backup og meta

เลเซอร์แผลเป็น ผลข้างเคียง และวิธีดูแลผิวหลังเลเซอร์

เลเซอร์แผลเป็น ผลข้างเคียง และวิธีดูแลผิวหลังเลเซอร์

การ เลเซอร์แผลเป็น เป็นวิธีลดเลือนรอยแผลเป็นบนผิวหนังที่ได้รับความนิยม โดยทั่วไป การเลเซอร์แผลเป็นอาจต้องทำหลายครั้ง รอยแผลจึงจะจางลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ การเลเซอร์ไม่สามารถทำให้รอยแผลเป็นหายไปได้อย่างสมบูรณ์ แต่จะช่วยให้รอยดูจางลง และเรียบเนียนไปกับผิว และหลังการเลเซอร์ ควรดูแลผิวด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง งดใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจระคายเคืองผิว เพื่อป้องกันผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังติดเชื้อ

[embed-health-tool-heart-rate]

เลเซอร์แผลเป็น คืออะไร

การเลเซอร์แผลเป็น คือ การยิงแสงเลเซอร์ไปที่ผิวหนังบริเวณที่เป็นแผล บางกรณีอาจแค่ยิงเลเซอร์ไปที่ผิวหนังชั้นนอกสุด หรือบางกรณีอาจยิงเลเซอร์ลึกลงไปที่ชั้นผิวหนังลึกขึ้น เพื่อทำลายเนื้อเยื่อแผลเป็น แสงเลเซอร์จะช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน ช่วยให้ร่างกายสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ที่เรียบเนียนขึ้น และช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดสีผิวใหม่ หลังการรักษา รอยแผลเป็นจะดูจางลง ดูเรียบเนียนกับผิวหนังโดยรอบมากขึ้น และสังเกตได้ยากขึ้น

ประเภทของเลเซอร์ที่ใช้รักษาแผลเป็น

เลเซอร์รักษาแผลเป็นที่ใช้โดยทั่วไป มีดังนี้

  • เลเซอร์ที่ทำให้ผิวหนังชั้นนอกลอกออกทั้งหมด (Ablative or laser resurfacing)

คุณหมออาจให้ยาชาเฉพาะที่ก่อนการทำเลเซอร์เพื่อลดความเจ็บปวดขณะทำเลเซอร์ ก่อนจะยิงแสงเลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ หรือเลเซอร์ซีโอทู (Carbondioxide laser หรือ CO2 Laser) เพื่อลอกเซลล์ผิวชั้นบนที่เสียหายและให้ความร้อนกับผิวชั้นที่อยู่ลึกลงไป เพื่อช่วยให้ผิวเรียบเนียนขึ้น โดยทั่วไปอาจใช้เวลาในการสมานผิว 3-10 วัน เลเซอร์ประเภทนี้มีประสิทธิภาพในการลดเลือนแผลเป็นจากการบาดเจ็บ หลุมสิว และแผลเป็นจากการผ่าตัด โดยเฉพาะเมื่อยิงเลเซอร์ภายใน 6-10 สัปดาห์หลังการบาดเจ็บ และยิงทันทีหลังการผ่าตัด

  • เลเซอร์ที่ทำให้ผิวลอกเฉพาะส่วน (Fractionated laser resurfacing)

เป็นเลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพในการลดเลือนแผลเป็นที่เกิดจากสิว คุณหมอจะยิงเลเซอร์ผ่านผิวหนังชั้นนอกลงไปที่ผิวหนังชั้นหนังแท้ เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนทดแทนเซลล์ผิวที่ถูกทำลาย ซึ่งจะทำให้รอยแผลเป็นดูจางลง การรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดนี้จะไม่ทำให้เนื้อเยื่อชั้นบนเป็นแผล และใช้เวลาในการสมานผิวน้อยกว่าการเลเซอร์แบบที่ทำให้ผิวหนังชั้นนอกลอกออกทั้งหมด โดยทั่วไปอาจมีรอยคล้ำคล้ายแผลไหม้ประมาณ 2-3 วัน

  • เลเซอร์ที่ไม่ทำให้ผิวลอก (Non-ablative laser resurfacing)

คุณหมอจะยิงเลเซอร์ตรงเข้าไปที่ผิวชั้นใน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนบริเวณผิวชั้นใน มีส่วนช่วยปรับปรุงการสร้างเม็ดสีผิวและเพิ่มความยืดหยุ่นของผิว ช่วยลดความหนาของรอยแผลเป็น โดยไม่ทำให้ผิวชั้นนอกลอก ไม่ให้ทำเกิดแผลภายนอก และใช้เวลาสมานผิวน้อยกว่าเลเซอร์ประเภทที่ทำให้ผิวลอก เป็นเลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพในการลดเลือนแผลเป็นจากการผ่าตัด แผลเป็นนูน หลุมสิว แผลเป็นชนิดขาว แผลคีลอยด์ เป็นต้น โดยจะให้ผลลัพธ์แบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อทำซ้ำหลายครั้ง รอยแผลเป็นจะค่อย ๆ ดูจางลง

