backup og meta

วิธีลดรอยแดงจากสิว มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    วิธีลดรอยแดงจากสิว มีอะไรบ้าง

    วิธีลดรอยแดงจากสิว คือการทำให้รอยแดงซึ่งเกิดจากสิวลดลง รวมไปถึงรอยต่าง ๆ บนผิวหนังซึ่งเกิดจากความผิดปกติของผิวหนังระหว่างการฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเองจากสิว ปัจจุบันนี้มีหลายวิธี อาทิ การใช้เลเซอร์ การกรอผิว ควรศึกษาถึงสาเหตุของการเกิดรอยแดงจากสิว และวิธีรักษาที่เหมาะกับสภาพผิวของตน เพื่อให้ผิวกลับมาเรียบเนียนใสดังเดิม

    สาเหตุของการเกิดรอยแดงจากสิว

    โดยปกติหากผิวหนังเกิดบาดเจ็บหรืออักเสบ ร่างกายจะมีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเอง โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือการอักเสบ การสร้างเนื้อเยื่อ และการสมานแผล

    รอยแดงจากสิว เกิดจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวมากเกินไปจนเปราะหรือแตกสร้างความระคายเคืองหรืออักเสบจนผิวมีรอยแดง มักเกิดจากสิวประเภทสิวหัวช้าง หรือสิวฮอร์โมน พบมากในผู้ที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หรือมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายอย่างรวดเร็ว จนไปกระตุ้นให้เกิดสิว

    นอกจากนี้ การบีบหรือกดสิว รวมทั้งการเช็ดหน้าแรง ๆ หรือล้างหน้าบ่อย ๆ ยังมีส่วนให้เกิดรอยแดงจากสิวง่ายขึ้นด้วย

    แม้ว่ารอยแดงจากสิวไม่เป็นอันตราย แต่ใบหน้าอาจมีรอยแดงเป็นเวลาหลายเดือน หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจ เสียบุคลิกได้

    ข้อแตกต่างระหว่างรอยแดงจากสิวกับจุดด่างดำ

    รอยแดงจากสิวเกิดจากการขยายตัวหรืออักเสบของเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังจนแตกหรือหัก เป็นผลจากสิวอักเสบหรือสิวหัวช้าง และมักเห็นได้ชัดในคนผิวสีอ่อนมากกว่าผิวสีเข้ม ส่วนรอยดำหรือจุดด่างดำ คือภาวะไฮเปอร์พิกเมนเทชัน (Hyperpigmentation) หรือการสร้างเม็ดสีซึ่งมากเกินไประหว่างการฟื้นฟูผิวหนังตามธรรมชาติ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีผิวสีเข้มกว่าส่วนอื่น หรือเป็นรอยสีน้ำตาล มักเกิดในคนที่มีผิวคล้ำมากกว่าคนผิวสีอ่อน

    วิธีลดรอยแดงจากสิว

    การลดรอยแดงจากสิว สามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    เลเซอร์

    คือ การใช้เลเซอร์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อผลัดเปลี่ยนชั้นผิวหนัง โดยการกระตุ้นชั้นหนังแท้ให้สร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ทำให้รอยแดงหายไป ทั้งนี้ การรักษาด้วยเลเซอร์ใช้เวลาราว 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง และจะเห็นผลหลังการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือจนกว่าผิวหนังส่วนที่ถูกเลเซอร์จะฟื้นฟูตัวเองสมบูรณ์

    การรักษาด้วยเลเซอร์แบ่งเป็น 2 แบบ คือ เลเซอร์ที่ทำให้ผิวหนังลอก (Ablative Laser) เป็นการใช้เลเซอร์ลอกผิวหน้าและกระตุ้นให้เกิดการสร้างชั้นผิวใหม่ที่เรียบเนียนยิ่งขึ้น หลังทำจะมีแผลถลอกหรือบวมแดงได้ ใช้เวลาสมานแผลประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่หลังจากนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างชัดเจนคือผิวหน้าดีขึ้น กับ เลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดแผล (Non-ablative Laser) ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนเพียงอย่างเดียว และไม่ทำให้เกิดรอยแผลบนใบหน้าหลังการรักษา แต่อาจใช้เวลาค่อนข้างนานและต้องทำหลายครั้งกว่าจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

    ทั้งนี้ หลังรักษาแล้วควรทาครีมกันแดดสม่ำเสมอเมื่อต้องเผชิญกับแสงแดด เนื่องจากผิวหนังที่เพิ่งผ่านการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว หรืออยู่ในช่วงฟื้นฟูตัวเอง จะค่อนข้างบอบบางและเสียหายจากแสงแดดง่ายกว่าปกติ และยังเสี่ยงอักเสบหรือเกิดรอยแดงจากแดดได้ง่ายกว่าด้วย

    กรอผิว

    คือการกรอชั้นผิวหนังกำพร้าของใบหน้าออก ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อซ่อมแซมผิวหนังโดยเฉพาะ วิธีนี้จะกระตุ้นให้ผิวหนังฟื้นฟูกลับขึ้นมาใหม่ รอยแดงหายไปและผิวเรียบเนียนชึ้น อย่างไรก็ตาม การกรอผิวต้องทำต่อเนื่องกันหลายครั้ง นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดผลข้างเคียงหลังการกรอผิวคือ รูขุมขนกว้างขึ้น ผิวอาจบอบบาง ไม่ทนต่อแสงแดด ไม่สามารถเผชิญแสงแดดได้เป็นเวลานาน รวมทั้งอาจทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอ

    รับประทานวิตามินซี

    เนื่องจากเป็นสารอาหารสำคัญต่อการสร้างคอลลาเจนและโปรตีนเพื่อช่วยในการฟื้นฟูและซ่อมแซมผิวหนัง การรับประทานวิตามินซี ไม่ว่าจากอาหารในแต่ละมื้อ หรือในรูปแบบอาหารเสริม มีส่วนช่วยให้ผิวหนังฟื้นฟูตัวเองได้ ทั้งช่วยลดการอักเสบและรอยแดง แต่หากรับประทานวิตามินซีมากเกินไปอาจทำให้เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือเสียดท้องได้

    รับประทานไนอะซินาไมด์ (Niacinamide)

    หรือวิตามินบี ซึ่งพบได้ในอาหาร เช่น ไข่ ผักใบเขียว ปลา นม อกไก่ แซลมอนไนอะซินาไมด์ มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง เพิ่มความชุ่มชื้น จึงอาจมีส่วนช่วยลดรอยแดงจากสิวได้ รวมถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของไนอะซินาไมด์อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในวิธีลดรอยแดงจากสิว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา