การ รักษาสิวไม่มีหัว อาจทำได้ด้วยการทายาแต้มสิวที่มีส่วนผสมของสารช่วยลดแบคทีเรีย ลดการอุดตันของรูขุมขน และลดความมันบนผิวหนัง แต่หากสิวไม่ตอบสนองกับยาที่ใช้ คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฮอร์โมน หรือใช้วิธีอื่น ๆ ในการรักษา เช่น การบำบัดด้วยแสง การฉีดสเตียรอยด์ ตามความเหมาะสม ส่วนการป้องกันการเกิดสิวไม่มีหัวและสิวทั่วไป อาจทำได้ด้วยการรักษาความสะอาดของผิวหน้าและผิวกาย ทาครีมกันแดดเมื่อออกแดดเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการบีบหรือแกะสิวที่มีอยู่เดิม เพราะอาจทำให้สิวลุกลาม หายช้ากว่าที่ควร และเกิดรอยดำได้
[embed-health-tool-bmi]
สิวไม่มีหัวเกิดจากอะไร
สิวไม่มีหัว เป็นสิวที่ก่อตัวอยู่ใต้ผิวหนัง มักพบบนใบหน้า แผ่นหลังส่วนบน หรือหน้าอก เมื่อสัมผัสแล้วจะรู้สึกถึงตุ่มนูนที่ไม่มีหัวเปิด แต่บางครั้งก็อาจมีขนาดเล็กเกินกว่าจะรู้สึกได้ หากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนังแพร่เชื้อไปยังรูขุมขนที่เป็นสิวไม่มีหัว จนทำให้ผิวบริเวณนั้นอักเสบ ก็อาจทำให้เกิดเป็นเลือดคั่ง หนอง ก้อนเนื้อ หรือซีสต์ได้ด้วย
ผู้ที่เป็นสิวไม่มีหัวไม่ควรบีบสิวออกเอง เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ บวมแดง ผิวระคายเคือง สิวอาจแย่ลง หายช้ากว่าเดิม และอาจทิ้งรอยแผลเป็นที่กลายเป็นรอยดำได้ในภายหลัง
ปัจจัยเสี่ยงเกิดสิวไม่มีหัว อาจมีดังนี้
- ต่อมน้ำมันผลิตซีบัม (Sebum) ซึ่งเป็นน้ำมันที่ทำหน้าที่เคลือบผิวและปกป้องชั้นผิวออกมามากเกินไป จนส่งผลให้ผิวมัน เมื่อซีบัมส่วนเกินรวมกับ แบคทีเรีย และเซลล์ผิวที่ตายแล้ว อาจทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดเป็นสิวไม่มีหัว
- เชื้อแบคทีเรียบนผิวเจริญเติบโตมากเกินไปจนทำให้รูขุมขนอุดตัน เกิดเป็นสิวอักเสบไม่มีหัว ผิวหนังโดยรอบบวมแดงจนทำให้รู้สึกเจ็บและตึงผิวได้
- อยู่ในช่วงที่ร่างกายมีระดับแอนโดรเจน (Androgen) สูงขึ้น เช่น ช่วงวัยรุ่น ช่วงเป็นประจำเดือน ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจไปกระตุ้นให้ต่อมน้ำมันผลิตซีบัมมากขึ้น และรูขุมขนอุดตันจนเกิดสิวไม่มีหัว
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาอะนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic steroids) ยาเคมีบำบัด อาจกระตุ้นให้เกิดสิวไม่มีหัวได้
- หากสมาชิกในครอบครัวเช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง มีประวัติเป็นสิว อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดสิวไม่มีหัวมากกว่าคนทั่วไป
- ปัจจัยภายนอก เช่น มลภาวะ ฝุ่นควัน เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว รวมไปถึงผิวหนังถูกเสียดสีอย่างต่อเนื่องจากการใส่หน้ากากอนามัย การสวมหมวกกันน็อก อาจกระตุ้นให้เกิดสิวไม่มีหัวและทำให้สิวแย่ลงได้
รักษาสิวไม่มีหัว ทำอย่างไร
การรักษาสิวไม่มีหัว อาจทำได้ดังนี้
การใช้ยาทาเฉพาะที่
ด้วยการใช้ยาแต้มสิวที่มีขายทั่วไป ดังนี้
- เบนโซอิล เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เป็นยาที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทำให้สิวแห้ง และลดการอักเสบ มีทั้งชนิดเจลและชนิดครีม
- เรตินอยด์ (Retinoids) คือ อุนพันธ์ของกรดวิตามินเอ เช่น ยาเตรทติโนอิน (Tretinoin) ยาอะดาพาลีน (Adapalene) ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวและลดการผลิตไขมัน จึงอาจช่วยให้รูขุมขนอุดตันน้อยลง ทั้งยังลดอาการบวมและการอักเสบของสิวไม่มีหัว มีทั้งชนิดเจลและชนิดครีม
- ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) ที่ช่วยลดจำนวนแบคทีเรียบนผิวหนัง มีทั้งชนิดเจลและโลชั่น
การรับประทานยา
ใช้ในกรณีที่สิวไม่มีหัวไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาทา ยารักษาสิวชนิดรับประทาน มีดังนี้
- ยาปฏิชีวนะชนิดเม็ด ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยาคลินดามัยซิน ยาอีริโทรมัยซิน (Erythromycin) สามารถใช้ลดแบคทีเรียที่ผิวหนังได้
- การรักษาด้วยฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด อาจช่วยปรับฮอร์โมนให้สมดุลขึ้น ช่วยบรรเทาสิวไม่มีหัวที่ขึ้นเรื้อรังและรักษาไม่หาย ทั้งนี้ หากเป็นผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดอยู่แล้ว คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาฮอร์โมนชนิดอื่นแทน เช่น ยาสไปโรแลคโตน (Spirolactone) ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen Receptor Antagonists)
- ยาโค-ไซปรินดีอล (Co-cyprindiol) เป็นยาฮอร์โมนที่ใช้รักษาสิวรุนแรงและเรื้อรังในผู้หญิง ในผู้ที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้วไม่ได้ผล
การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
อาจมีดังนี้
- การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ ใช้ในการกำจัดสิวไม่มีหัวที่เป็นก้อนซีสต์หรือเป็นไตอยู่ใต้ผิวหนัง อาจช่วยเร่งการรักษาและลดความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็น
- การใช้สารเคมีผลัดเซลล์ผิว (Chemical Peel) เป็นการกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวใหม่ด้วยการขจัดเซลล์ผิวหนังชั้นบนสุดหรือหนังกำพร้า ช่วยลดความมันส่วนเกิน และลดการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งอาจช่วยให้จำนวนสิวไม่มีหัวน้อยลง
- การรักษาด้วยแสง (Light therapy) เช่น การบำบัดด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) โดยเฉพาะแสงสีฟ้า อาจช่วยรักษาสิวและลดจำนวนแบคทีเรีย ทั้งยังทำให้ต่อมน้ำมันหดตัวและไม่ผลิตซีบัมมากเกินไป จึงอาจลดปัญหารูขุมขนอุดตันและเกิดสิวได้
วิธีป้องกันการเกิดสิวไม่มีหัว
วิธีป้องกันการเกิดสิวไม่มีหัว อาจทำได้ดังนี้
- ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการอาบน้ำ หรือหลังทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายแล้วเหงื่อออก
- ควรทำความสะอาดผิวหน้าอย่างอ่อนโยน เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ พาราเบน หรือน้ำหอมที่อาจระคายเคืองผิวหรือทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน หลังล้างหน้าควรซับหน้าเบา ๆ ด้วยกระดาษเช็ดหน้าหรือผ้าขนหนูสะอาด หลีกเลี่ยงการเช็ดถูผิวหนังแรง ๆ เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง
- ทาครีมกันแดดที่ไม่ทำให้เกิดสิวและที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป ก่อนออกแดดอย่างน้อย 15-30 นาที และทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง และอาจทาบ่อยขึ้นหากทำกิจกรรมทางน้ำหรือกิจกรรมที่มีเหงื่อออก เมื่อหมดวันควรล้างหน้าให้สะอาด เพื่อขจัดคราบเครื่องสำอางและครีมกันแดดทุกครั้งก่อนนอน
- หากเกิดสิวบนผิวหนัง ควรหลีกเลี่ยงการแกะเกา หรือบีบสิวด้วยตัวเอง โดยเฉพาะสิวไม่มีหัว เพราะอาจทำให้ผิวหนังอักเสบ ระคายเคือง บวมหรือแดง สิวอาจแย่ลง หายช้ากว่าที่ควร และเสี่ยงเกิดแผลเป็นหรือรอยดำได้