backup og meta

ฝีไม่มีหัว เป็นอย่างไร หายเองได้หรือไม่ มีวิธีรักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

    ฝีไม่มีหัว เป็นอย่างไร หายเองได้หรือไม่ มีวิธีรักษาอย่างไร

    ฝีไม่มีหัว คือ ตุ่มบวมแดงบนผิวหนังซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีหนองอยู่ในภายในฝีแต่ไม่มีตุ่มฝีสีขาวอยู่ด้านบน แต่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด ทั้งนี้ ฝีไม่มีหัวอาจค่อย ๆ ยุบและหายเองได้ หากไม่ได้ติดเชื้อรุนแรงมาก อย่างไรก็ตาม หากเป็นฝีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร ควรไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้คุณหมอผ่าและดูดหนองออก

    ฝีไม่มีหัวเกิดจากอะไร

    ฝีไม่มีหัวเป็นอาการของฝีโดยทั่วไป เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งพบได้บนผิวหนังและในโพรงจมูก

    โดยปกติแล้ว แบคทีเรียดังกล่าวไม่เป็นอันตรายแก่ผิวหนัง แต่หากเกิดบาดแผลหรือเป็นรอยถลอกบนผิวหนัง เชื้อสแตปฟิโลคอคคัสอาจเข้าไปในผิวหนัง และทำให้ติดเชื้อเกิดการอักเสบจนกลายเป็นฝีหรือตุ่มหนองได้

    ฝีหรือตุ่มบวมแดงบนผิวหนังเป็นการอักเสบเนื่องมาจากระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับแบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกาย เกิดเป็นน้ำหนอง ซึ่งประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนมาก อันมีหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคต่าง ๆ

    ฝีมักเกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้

    • ป่วยเป็นโรคซึ่งส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง โรคอ้วน
    • ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด
    • ผ่านการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy)
    • มีอาการบาดเจ็บหรือผิวหนังไหม้ระดับรุนแรง

    ฝีไม่มีหัว มีอาการอย่างไร

    ฝีไม่มีหัวเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย อาทิ รักแร้ มือ เท้า ลำตัว อวัยวะเพศ สะโพก โดยอาการที่พบบ่อย ประกอบด้วย

    • ตุ่มบวมแดงบริเวณที่ติดเชื้อ มีหนองข้างใน ไม่มีหัว และสร้างความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัส โดยเม็ดฝีอาจมีขนาดใหญ่ถึง 5 เซนติเมตร
    • ในกรณีของการติดเชื้อระดับรุนแรง หรือการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อส่วนลึก ผู้ป่วยอาจเป็นไข้ร่วมด้วย

    อย่างไรก็ตาม ฝีไม่มีหัว อาจกลายเป็นฝีแบบมีหัวในภายหลังได้

    ฝีไม่มีหัว หายเองได้ไหม

    ฝีไม่มีหัวอาจยุบลงและหายได้เอง หากติดเชื้อในระดับที่ไม่รุนแรงมากนัก หรือเม็ดฝีมีขนาดเล็ก

    อย่างไรก็ตาม การปล่อยเม็ดฝีไว้โดยไม่รักษา อาจทำให้อาการแย่ลง หรือการติดเชื้อลุกลามไปยังเนื้อเยื่อส่วนที่ลึกขึ้น ยิ่งกว่านั้น เชื้อแบคทีเรียสามารถแพร่กระจายสู่กระแสเลือดได้ และนำไปสู่อาการแทรกซ้อน เช่น ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย

    ทั้งนี้ เมื่อเป็นฝีในลักษณะต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจและรักษา

    • มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่เกิน 1 เซนติเมตร
    • เม็ดฝีใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับอาการเจ็บปวดรุนแรงยิ่งขึ้น
    • มีอาการไข้ร่วมด้วย

    การรักษาฝีไม่มีหัว

    ฝีไม่มีหัวรักษาได้ด้วยการผ่าตัด เพื่อให้หนองข้างในออกมา และฝียุบลง ขั้นตอนการผ่าตัดฝีไม่มีหัว ได้แก่

    • คุณหมอจะฉีดยาชาบริเวณที่เป็นฝี
    • ใช้มีดกรีดผ่าฝีเพื่อบีบหรือดูดเอาหนองออกจนกว่าจะหมด
    • เช็ดแผลผ่าตัดและโพรงหนองด้วยน้ำเกลือและยาฆ่าเชื้อ
    • ปิดแผลผ่าตัดด้วยผ้าพันแผล และหลีกเลี่ยงการโดนน้ำ
    • หลังการผ่าตัด หากคนไข้ยังมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ติดเชื้อ คุณหมอจะจ่ายยาแก้ปวดให้กลับไปรับประทานที่บ้าน
    • ให้ยาปฏิชีวนะแบบกินหรือฉีดร่วมด้วย

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การดูแลตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นฝีไม่มีหัว สามารถทำได้ดังนี้

    • รักษาความสะอาดของร่างกาย เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย ด้วยการล้างมือสม่ำเสมอ อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใส่เสื้อผ้าที่แห้งและสะอาด และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส สามารถแพร่กระจายได้ผ่านข้าวของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดตัว มีดโกนหนวด เสื้อผ้า
    • รักษาความสะอาดของบาดแผล เมื่อผิวหนังเกิดรอยถลอกหรือเป็นแผล ควรเช็ดทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์หรือน้ำเกลือ และปิดแผลไว้ด้วยพลาสเตอร์ เพื่อป้องกันแบคทีเรียเข้าไปในผิวหนัง เป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อ
    • หลีกเลี่ยงการบีบฝีด้วยตนเอง เพื่อให้หนองไหลออกมา เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียในฝีกระจายไปยังผิวหนังส่วนอื่น นอกจากนี้ การบีบฝียังอาจทำให้เชื้อโรคแพร่ไปยังเนื้อเยื่อส่วนที่ลึกลงไปใต้ผิวหนังและเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา