backup og meta

หลุมสิว สาเหตุและทางเลือกในการรักษา

หลุมสิว สาเหตุและทางเลือกในการรักษา

หลุมสิว คือแผลเป็นจากสิวบนใบหน้าซึ่งมีลักษณะเป็นรอยบุ๋มหรือผิวหนังยุบลงไป ทำให้ผิวหน้าดูขรุขระไม่เรียบเนียน สาเหตุการเกิดหลุมสิวมีหลายอย่าง เช่น การบีบสิว การกดสิว การอักเสบของสิว อย่างไรก็ตาม การรักษาหลุมสิวนั้นมีหลายวิธี อาทิ การใช้สารเคมี ลูกกลิ้งนวดหน้า เลเซอร์ การผ่าตัด ควรศึกษาวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้ผิวกลับมาเรียบเนียน และป้องกันการเกิดหลุมสิวซ้ำอีก

คำจำกัดความ

หลุมสิว คืออะไร

หลุมสิวคือรอยแผลเป็นจากสิวแบบหนึ่ง เกิดจากการสมานตัวที่ไม่สมบูรณ์ของผิวหนังหลังเกิดสิว ทำให้เกิดเป็นรอยบุ๋มบนใบหน้า ลักษณะของหลุมสิวแบ่งได้ดังนี้

  • Ice Pick Scar มีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ ค่อนข้างลึก คล้ายถูกเจาะด้วยที่เซาะน้ำแข็ง (ice pick) เกิดจากการประทุของสิวที่ลึกลงไปใต้ผิวหนัง แล้วร่างกายพยายามซ่อมแซมด้วยการผลิตคอลลาเจนขึ้นมา แต่อาจมีปริมาณน้อยเกินไปจึงทำให้หลุมสิวยังคงอยู่ หลุมสิวแบบนี้มักเกิดบริเวณโหนกแก้มหรือหน้าผาก สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะพบในวัยรุ่น
  • Boxcar Scar เป็นหลุมสิวซึ่งมีลักษณะค่อนขว้างกว้างและลึก บางครั้งมีสีแดงหรือน้ำตาล มักพบบริเวณแก้มส่วนล่าง คาง และขากรรไกร สาเหตุการเกิดหลุมสิวชนิดนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด อาจเกิดจากการที่ผิวหนังพยายามฟื้นตัวจากสิวแต่ไม่สามารถกลับไปยังสภาพเดิมก่อนเป็นสิวได้ หรืออาจเกิดจากสิวหัวช้าง
  • Rolling Scar เกิดจากการยุบตัวของผิวหนังเนื่องจากสิวอักเสบ หลุมสิวจะมีลักษณะกว้างแต่ตื้นมักเกิดบริเวณแก้มส่วนล่าง คาง และขากรรไกร

สาเหตุ

สาเหตุของหลุมสิว

โดยปกติเมื่อเป็นสิว ผิวหนังจะสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผิวหนังขึ้นมาเพื่อสมานแผลจากสิว ทำให้ผิวกลับมาเรียบเนียนเหมือนเดิม แต่หากเป็นสิวหัวช้าง หรือสิวอักเสบขั้นรุนแรง รวมทั้งการกดหรือบีบสิว ร่างกายอาจสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนได้ไม่เพียงพอที่จะทดแทนผิวหนังส่วนที่เสียหายจากสิว ทำให้การสมานแผลไม่สมบูรณ์ และเกิดเป็นหลุมสิวขึ้น

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยหลุมสิว

เมื่อไปถึงสถานพยาบาล คุณหมอผิวหนังจะตรวจดูแผลเป็นของคนไข้ และตัดสินใจว่าเป็นหลุมสิวแบบไหน และควรใช้วิธีการใดในการรักษา เนื่องจากสภาพผิวหน้าและลักษณะของหลุมสิวที่แตกต่างกัน ทำให้คนไข้แต่ละรายจะได้รับการรักษาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การรักษาหลุมสิวอาจไม่เห็นผลทันที และต้องใช้เวลาเป็นเดือน หรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับความลึกและความรุนแรงของหลุมสิว

การรักษาหลุมสิว

หลุมสิวสามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้

  • ใช้เลเซอร์ เป็นการใช้เลเซอร์ทำลายชั้นหนังกำพร้าของใบหน้า และขณะเดียวกันกระตุ้นให้ชั้นหนังแท้สร้างคอลลาเจนขึ้นมาซ่อมแซมใบหน้าในส่วนที่เสียหาย ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้เกิดรอยแดง หรืออาการคันยิบ ๆ บนใบหน้า หรืออาจเป็นสะเก็ดหลังการรักษา แต่นับว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลดี
  • ลอกผิวด้วยกรด เป็นการใช้สารเคมีทาลงบนใบหน้าของคนไข้ ทั้งทาบาง ๆ บนผิวหน้า หรืออาจจะทาให้หนาขึ้น รวมทั้งทาเพื่อให้ซึมลึกลงไปบนชั้นผิว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และลักษณะของหลุมสิว แต่โดยปกติแพทย์มักแนะนำให้ทาบาง ๆ วิธีนี้ใช้เพื่อกระตุ้นให้ผิวหน้าลอก และเกิดการสร้างผิวหนังขึ้นมาใหม่ซึ่งมักแข็งแรงกว่าผิวหนังที่ลอกออกไป และทำให้ใบหน้าเรียบเนียนกว่าเดิม
  • กรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี คือการกรอชั้นผิวหนังกำพร้าบนใบหน้าออก ด้วยเครื่องมือกรอผิว เพื่อเผยให้เห็นชั้นผิวหนังชั้นถัดมาที่เรียบหรือเนียนกว่า วิธีนี้อาจทำให้รู้สึกเจ็บ ใบหน้าแดง และทำให้ผิวหนังบอบบางไม่ทนต่อแสงแดด
  • การใช้ลูกกลิ้งนวดหน้า เพื่อให้เกิดรอยแผลขนาดเล็กบนใบหน้า จากเข็มเล็ก ๆ ของลูกกลิ้ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนบนใบหน้า ทำให้รอยหลุมสิวตื้นขึ้น
  • การผ่าตัด ทำได้หลายวิธี เช่น การตัดรอยหลุมสิวออกแล้วเย็บแผลติดกัน เหมาะสำหรับหลุมสิวขนาดเล็ก จำนวนไม่มาก การปิดหลุมสิวโดยใช้เนื้อเยื่อจากบริเวณอื่น การผ่าตัดยกหลุมสิวขึ้น (Punch Elevation) การรักษาด้วยการผ่าตัดมักเหมาะกับหลุมสิวขนาดไม่เกิน 3 มิลลิเมตร
  • ฉีดฟิลเลอร์ หมายถึง การฉีดคอลลาเจน ไขมัน และสารอื่น ๆ เข้าใต้ผิวหนัง เพื่อเติมเต็มบริเวณที่เป็นหลุม อาจทำร่วมกับการตัดผังผืด
  • การกระชับผิว โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ  ทำให้หน้าเต่งตึง เรียบเนียน วิธีนี้จะไม่ทำให้ผิวหนังลอก

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดหลุมสิว

วิธีเบื้องต้นเพื่อป้องกันการเกิดหลุมสิว อาจเริ่มต้นด้วยการดูแลตัวเองไม่ให้เป็นสิวอันเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยอาจปฏิบัติตัว ดังนี้

  • ดูแลหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยการล้างหน้าด้วยน้ำอุ่น และอาจใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใบหน้าที่อ่อนโยนไม่ระคายเคืองต่อผิวและเหมาะกับสภาพผิวร่วมด้วย นอกจากนี้ ในกรณีล้างหน้าด้วยสบู่ ควรหลีกเลี่ยงสบู่ซึ่งมีฤทธิ์แรง เพราะอาจทำให้ผิวหน้าแสบหรืออักเสบได้
  • ค่อย ๆ เช็ดหน้า อย่าถูหน้าแรง ๆ โดยเฉพาะหลังจากล้างหน้า ควรซับด้วยผ้าเนื้อเนียนนุ่ม เพื่อไม่ให้ผิวหน้าระคายเคือง
  • เลือกใช้เวชสำอาง หรือเครื่องสำอางที่ช่วยลดการเกิดสิว เช่น เครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน หรือเครื่องสำอางที่ฉลากเขียนว่า “Non-Comedogenic” ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้เกิดภาวะรูขุมขนอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
  • ป้องกันตัวเองจากแสงแดด อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิวและอาการระคายเคืองบนใบหน้า โดยอาจเลือกออกนอกบ้านในเวลาที่แสงแดดไม่จัดเกินไป หรือใช้ครีมกันแดดเมื่อต้องออกนอกบ้าน ควรเลือกครีมกันแดดประเภทเวชสำอาง หรือมีฉลาก “Non-Comedogenic”
  • ไม่กดหรือบีบสิว ในกรณีเป็นสิว การกดหรือบีบจะทำให้สิวอักเสบจะทำให้การอักเสบขวางวงกว้างขึ้น จนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลุมสิวบนใบหน้า อาจใช้ยาแต้มหรือปล่อยให้สิวยุบเอง หากสิวอักเสบขั้นรุนแรงควรปรึกษาคุณหมอผิวหนังเฉพาะทาง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chemical peel. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/chemical-peel/about/pac-20393473#:~:text=A%20chemical%20peel%20is%20a,to%20get%20the%20desired%20results. Accessed February 11, 2022

Laser resurfacing. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/laser-resurfacing/about/pac-20385114#:~:text=Laser%20resurfacing%20is%20a%20facial,Ablative%20laser. Accessed February 11, 2022

Acne Scars. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/guide-to-treating-acne-scars-and-skin-damage. Accessed February 11, 2022

10 Tips for Preventing Acne. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/10-tips-for-preventing-pimples#:~:text=Keep%20your%20face%20clean.&text=Use%20warm%2C%20not%20hot%2C%20water,a%20coarse%2Dtextured%20sponge). Accessed February 11, 2022

Acne scars: What’s the best treatment?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/expert-answers/acne-scars/faq-20058101. Accessed February 11, 2022

ลูกกลิ้งนวดหน้า (Skin Needling) ปลอดภัย จริงหรือ. https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_printing/1298#:~:text=%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%20(Skin%20Needling)%20%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%20Micro%2DNeedling%20%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD,%E0%B8%8B%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%8B%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87%20%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3. Accessed February 11, 2022

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/06/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

สิวอุดตัน สาเหตุ ประเภท การรักษา และการป้องกัน

รูขุมขนอุดตัน สาเหตุที่ก่อให้เกิดสิว


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา