backup og meta

การติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง สาเหตุเกิดจากอะไร ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    การติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง สาเหตุเกิดจากอะไร ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

    ไวรัสเป็นเชื้อโรคขนาดเล็กที่สามารถอาศัยอยู่ได้ทุกที่ ทั้งในอากาศ สภาพแวดล้อม และร่างกายมนุษย์ การติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง จึงอาจเกิดขึ้นได้เมื่อไวรัสสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง โดยเฉพาะเมื่อผิวหนังมีบาดแผลเปิด หรือไวรัสมีจำนวนมาก แต่ไวรัสมีหลายชนิดจึงอาจมีลักษณะอาการและโรคที่เป็นอันตรายต่อผิวและสุขภาพที่แตกต่างกัน ควรได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป

    สาเหตุ การติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง

    ไวรัสเป็นเชื้อโรคขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ได้ทุกที่ ทั้งในอากาศ ในน้ำ สิ่งของ หรือร่างกายมนุษย์ การติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง อาจเกิดจากการที่ผิวหนังสัมผัสกับไวรัสในอากาศหรือสภาพแวดล้อม หรือการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโดยตรง การติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง อาจมีลักษณะและอาการของโรคที่แตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัส

    ประเภทของการติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง

    โรคและอาการที่พบได้บ่อยจากการติดเชื้อที่ไวรัสที่ผิวหนัง  ได้แก่

    • โรคเริม (Herpes simplex virus : HSV) HSV-1 ส่วนใหญ่มักทำให้เกิดแผลรอบปากและริมฝีปาก สามารถติดต่อผ่านทางสารคัดหลังในช่องปาก สำหรับ HSV-2 เริมที่อวัยวะเพศ สามารถติดต่อได้เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ
    • โรคหูดข้าวสุก เกิดจากเชื้อไวรัสมอลลัสคัม คอนตาจิโอซัม (Molluscum Contagiosum) ส่วนใหญ่พบในเด็ก และผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แพร่กระจายโดยการสัมผัสทางผิวหนัง มักมีอาการคัน ก้อนเนื้อขนาดเล็กในช่วงแรกซึ่งเป็นไตแข็งมักนุ่มลงเมื่อเวลาผ่านไป และอาจเปลี่ยนเป็นสีแดง ด้านในมักมีหนอง
    • โรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ส่วนใหญ่พบในเด็ก มีลักษณะเป็นผื่นผิวหนัง ตุ่มแดง ก่อให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง และคงอยู่ประมาณ 1-3 สัปดาห์ ก่อนตกสะเก็ดแล้วหายเป็นปกติ ในบางรายอาจมีรอยแผลเป็นบ้าง
    • โรคงูสวัด เกิดจากไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส อาจทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อน มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มสีแดงเล็ก ๆ ที่พัฒนาเป็นตุ่มพอง มีหนอง สร้างความเจ็บปวดบริเวณผิวหนัง
    • หูด เกิดจากไวรัสแปปิโลมา (Papilloma) สาเหตุสำคัญอาจเกิดจากปฏิกิริยาต้านทานโรคของผู้ป่วยอ่อนแอลง เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยและอาจหายได้เอง
    • โรคหัดและหัดเยอรมัน สามารถติดต่อผ่านทางละอองสารคัดหลั่งเมื่อผู้ติดเชื้อไอหรือจาม อาจมีไข้ และผื่นตามผิวหนัง โรคหัดมักมีอาการรุนแรงกว่าหัดเยอรมัน และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น โรคหูน้ำหนวก ปอดบวมจากแบคทีเรีย โรคไข้สมองอักเสบ
    • หัดดอกกุหลาบ (Roseola) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริม (Human herpes virus 6 : HHV-6) ส่วนใหญ่พบในทารกและเด็กวัยหัดเดิน เป็นโรคติดต่อที่ทำให้เกิดอาการไข้สูง หวัด และอาจมีผื่นที่กระเพาะอาหาร
    • โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากไวรัสคอกซากี เอ และบี (Coxsackievirus A, B) มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ บนฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในช่องปาก รวมถึงผิวหนังอักเสบ และมีไข้

    เชื้อไวรัสอาศัยอยู่ทุกที่ สามารถแพร่กระจายผ่านทางการสัมผัส หรือทางเดินหายใจและติดต่อได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหัด อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน โรคหูน้ำหนวก ปอดบวมจากแบคทีเรีย โรคไข้สมองอักเสบ

    การป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง

    การป้องกัน การติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง ลดความเสี่ยงการติดเชื้อและการแพร่กระจายสู่ผู้อื่น สามารถทำได้ ดังนี้

    • ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ฟอกสบู่และล้างด้วยน้ำเปล่า ซับมือให้แห้ง ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร
    • ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค
    • เปลี่ยนผลิตภัณฑ์สุขอนามัยส่วนตัวเป็นประจำ เช่น แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว หวี เพื่อลดการหมักหมมของเชื้อโรค
    • ป้องกันผิวหนังจากแมลงด้วยสเปรย์กำจัดแมลงหรือยาไล่แมลง เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสที่มาจากสัตว์ เช่น ยุง ที่อาจทำให้เกิดอาการคัน บวม และรอยแดง
    • หากมีอาการคัน มีตุ่มเล็ก ๆ หรือมีอาการที่รุนแรงขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา
    • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
    • รักษาความสะอาดอุปกรณ์กีฬาเป็นประจำ
    • ทำความสะอาดบริเวณที่มีความชื้น เพราะเชื้อโรคมักเติบโตได้ดีในที่อับชื้น
    • อาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำทุกวันเพื่อลดเชื้อโรคสะสมตามร่างกาย
    • สวมใส่รองเท้าที่มิดชิดเมื่อต้องออกไปที่สาธารณะ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา