backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ลมพิษเกิดจากอะไร อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/08/2022

ลมพิษเกิดจากอะไร อาการ และการรักษา

ลมพิษ เป็นผื่นผิวหนังที่มักเกิดจากการแพ้อาหาร เช่น ถั่ว ไข่ นม ยา เช่น ยาแอสไพริน การติดเชื้อ ความร้อน แรงเสียดสี ซึ่งอาจทำให้มีผื่นแดงที่ผิวหนังกระจายเป็นวงกว้าง และมีอาการคัน อาการอาจหายไปภายใน 24 ชั่วโมง แต่อาจกำเริบได้เมื่อถูกกระตุ้น การทราบว่า ลมพิษเกิดจากอะไร อาจช่วยให้หลีกเลี่ยงสาเหตุนั้น ๆ ได้ ช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำได้

คำจำกัดความ

ลมพิษเกิดจากอะไร

ลมพิษ เป็นอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาหาร ยาบางชนิด การติดเชื้อ แสงแดด ความร้อน แรงเสียดสี โดยลมพิษแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ลมพิษเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นเพียงระยะสั้นไม่เกิน 6 สัปดาห์ และลมพิษเรื้อรัง ที่อาจเกิดขึ้นนานกว่า 6 สัปดาห์ อาจทำให้มีอาการคัน ผื่นหรือตุ่มนูนแดง กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งอาการเหล่านี้หากเกิดขึ้นเรื้อรังอาจรบกวนการใช้ชีวิต การนอนหลับได้ นอกจากนี้ ในบางคนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคภูมิแพ้ ที่อาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก ริมฝีปาก เปลือกตาและลิ้นบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้รุนแรงที่ควรเข้ารับการรักษาโดยด่วน

อาการ

อาการลมพิษ

อาการลมพิษที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

  • ผื่นคันสีชมพูหรือสีแดง
  • ผื่นเป็นรูปวงกลมหรือวงรีกระจายเป็นวงกว้าง มักเกิดขึ้นที่ใบหน้า แขนขา มือ นิ้ว เท้า และนิ้วเท้า
  • ผื่นจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง แต่อาจขึ้นซ้ำได้

หากผื่นไม่หายไปภายใน 48 ชั่วโมง อาการรุนแรงขึ้น รบกวนการใช้ชีวิต หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะ หายใจมีเสียงหวีดแน่นหน้าอก ลิ้น ปาก หรือใบหน้าบวม ควรรีบเข้ารับการรักษาทันที

สาเหตุ

สาเหตุลมพิษ     

ลมพิษแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือลมพิษเฉียบพลันและลมพิษเรื้อรัง ดังนี้

1. ลมพิษเฉียบพลัน

ลมพิษเฉียบพลันเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 6 สัปดาห์ มักมีสาเหตุมาจากอาหาร ยาบางชนิด และการติดเชื้อจากแมลงกัดต่อยหรือโรคติดเชื้อบางชนิด

อาหารที่ทำให้เกิดลมพิษมักเป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก มีวัตถุเจือปนอาหาร และสารกันบูด เช่น ถั่ว ช็อกโกแลต ปลา มะเขือเทศ ไข่ เบอร์รี่สด นม

ยาบางชนิดที่อาจทำให้เกิดลมพิษ ได้แก่ ยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยารักษาความดันโลหิตสูง เช่น สารยับยั้งเอซีอี (ACE inhibitors) และยาแก้ปวด เช่น โคเดอีน (Codeine)

2. ลมพิษเรื้อรัง

ลมพิษเรื้อรังเกิดขึ้นนานกว่า 6 สัปดาห์ มักระบุสาเหตุได้ยาก อาจมีสาเหตุเดียวกับลมพิษเฉียบพลัน หรืออาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคไวรัสตับอักเสบติดเชื้อ หรือโรคมะเร็ง ลมพิษอักเสบเรื้อรังจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกาย เช่น ปอด กล้ามเนื้อ ทางเดินอาหาร รวมถึงอาจทำให้มีอาการหายใจถี่ ปวดกล้ามเนื้อ และท้องเสีย

นอกจากนี้ ยังมีลมพิษทางกายภาพซึ่งเป็นลมพิษที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น ความเย็น ความร้อน แสงแดด การเสียดสี แรงกดบนผิวหนัง ภาวะเหงื่อออกมาก โดยมักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่ถูกกระตุ้น และสามารถหายไปเองได้ภายใน 1 ชั่วโมง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงลมพิษ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดลมพิษ มีดังนี้

  • สารก่อภูมิแพ้ เช่น ถั่ว หอย ไข่ นม ละอองเกสร
  • สิ่งกระตุ้น เช่น เหงื่อ ความร้อน แรงเสียดสี ความเครียด
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน สารยับยั้งเอซีอี ยาโคเดอีน
  • สารเคมี
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยลมพิษ

การวินิจฉัยว่าลมพิษเกิดจากอะไร คุณหมออาจซักประวัติสุขภาพ การใช้ยา อาหาร และอาการ รวมถึงตรวจอาการที่แสดงบนผิวหนัง นอกจากนี้ คุณหมออาจทดสอบเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ทดสอบทางผิวหนังเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้

การรักษาลมพิษ

ลมพิษสามารถรักษาได้ด้วยยาที่จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น คุณหมออาจแนะนำยาชนิดอื่นที่เหมาะสมกับอาการเพิ่มเติม ดังนี้

ยาแก้แพ้ ช่วยป้องกันร่างกายปล่อยสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่

หากรักษาด้วยยาเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น คุณหมออาจสั่งยาชนิดอื่นเพิ่ม เช่น ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) ด็อกเซปิน (Doxepin) แต่อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ง่วงนอน

ยาอื่น ๆ ใช้รักษาอาการลมพิษเมื่อยาต้านฮีสตามีนไม่สามารถบรรเทาอาการได้ ดังนี้

  • ตัวบล็อกฮีสตามีน (H-2) แบบฉีดหรือรับประทาน เช่น ซิเมทิดีน (Cimetidine) ฟาโมทิดีน (Famotidine)
  • ยาต้านการอักเสบ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) ช่วยลดอาการบวม รอยแดง และอาการคัน มักใช้ควบคุมลมพิษรุนแรงหรือภูมิแพ้ หากใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น ยาด็อกเซปินแบบครีม ช่วยบรรเทาอาการคัน อาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและง่วงนอน
  • ยารักษาโรคหอบหืดกับยาแก้แพ้ เช่น มอนเทลูคาสท์ (Montelukast) ซาฟิร์ลูคาสท์ (Zafirlukast)
  • ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ทาโครลิมัส (Tacrolimus)

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับลมพิษ

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันลมพิษได้

  • สวมเสื้อผ้าที่หลวม โปร่ง และระบายอากาศได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการเกาหรือใช้สบู่ที่รุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้
  • หากมีอาการลมพิษ อาจบรรเทาเองด้วยการแช่น้ำในอ่างอาบน้ำ เปิดพัดลม ประคบหรือเช็ดด้วยผ้าเย็น ทาโลชั่นหรือครีมแก้คัน เป็นต้น
  • จดบันทึกว่าลมพิษเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร อาจช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นลมพิษ และสามารถบอกคุณหมอได้เมื่อมีอาการ
  • ทาครีมกันแดดก่อนออกไปข้างนอก เพราะแสงแดดอาจเป็นตัวกระตุ้นลมพิษได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/08/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา