล (Ethinyl Estradiol) สำหรับสตรีตั้งครรภ์ และอยู่ในช่วงให้นมบุตรอาจควรหลีกเลี่ยง หรือปรึกษาคุณหมอก่อนใช้
- ไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin) คือยากลุ่มอนุพันธุ์ของกรดวิตามินเอ ที่อาจช่วยปรับความสมดุลของการผลิตซีบัม ป้องกันไม่ให้รูขุมขนเกิดการอุดตัน ลดปริมาณแบคทีเรีย และลดรอยแดง ควรใช้สำหรับกรณีที่เป็นสิวอุดตันในระดับรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาในรูปแบบอื่น ๆ
การรักษาสิวอุดตันโดยไม่ใช้ยา
- การกดสิว หรือฉีดสิว เป็นการนำหัวสิวออกโดยใช้อุปกรณ์ที่กดสิวขนาดเล็ก
- การผลัดเซลล์ผิวหนัง โดยการใช้สารละลายเคมีทาหน้าเพื่อทำให้ผิวลอก และทำให้ร่างกายเร่งการผลิตเซลล์ผิวใหม่มาแทนที่
- การบำบัดด้วยโฟโตไดนามิค คือการบำบัดด้วยแสง เพื่อช่วยบรรเทาอาการของสิว หรือการอักเสบของสิวให้ดีขึ้น
วิธีป้องกันสิวอุดตัน
วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดสิวอุดตัน มีดังนี้
- ล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนกับผิว วันละ 2 ครั้ง และควรล้างหลังจากใบหน้ามีเหงื่อออกมาก
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารออกฤทธิ์กัดกร่อนทำให้ผิวแห้ง
- ไม่ควรขัดผิวแรง ๆ และควรใช้มือล้างหน้าแทนฟองน้ำ หรือผ้าเพื่อลดการระคายเคือง
- สระผมเป็นประจำ และรักษาความสะอาดหนังศีรษะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดสิวบริเวณไรผม หรือบนหนังศีรษะ
- ปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยการทาครีมกันแดดเป็นประจำ
- ผิวหน้าไม่ควรได้รับแรงเสียดสีมาก เพราะอาจส่งผลให้สิวขึ้นง่าย เช่น สวมใส่หมวกกันน็อคที่รัดแน่น คุยโทรศัพท์เป็นเวลานาน