การเตรียมตัวก่อน เลเซอร์แผลเป็น

  • ควรงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนทำเลเซอร์ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดตีบตัน การสูบบุหรี่จึงอาจลดปริมาณออกซิเจนที่ส่งไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อของผิวหนัง จนทำให้ผิวหนังบริเวณที่ยิงเลเซอร์รักษาแผลเป็นสมานตัวได้ช้าลง
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการทำเลเซอร์
  • หยุดรับประทานวิตามินอี แอสไพริน รวมถึงยาและอาหารเสริมอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติขับเลือดซึ่งอาจทำให้ผิวต้องใช้เวลาสมานตัวหลังทำเลเซอร์นานขึ้น
  • หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีเรตินอยด์หรือกรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์

ผลข้างเคียงของการเลเซอร์แผลเป็น

ผลข้างเคียงของการเลเซอร์แผลเป็น อาจมีดังนี้

  • ผิวหนังระคายเคือง การทำเลเซอร์อาจทำให้ผิวหนังมีรอยแดง แสบร้อน บวม หรือคันได้ ทั้งนี้ การประคบเย็นอาจช่วยลดอาการดังกล่าวได้
  • การติดเชื้อ หากเป็นหรือเคยเป็นโรคเริมที่ริมฝีปาก ควรแจ้งให้คุณหมอทราบก่อนเข้ารับการเลเซอร์ เนื่องจากการทำเลเซอร์อาจทำให้อาการแย่ลงได้ โดยเฉพาะการทำเลเซอร์บริเวณรอบริมฝีปาก และคุณหมออาจต้องให้ยาต้านไวรัสก่อนและหลังเลเซอร์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่แฝงอยู่ในผิวหนัง
  • สิว การทำเลเซอร์รอยแผลเป็นอาจทำให้เกิดสิวข้าวสารหรือสิวหิน ซึ่งเป็นสิวขนาดเล็กที่อาจหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนหลังเลเซอร์ แต่หากสิวดังกล่าวไม่หายไปเอง อาจต้องทาครีมที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha hydroxy acid) หรือเรตินอยด์ (Retinoid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว หรือให้คุณหมอเลเซอร์หรือกดออก
  • จุดด่างดำ การทำเลเซอร์รอยแผลเป็นอาจทำให้ผิวมีรอยด่างดำได้ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดด หรือทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป เป็นประจำทุกวัน และควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อออกไปข้างนอก หรือทำกิจกรรมทางน้ำ หรือกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกง่าย

วิธีดูแลผิวหลัง เลเซอร์แผลเป็น

หลังเลเซอร์แผลเป็นควรดูแลผิวด้วยวิธีต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรงเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ เนื่องจากแสงแดดอาจทำให้เม็ดสีผิวเปลี่ยนแปลง และควรใช้ครีมกันแดดสูตรบอร์ดสเปกตรัม (Broad-spectrum) ที่ช่วยป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB
  • ประคบเย็นบริเวณผิวที่ทำเลเซอร์ด้วยเจลเย็นหรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด เพื่อลดอาการบวม
  • หากมีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวดที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป
  • ผู้ที่ทำเลเซอร์แผลเป็นบนใบหน้าควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้ผิวหน้าระคายเคือง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีกรดอัลฟาไฮดรอกซีหรือมีกรดเบต้าไฮดรอกซี และควรงดแต่งหน้าชั่วคราว
  • ไม่ควรให้ผิวโดนน้ำอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังทำเลเซอร์ชนิดลอกผิวหรือชนิดที่ทำให้ผิวมีแผล

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What to Know About Laser Scar Treatment. https://www.webmd.com/beauty/what-to-know-laser-scar-treatment. Accessed July 7, 2022

Cosmetic Procedures: Scars. https://www.webmd.com/beauty/cosmetic-procedures-scars. Accessed July 7, 2022

10 THINGS TO KNOW BEFORE HAVING LASER TREATMENT FOR YOUR SCAR. https://www.aad.org/public/cosmetic/scars-stretch-marks/laser-treatment-scar. Accessed July 7, 2022

Laser Revision Of Scars. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK539686/. Accessed July 7, 2022

Can Acne Scars Be Removed?. https://kidshealth.org/en/teens/acne-scars.html. Accessed July 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/10/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องน่ารู้ของ เลเซอร์กำจัดแผลเป็น เทคนิคลบรอยแผลให้แลดูจางลงอย่างรวดเร็ว

ลบรอยแผลเป็น และการดูแลผิวให้เนียนสวย ทำได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา