หลายคนอาจสงสัยว่าฝีเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นฝีรักษายังไง ฝีเป็นภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นก่อตัวเป็นก้อนนูน มีลักษณะกลมและมีหนอง ภายในฝีประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว เซลล์เม็ดเลือดขาว และแบคทีเรีย นอกจากนี้ ยังมีฝีที่ก่อตัวภายในร่างกาย ซึ่งอาจตรวจพบได้ยากกว่าฝีบริเวณผิวหนัง การรักษาฝีที่ผิวหนังโดยทั่วไปอาจใช้การประคบร้อน การระบายออกด้วยเข็ม และการผ่าตัดนำฝีออก หากพบว่ามีฝีควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี และไม่ควรบีบหรือเจาะฝีออกด้วยตัวเอง เพราะอาจเสี่ยงเกิดการติดเชื้อและทำให้อาการแย่ลงได้
[embed-health-tool-ovulation]
ฝีเกิดจากอะไร
ฝี (Abscesses) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) เป็นภาวะอักเสบของผิวหนังที่เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนัง ระบบภูมิคุ้มกันจึงส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวไปต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา จนส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้ออักเสบหรือบวมแดง และเกิดเป็นโพรงที่ผิวหนัง เซลล์ที่ตายแล้วและแบคทีเรียจะก่อตัวเป็นตุ่มหนองบริเวณโพรงจนเกิดเป็นฝี ซึ่งอาจอักเสบและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สัมผัสแล้วรู้สึกเจ็บและอาจมีกลิ่นเหม็น
ฝีแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
- ฝีที่ผิวหนัง (Skin abscesses) เป็นฝีที่เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียเข้าไปในผิวหนัง ทำให้เกิดตุ่มหนองอักเสบและเกิดก้อนฝีตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย อาจพบได้ที่ใต้วงแขน แขน ขา ลำตัว อวัยวะเพศ ก้น เป็นต้น
- ฝีภายใน (Internal abscesses) เป็นฝีที่ก่อตัวภายในอวัยวะหรือในช่องว่างระหว่างอวัยวะต่าง ๆ โดยปกติจะพบได้ยากกว่าฝีที่อยู่บริเวณผิวหนังเนื่องจากเกิดขึ้นภายในร่างกาย และบางครั้งอาจไม่มีสัญญาณภายนอกที่แสดงว่าเป็นฝี
อาการของฝี
อาการของฝี มีดังนี้
ฝีที่ผิวหนัง
- มีตุ่มบวมใต้ผิวหนัง
- ผิวหนังมีก้อนนูนแดงอักเสบที่กดแล้วรู้สึกเจ็บ
- มีตุ่มหนองสีขาวหรือสีเหลืองใต้ผิวหนัง
- มีอุณหภูมิร่างกายสูง
- หนาวสั่น
ฝีภายใน
อาการของฝีภายในร่างกายอาจแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่ฝีก่อตัว เช่น ฝีในตับอาจทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองหรือดีซ่าน (Jaundice) ในขณะที่ฝีในปอดหรือฝีใกล้ปอดอาจทำให้ไอหรือหายใจถี่ได้ โดยอาการทั่วไปของฝีภายใน อาจมีดังนี้
- รู้สึกไม่สบายบริเวณที่เป็นฝี
- มีอุณหภูมิร่างกายสูง
- มีเหงื่อออกมาก
- หนาวสั่น
- รู้สึกปวดท้องหรือท้องบวม
- ไม่อยากอาหารหรือน้ำหนักลดลง
เป็นฝีรักษายังไง
การรักษาฝี สามารถทำได้ดังนี้
- การประคบร้อน หากฝีมีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรหรือเล็กกว่าครึ่งนิ้ว ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดประคบบริเวณที่เป็นฝี 4 ครั้ง/วัน ครั้งละประมาณ 30 นาที อาจช่วยบรรเทาอาการบวมและอาจช่วยให้ฝียุบลงได้
- การกินยาปฏิชีวนะ
- การระบายฝีออกทางผิวหนัง หากฝีมีขนาดเล็ก คุณหมออาจใช้เข็มเจาะเข้าไปในฝีเพื่อระบายหนองและอาจต้องใช้ยาทาเฉพาะที่และยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อและป้องกันการติดเชื้อร่วมด้วย
- การผ่าตัด การผ่านำฝีออก อาจใช้เมื่อฝีมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถใช้เข็มเจาะระบายหนอง หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถใช้เข็มเจาะหนองได้
ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเจาะฝีหรือบีบฝีออกเอง โดยเฉพาะการเจาะกลางฝีเพราะอาจทำให้หลอดเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนังบาดเจ็บและอาจติดเชื้อโรคจากภายนอกจนอาการแย่ลงได้ ควรให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้เจาะหรือผ่าฝีให้เท่านั้น เมื่อกำจัดฝีออกแล้ว ควรดูแลแผลให้สะอาด และอาจต้องทำความสะอาดแผลและเปลี่ยนผ้าพันแผลทุกวันเป็นเวลาประมาณ 7-10 วัน แผลอาจหายได้ภายใน 10-14 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของฝีด้วย
วิธีป้องกันฝีบนผิวหนัง
วิธีป้องกันฝีบนผิวหนัง อาจทำได้ดังนี้
- รักษาสุขอนามัยของตัวเองและคนในครอบครัวให้ดีอยู่เสมอ เช่น ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำ อาบน้ำทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อเปื้อนสิ่งสกปรก หรือหลังออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าขนหนู ร่วมกับคนอื่น
- หลึกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นหรือเสียดสีผิวหนังมากเกินไป
- หากฝีอักเสบ ควรรักษาให้หายสนิทก่อนไปใช้อุปกรณ์ส่วนกลางใด ๆ เช่น อุปกรณ์ออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ ซาวน่า ร่วมกับผู้อื่น
- โกนใบหน้า แขน ขา ใต้วงแขนอย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังระคายเคือง เพราะจะทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดฝีตามมาได้
- เมื่อเป็นแผลควรรีบทำความสะอาดและรักษาแผลให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะแผลที่อาจมีเศษสิ่งสกปรกติดอยู่ แผลที่ถูกแมลงกัดต่อย หรือหากเป็นแผลขณะเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน