backup og meta

งูสวัดกี่วันหาย อาการ สาเหตุ และการรักษา

งูสวัดกี่วันหาย อาการ สาเหตุ และการรักษา

โรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าวาริเซลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส หลังหายจากอีสุกอีใส เชื้อจะซ่อนอยู่ในปมประสาท และหากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เชื้อจะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวน ส่งผลให้เป็นโรคงูสวัด อาการคือ ปวดและมีผื่นหรือตุ่มใสขึ้นตามแนวเส้นประสาท อาจเกิดขึ้นที่ใบหน้า แขน ขา หรือชายโครง การรักษาโรคงูสวัดอาจรักษาตามอาการ ให้ยาต้านไวรัส เป็นต้น แต่เป็นโรค งูสวัดกี่วันหาย อาจขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค สุขภาพร่างกาย และการดูแลตัวเองของผู้ป่วยด้วย

[embed-health-tool-bmi]

โรคงูสวัด คืออะไร

โรคงูสวัด คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus หรือ VZV) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส แม้จะรักษาโรคอีสุกอีใสหายแล้ว แต่เชื้อไวรัสจะยังซ่อนอยู่ในปมประสาท เมื่ออายุมากขึ้นหรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวและเพิ่มจำนวน จนส่งผลให้เป็นโรคงูสวัดได้ 

อาการของงูสวัด

อาการของโรคงูสวัดอาจมีดังนี้ 

  • ปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังตามแนวเส้นประสาท
  • มีตุ่มน้ำใส หรือผื่นแดงคันตามแนวเส้นประสาท ซึ่งมักปรากฏหลังมีอาการปวดประมาณ 2-3 วัน
  • ปวดเมื่อยร่างกาย 
  • ผิวบริเวณตุ่มหรือผื่นไวต่อการสัมผัส
  • เหนื่อยล้า
  • ปวดศีรษะ 
  • เป็นไข้ 
  • ท้องเสีย 

นอกจากนี้ โรคงูสวัดยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น 

  • ปัญหาการมองเห็นหรือสูญเสียการมองเห็น หากมีผื่นขึ้นที่ดวงตาหรือรอบดวงตา
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง หากแผลตุ่มน้ำใสจากงูสวัดไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย
  • อาการปวดเส้นประสาทหลังเป็นงูสวัด (Post-herpetic Neuralgia หรือ PHN) คือ อาการปวดในบริเวณที่เป็นผื่นจากโรคงูสวัดแม้ผื่นจะหายไปแล้ว โดยปกติอาการมักดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์หรือหลายเดือน 

งูสวัดกี่วันหาย 

ผื่นงูสวัดมักแตกและแห้งไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องรักษา แต่อาจต้องใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์จึงจะหายสนิท ส่วนอาการอื่น ๆ จะค่อย ๆ บรรเทาลงเมื่อเวลาผ่านไป 

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากเป็นโรคงูสวัดแล้วมีอาการหรือภาวะต่อไปนี้ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

  • ผื่นขึ้นบนใบหน้า เพราะอาจทำลายกระจกตา หรือส่งผลต่อการมองเห็นได้ 
  • ผื่นขึ้นพร้อมกับมีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน หูอื้อ มองเห็นภาพซ้อน ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก สับสน วิตกกังวล 
  • เจ็บหรือปวดบริเวณบาดแผลอย่างรุนแรง
  • ผิวหนังบริเวณที่เป็นงูสวัดติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการบวม แดงที่ผิวหนัง มีไข้สูง เป็นต้น
  • ผื่นที่เป็นอยู่ไม่บรรเทาลง แม้เวลาผ่านไปแล้วประมาณ 10 วัน

สาเหตุของโรคงูสวัด

โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus หรือ VZV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ผู้ที่เป็นโรคอีสุกอีใสอาจเป็นโรคงูสวัดได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสยังคงแฝงอยู่ในปมประสาท หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง อาจทำให้เชื้อไวรัสชนิดนี้ที่แฝงตัวอยู่แบ่งตัวและเพิ่มจำนวน ทำให้เส้นประสาทอักเสบ จนเกิดเป็นโรคงูสวัด ส่งผลให้ปวดและมีตุ่มหรือผื่นขึ้นที่ผิวหนังบริเวณแนวเส้นประสาทโดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ได้แก่ 

  • อายุเกิน 50 ปี
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ 
  • เข้ารับการฉายรังสีหรือทำเคมีบำบัด  
  • มีปัญหาสุขภาพ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี มะเร็ง
  • ใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ เพรดนิโซน (Prednisone) ยากดภูมิคุ้มกัน

การรักษาโรคงูสวัด

วิธีรักษาและดูแลอาการของโรคงูสวัด อาจมีดังนี้

  • รับประทานยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) เพื่อชะลอการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน 
  • ใช้ยาบรรเทาอาการปวดและลดผื่น เช่น ยากันชัก อย่างกาบาเพนติน ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก อย่างอะมิทริปไทลีน ยาชา อย่างลิโดเคนในรูปแบบครีม เจล สเปรย์ แผ่นแปะ เป็นต้น โดยคุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาภายใน 3 วันหลังเริ่มมีผื่นขึ้น 
  • ประคบแผลด้วยน้ำเกลือ ครั้งละประมาณ 10 นาที  3-4 ครั้ง/วัน อาจช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น
  • อาบน้ำให้สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย

การป้องกันโรคงูสวัด 

วิธีการต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดได้ 

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่น หรือตุ่มน้ำของผู้ป่วยโรคงูสวัด 
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

โรคงูสวัด. https://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_10_005.html. Accessed December 6, 2021 

Shingles. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/shingles/symptoms-causes/syc-20353054. Accessed December 6, 2021 

Shingles. https://www.nhs.uk/conditions/shingles/. Accessed December 6, 2021 

Shingles: What You Should Know. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/shingles/shingles-skin. Accessed December 6, 2021 

Shingles. https://medlineplus.gov/shingles.html. Accessed December 6, 2021 

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2024

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

รอยแผลเป็นจากอีสุกอีใส รักษาด้วยวิธีไหนได้ผลดีที่สุด

วัคซีนป้องกันงูสวัด เหมาะสำหรับใคร ฉีดแล้วเกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา