backup og meta

เท้าลอก เกิดจากอะไร มีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง

เท้าลอก เกิดจากอะไร มีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง

เท้าลอก เกิดจากหนังกำพร้าบริเวณเท้าเป็นขุยหรือหลุดลอกออกซึ่งพบได้ทั่วไปและมักไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในเบื้องต้น หากเท้าลอก สามารถดูแลตัวเองได้ง่าย ๆ เช่น รักษาความสะอาดของเท้า เลือกสวมรองเท้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรค เช่น น้ำกัดเท้า อย่างไรก็ตาม เท้าลอกอาจเป็นอาการของโรคผิวหนังอักเสบบางชนิด อาทิ โรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ควรสังเกตตัวเอง หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับสาเหตุ และควรไปหาคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

[embed-health-tool-bmr]

เท้าลอก เกิดจาก อะไร

โดยปกติอาการเท้าลอกไม่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ มักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

1. ผิวแห้ง

ผิวแห้งเป็นลักษณะโดยทั่วไปของผิวหนังที่ขาดความชุ่มชื้น ซึ่งมักพบในฤดูหนาวหรือช่วงที่อากาศแห้ง หรือเมื่อร่างกายขาดน้ำมาก ๆ

ผิวแห้งอาจเกิดกับร่างกายส่วนใดก็ได้ เช่น ใบหน้า มือ หน้าอกรวมถึงเท้า ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังบริเวณเท้าเป็นสีขาว รวมทั้งมีอาการเท้าลอก เท้าแตก เท้าเป็นขุย และบางครั้งอาจมีอาการคันร่วมด้วย

แม้ผิวแห้งจะไม่เป็นอันตราย แต่หากผิวบริเวณนั้นแตกหรือมีการหลุดลอกออกเป็นแผ่น อาจเกิดเป็นแผลและเพิ่มความเสี่ยงให้เชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น จึงควรสังเกตบริเวณที่ผิวแห้งอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ผิวแห้งยังเป็นอาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ ที่ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ของโรคร่วมด้วย

การรักษาผิวแห้ง

หากผิวแห้งจนทำให้เท้าลอก สามารถดูแลตนเองและรักษาในเบื้องต้นได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ทาเท้าบริเวณที่ลอกด้วยมอยเจอร์ไรเซอร์ หรือผลิตภัณฑ์สำหรับเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ใช้ได้ทั้งรูปแบบของครีม โลชั่น เจล หรือน้ำมัน ซึ่งจะช่วยให้ผิวหนังกลับมาอ่อนนุ่ม ลดอาการเป็นขุย แตก และลอก แต่อาจต้องใช้เวลาและทาเป็นประจำสม่ำเสมอเพื่อป้องกันผิวแห้งโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว
  • ทายาลดการอักเสบ อาทิ สเตียรอยด์ (Steroid) แบบครีม ซึ่งช่วยลดการอักเสบของผิวหนังที่แห้ง แดง ลอก ทั้งนี้ ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

2. โรคน้ำกัดเท้า

โรคน้ำกัดเท้า เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของเท้าลอก เกิดจากการที่ผิวหนังบริเวณเท้าติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) เนื่องจากการสวมใส่รองเท้านานเกินไปหรือรัดแน่นเกินไปจนทำให้เกิดความอับชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เชื้อราเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นมากจนทำให้ผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อเกิดอาการคัน ลอก อักเสบ

ทั้งนี้ โรคน้ำกัดเท้า อาจเกิดได้จากการใช้สิ่งของที่มีเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟตอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่น อาทิ พรม เสื้อผ้า เสื่อ รองเท้า

อาการของโรคน้ำกัดเท้า นอกจากจะทำให้เท้าลอก ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • เท้าอักเสบ เป็นสีแดงหรือม่วง
  • เท้ามีแผลพุพอง
  • ผิวบริเวณหลังเท้าแห้ง เป็นขุย หรือปริแตก
  • คันเท้า โดยเฉพาะเมื่อถอดรองเท้าหรือถุงเท้าออก

การรักษาโรคน้ำกัดเท้า

โรคน้ำกัดเท้า รักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อราทาบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) อีโคนาโซล (Econazole) ในรูปของครีมหรือยาทา ซึ่งการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การสั่งยาโดยคุณหมอ

ในกรณีอาการติดเชื้อรุนแรง คุณหมออาจให้คนไข้รับประทานยาต้านเชื้อราร่วมด้วย เช่น ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine)

3. โรคผิวหนังอักเสบ

โรคผิวหนังอักเสบ หมายถึง ภาวะอักเสบของผิวหนังซึ่งทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นลอก แห้ง เป็นแผลพุพอง มีอาการคัน เป็นผื่นแดง รูขุมขนบวม โดยอาจเกิดบริเวณเท้า จนทำให้เท้าลอก ซึ่งโรคผิวหนังอักเสบเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • การสัมผัสกับสิ่งของหรือสารเคมีบางชนิดซึ่งทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองหรืออาจไปกระตุ้นอาการแพ้เนื่องจากภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น พืชบางชนิด น้ำหอม เครื่องสำอาง เครื่องประดับ
  • การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิด
  • การบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน จนทำให้ผิวหนังบอบบาง ติดเชื้อหรืออักเสบได้ง่ายกว่าปกติ

โรคผิวหนังอักเสบมีหลายชนิด เช่น โรคผื่นแพ้สัมผัส โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

วิธีการรักษาผิวหนังอักเสบ

ผิวหนังอักเสบรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ทั้งนี้ วิธีการรักษาหลัก ๆ ที่คุณหมอเลือกใช้ ได้แก่

  • การใช้ยาทา เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดอาการอักเสบ บวมแดง
  • การรับประทานยา ในกรณีของผิวหนังอักเสบที่เกิดจากผื่นแพ้สัมผัส คุณหมอจะให้คนไข้รับประทานยาแก้แพ้ เพื่อลดอาการคัน
  • การทำแผลชนิดเปียก ในกรณีของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังขั้นรุนแรงจนเกิดแผลร่วมด้วย คุณหมอจะให้ทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ผิวหนังบริเวณที่อักเสบ แดง คัน แล้วใช้ผ้าพันแผลพันบริเวณที่เป็นแผล ทั้งนี้ ความเย็นของผ้าพันแผลแบบเปียกช่วยลดอาการคันหรืออักเสบของผิวหนังบริเวณที่พบอาการผิดปกติ และทำให้แผลหายเร็วขึ้  

4. โรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม แต่ไม่ใช่โรคติดต่อ สาเหตุยังไม่แน่ชัด แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่าเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและตกสะเก็ดเป็นสีเงินหรือเหลือง และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปื้นแดง คัน ผิวลอก ซึ่งส่งผลให้เท้าลอกได้ด้วย

โดยอาการของโรคสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ทั้งนี้ ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยสะเก็ดเงินมักพบอาการของโรคที่ศีรษะก่อนจะกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เป็นการดูแลอาการเพื่อชะลอหรือหยุดการเพิ่มจำนวนของเซลล์ผิวหนัง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ

  • ใช้ยาทาเพื่อลดอาการอักเสบและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง เช่น เรตินอยด์ (Retinoid) แอนทราลิน (Anthralin)หรือใช้ยาทาที่ช่วยให้ผิวหนังที่ตกสะเก็ดค่อย ๆ หลุดลอกออกหรือลดอาการเป็นขุย เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid)
  • รับประทานยา เช่น สเตียรอยด์ (Steroid) เมโธเทรกเซท (Methotrexate) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine)
  • การส่องไฟ (Phototherapy) หรือฉายรังสีอัลตราไวโอเลตลงบนผิวหนังเพื่อลดการอักเสบและการขยายตัวของผิวหนังที่ผิวปกติ

การดูแลตัวเองเมื่อ เท้าลอก

เมื่อพบอาการเท้าลอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคผิวหนังที่อักเสบ รุนแรง หรือติดเชื้อ สามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • รักษาความสะอาดของเท้า ด้วยการล้างเท้าด้วยสบู่ที่ไม่แรงจนเกินไป ล้างออกด้วยน้ำสะอาด และเช็ดเท้าให้แห้ง รวมทั้งคอยดูแลเท้าให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • เลือกสวมรองเท้าที่ไม่รัดแน่นเกินไป เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหนัง และลดความเสี่ยงเป็นโรคน้ำกัดเท้า จากความอับชื้นของรองเท้า
  • ทาครีมที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น เช่น มอยเจอร์ไรเซอร์ ซึ่งจะช่วยรักษาอาการผิวแห้ง แต่ในกรณีเป็นโรคผิวหนัง ควรทาครีมหรือขี้ผึ้งตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อรักษาโรคอันเป็นต้นเหตุของเท้าลอก
  • ไม่เกาผิวหนังที่คัน หากเท้าลอก อาจมีอาการคันร่วมด้วย ไม่ควรเกา เพราะจะให้ผิวหนังเปิดและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ
  • ดูแลไม่ให้ผิวแห้ง เพราะอาจทำให้เท้าลอกมากกว่าเดิม ด้วยการไม่อาบน้ำร้อน เผชิญหน้ากับแสงอาทิตย์เท่าที่จำเป็น หรือทาครีมกันแดดเมื่อต้องออกกลางแจ้ง และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง

หากพบอาการเท้าลอก ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เท้าแตก ผิวหนังปริแตก คันอย่างรุนแรง หรือผิวหนังบริเวณเท้ามีอาการบวมแดง หรืออักเสบ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้หรือรักษาด้วยตนเอง ควรไปหาคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกวิธีและตรงจุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Are the Symptoms of Athlete’s Foot?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/understanding-athletes-foot-symptoms. Accessed March 9, 2022

Athlete’s foot. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/athletes-foot/diagnosis-treatment/drc-20353847. Accessed March 9, 2022

Contact dermatitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/contact-dermatitis/diagnosis-treatment/drc-20352748. Accessed March 9, 2022

Dermatitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dermatitis-eczema/diagnosis-treatment/drc-20352386. Accessed March 9, 2022

Dry skin. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dry-skin/symptoms-causes/syc-20353885#:~:text=Dry%20skin%20is%20usually%20harmless,Infections. Accessed March 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคผิวหนัง ที่เกิดจาก เชื้อรา มีอะไรบ้าง และรักษาอย่างไร

บรรเทาอาการผิวแห้ง ด้วยวิธีธรรมชาติ ทำได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา