backup og meta

สิวที่ตูด สาเหตุ การรักษาและวิธีป้องกัน

สิวที่ตูด สาเหตุ การรักษาและวิธีป้องกัน

สิวที่ตูด หรือ สิวที่ก้น อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลให้รูขุมขนบริเวณทวารหนักอักเสบ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือการดูแลสุขอนามัยไม่ดี ส่งผลให้รูขุมขนอุดตัน และเกิดสิวที่ตูดขึ้น ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่าสิวมีขนาดใหญ่ จนทำให้รู้สึกไม่สบายตัวหรือเคลื่อนไหวลำบาก ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

[embed-health-tool-heart-rate]

สาเหตุของสิวที่ตูด

สาเหตุของสิวที่ตูด อาจมีดังนี้

  • รูขุมขนอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) หรือซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas Aeruginosa) หรืออาจเกิดจากการสวมกางเกงชั้นในและกางเกงรัดรูป ทำให้ผิวหนังบริเวณก้นถูกเสียดสี รวมถึงการมีเหงื่อออกมากที่ส่งผลให้รูขุมขนระคายเคืองและอักเสบ จนเกิดสิวที่ตูด
  • การดูแลสุขอนามัยไม่ดี การทำความสะอาดก้นไม่สะอาด อาจทำให้คราบ ขี้ไคล เซลล์ผิวหนังเก่า สิ่งสกปรก และเชื้อแบคทีเรียสะสมในบริเวณก้น ซึ่งอาจส่งผลให้รูขุมขนอุดตันนอกจากนี้ การเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีสารเคมีรุนแรง อาจทำให้ผิวและรูขุมขนระคายเคือง จนส่งผลให้เกิดสิวที่ตูดหรืออาจทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลงได้
  • ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เกิดจากฮอร์โมนเพศแอนโดรเจนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ทำให้ต่อมไขมันขยายและกระตุ้นการผลิตไขมันมากขึ้น ที่อาจนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขน จนก่อให้เกิด สิวที่ก้น
  • ขนคุด คือ เส้นขนที่อยู่ใต้ผิวหนัง ไม่สามารถโผล่พ้นผิวหนังได้ตามปกติ มีลักษณะม้วนงอ ส่งผลให้เกิดเป็นตุ่มนูนที่ตูด หากขนคุดเกิดการติดเชื้อหรืออักเสบ อาจเกิดเป็นตุ่มแดง หรือตุ่มหนองคล้ายสิว

การรักษา สิวที่ตูด

การรักษา สิวที่ก้น อาจทำได้ดังนี้

  • เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เป็นยาปฏิชีวนะที่มีในรูปแบบครีม เจล และสบู่ ใช้เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและลดการอักเสบของรูขุมขน เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวไม่รุนแรงจนถึงระดับปานกลาง โดยทาบริเวณที่เป็นสิววันละ 1-2 ครั้ง และควรเริ่มจากปริมาณน้อย เพื่อทดสอบว่ามีอาการแพ้ยาหรือไม่ ก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาขึ้นตามคำแนะนำของคุณหมอ
  • ยาเรตินอยด์ คือ ยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) ทาซาโรทีน (Tazarotene) ที่มีในรูปแบบครีม เจล และโลชั่น ใช้เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน ในช่วงแรกควรทายาเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จนกว่าผิวจะชินกับยา แล้วจึงปรับเป็นทาทุกวันสม่ำเสมอ
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เช่น กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียและป้องกันรูขุมขนอุดตัน โดยทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 1-2 ครั้ง ยานี้อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ผิวแดง ระคายเคือง สำหรับสตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยต่อทารก อาจใช้เป็นกรดซาลิไซลิกตามใบสั่งแพทย์ เช่น อะซีเล็กซ์ (Azelex) และไฟนาเซีย (Finacea)
  • ยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทาน เช่น ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) เตตราไซคลีน (Tetracycline) แมคโครไลด์ (Macrolide) เป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง ใช้เพื่อช่วยชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ควรใช้ร่วมกับยาทา เช่น เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์อย่างไรก็ตาม สตรีตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงยาเตตราไซคลีน เนื่องจากอาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • การฉีดสเตียรอยด์ คุณหมออาจฉีดยาสเตียรอยด์เข้าสู่สิวโดยตรง เพื่อลดความเจ็บปวดของสิวที่ตูด แต่อาจทำให้ผิวบางและสีผิวเปลี่ยนแปลงได้
  • การเจาะสิว เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวที่ตูดประเภทตุ่มหนอง หรือฝี เพื่อทำการระบายหนองออก อย่างไรก็ตาม วิธีรักษานี้อาจก่อให้เกิดแผลเป็นได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นสิวซีสต์ขนาดใหญ่

วิธีป้องกัน สิวที่ตูด

วิธีป้องกันสิวที่ตูด อาจทำได้ ดังนี้

  • อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณก้นที่อาจมีการสะสมของเหงื่อ แบคทีเรีย และสิ่งสกปรก เพื่อลดการระคายเคืองของรูขุมขน
  • หลีกเลี่ยงการสวมกางเกงรัดรูปและควรเลือกกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย เพื่อระบายอากาศได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการขัดผิว เพราะอาจทำให้รูขุมขนระคายเคือง จนเกิดการอักเสบ และเสี่ยงต่อการเกิดสิวที่ตูด ควรเลือกใช้ครีมอาบน้ำ หรือโลชั่นทาผิวที่มีส่วนประกอบของกรดอัลฟ่าไฮดรอกซี (AHA) ที่อาจช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าออกแทน โดยไม่ทำให้รูขุมขนเกิดการระคายเคือง
  • หลังจากขับถ่ายหรือปัสสาวะ ควรล้างก้นให้สะอาดและใช้กระดาษชำระซับให้แห้ง เพื่อลดความอับชื้นที่อาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย จนเกิดการติดเชื้อในรูขุมขนและส่งผลให้เกิดสิวที่ตูดได้

อาการสิวที่ตูดที่ควรไปพบคุณหมอ

ควรเข้าพบคุณหมอทันทีหากสังเกตว่าสิวที่ตูดมีขนาดใหญ่ มีอาการเจ็บปวดเมื่อเสียดสีกับกางเกงชั้นใน หรือขณะเคลื่อนไหว เพราะอาจเป็นไปได้ว่ากำลังเสี่ยงเป็นสิวระดับรุนแรง เช่น สิวซีสต์ ฝี นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อยารักษาสิว ควรขอคำปรึกษาคุณหมออีกครั้ง เพื่อวินิจฉัยและปรับเปลี่ยนยาชนิดใหม่ หรืออาจจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การเจาะสิว การฉีดสิว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/symptoms-causes/syc-20368047.Accessed August 02, 2022. 

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/diagnosis-treatment/drc-20368048.Accessed August 02, 2022. 

Acne. https://www.nhs.uk/conditions/acne/.Accessed August 02, 2022. 

Understanding Acne Treatment. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/understanding-acne-treatment.Accessed August 02, 2022. 

HOW TO TREAT DIFFERENT TYPES OF ACNE. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/ACNE/DIY/TYPES-BREAKOUTS.Accessed August 02, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ครีมลดรอยสิว เลือกอย่างไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี

เป็นสิวที่คาง สาเหตุ วิธีรักษา และการป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา