backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ภูมิแพ้ผิวหนัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 22/11/2022

ภูมิแพ้ผิวหนัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือที่เรียกอีกอย่างว่าโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากผิวแห้ง ติดเชื้อแบคทีเรีย สารระคายเคือง หรือสารก่อภูมิแพ้ ที่ทำให้ผิวหนังอักเสบ รู้สึกคัน ผิวเป็นสะเก็ด หากไม่เข้ารับการรักษาอาจส่งผลให้เกิดอาการคันรุนแรง จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้

คำจำกัดความ

ภูมิแพ้ผิวหนัง คืออะไร

ภูมิแพ้ผิวหนัง คือ โรคผิวหนังที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ ทำให้เกิดผื่น อาการคัน รอยแดง ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า แขน และขา ภูมิแพ้ผิวหนังอาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้งหากมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น แบคทีเรีย สารระคายเคือง

อาการ

อาการภูมิแพ้ผิวหนัง

อาการภูมิแพ้ผิวหนัง อาจสังเกตได้ดังนี้

  • ผิวแห้งเป็นขุย
  • อาการคัน ที่อาจรุนแรงขึ้นในช่วงเวลากลางคืน
  • ตุ่มนูนเล็ก ๆ ที่มีของเหลวอยู่ด้านใน
  • ผื่นเป็นปื้นสีแดงหรือน้ำตาลอมเทา บริเวณใบหน้า ศีรษะ ข้อมือ คอ หน้าอก เท้า ข้อพับ ข้อศอก และหลังเข่า
  • ผิวบวมแดงจากการเกา
  • นอกจากนี้ หากสังเกตว่ามีไข้ หนาวสั่น รู้สึกเหมือนไม่สบาย และมีอาการแย่ลง เช่น มีหนอง เจ็บบริเวณตุ่มเมื่อถูกสัมผัสหรือเสียดสี อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง ควรพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาทันที

    สาเหตุ

    สาเหตุของภูมิแพ้ผิวหนัง

    สาเหตุของภูมิแพ้ผิวหนังอาจยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นที่ส่งผลให้ผิวหนังอักเสบ ดังนี้

    • สารระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผงซักฟอก แชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน
    • สารก่อภูมิแพ้ เช่น สภาพอากาศที่หนาวเย็น ขาดความชื้น ไรฝุ่น มลพิษ ขนสัตว์ ละอองเกสร น้ำหอม
    • ภูมิแพ้อาหาร เช่น ไข่ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ไข่ นมวัว
    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาจพบได้ในผู้หญิงก่อนมีประจำเดือน และระหว่างตั้งครรภ์
    • ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นภูมิแพ้ผิวหนัง

    ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ผิวหนัง มีดังนี้

  • พันธุกรรมคนในครอบครัวที่เคยมีประวัติการเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคภูมิแพ้ ไข้ละอองฟาง และโรคหอบหืด
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การอาบน้ำร้อน อาบน้ำนาน เพราะอาจส่งผลให้ผิวขาดความชุ่มชื้น ผิวแห้ง จนนำไปสู่อาการคันระคายเคือง
  • การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยภูมิแพ้ผิวหนัง

    คุณหมออาจสอบถามประวัติสุขภาพ และสอบถามเกี่ยวกับอาหารที่รับประทาน รวมถึงสารระคายเคือง หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ เพื่อหาสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ผิวหนัง จากนั้นอาจเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อผิวหนัง เพื่อนำไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ

    การรักษาภูมิแพ้ผิวหนัง

    การรักษาภูมิแพ้ผิวหนัง มีดังต่อไปนี้

    • ครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง โดยคุณหมออาจแนะนำให้ทาระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งควรทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบ 1-2 ครั้ง/วัน เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจทำให้รู้สึกแสบร้อนผิวหนัง รูขุมขนอักเสบ สีผิวเปลี่ยนแปลง
    • ยาทาในกลุ่มแคลซินูลิน อินฮิบิเตอร์ (Calcineurin inhibitor) เช่น ทาโครลิมัส (Tacrolimus) พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) กดภูมิคุ้มกันของผิวหนัง ป้องกันการเกิดปฏิกิริยาแพ้เมื่อสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดเพราะทำให้ผิวไวต่อแสง
    • เพรดนิโซโลน (Prednisolone) สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง คุณหมออาจให้รับประทานเพรดนิโซโลน (Prednisolone) สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง คุณหมออาจให้รับประทานแต่อาจให้รับประทานระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ประจำเดือนมาไม่ปกติ เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เลือดออกง่าย การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
    • ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจแนะนำให้ทายาปฏิชีวนะในรูปแบบครีมบนผิวหนังที่มีอาการ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • การบำบัดด้วยแสง คุณหมออาจฉายรังสีอัลตราไวโอเลต A และ B ในบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ แต่วิธีการนี้อาจไม่เหมาะสำหรับทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากผิวหนังของเด็กค่อนข้างบอบบาง
    • การทำแผลแบบเปียก (Wet dressings) เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลจากผิวหนังอักเสบ เช่น แผลหนอง ตุ่มใส โดยคุณหมอจะทำความสะอาดแผลและใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือหมาด ๆ ประคบเป็นเวลา 10-15 นาที  จากนั้นจะทายาฆ่าเชื้อ หรือยาทากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์และพันผ้าพันแผล

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภูมิแพ้ผิวหนัง

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภูมิแพ้ผิวหนัง อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่ส่งผลให้ผิวระคายเคือง เช่น ขนสัตว์เลี้ยง น้ำหอมฝุ่นควัน ละอองเกสร
    • ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน และเสื้อผ้า สูตรอ่อนโยน ถนอมผิว
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
    • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ที่ปราศจากน้ำหอม โดยควรทาหลังจากอาบน้ำและควรเช็ดตัวให้แห้งสนิทก่อนทา
    • จำกัดระยะเวลาอาบน้ำไม่เกิน 10 นาที และควรอาบน้ำอุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือเย็นจนเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ผิวแห้ง ระคายเคือง
    • ไม่ควรขัดผิวอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง และเกิดบาดแผล เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
    • ตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 22/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา