backup og meta

ไฝเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ สามารถเป็นมะเร็งผิวหนังได้หรือไม่

ไฝเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ สามารถเป็นมะเร็งผิวหนังได้หรือไม่

ไฝเกิดจากอะไร? ไฝ เป็นลักษณะของผิวหนังที่พบได้ทั่วไป และโดยส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังแต่อย่างใด ไฝเกิดจากการรวมตัวของเมลาโนไซต์ (Melanocytes) หรือเซลล์เม็ดสีซึ่งทำหน้าที่ปกป้องผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลต อย่างไรก็ตาม ไฝอาจแสดงถึงภาวะของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) ซึ่งจำเป็นต้องกำจัดออก

[embed-health-tool-ovulation]

ไฝเกิดจากอะไร

ไฝคือการเติบโตของกลุ่มเซลล์เม็ดสีบนผิวหนังรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่เป็นอันตราย เกิดจากการรวมตัวของเมลาโนไซต์ ซึ่งโดยปกติจะกระจายอยู่ทั่วร่างกาย เพื่อสร้างเม็ดสีผิวหรือเมลานิน (Melanin) อันมีหน้าปกป้องร่างกายจากรังสีอัลตราไวโอเลตของดวงอาทิตย์ แต่ในกรณีที่เมลานินทำงานผิดปกติทำให้เกิดการสะสมเม็ดสีผิวในบริเวณใดบริเวณหนึ่งแทนที่จะกระจายออก ทำให้ผิวบริเวณนั้นมีสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ก่อตัวเป็นไฝ

ไฝสามารถขึ้นได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า ลำตัว แขน รักแร้ ขา หรือตามนิ้วมือและนิ้วเท้า ทั้งนี้ คนทั่วไปจะมีไฝประมาณ 10-40 เม็ด โดยไฝอาจเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเดี่ยวและเป็นกลุ่ม

ลักษณะของไฝ

ลักษณะของไฝโดยทั่วไป มีดังนี้

  • รูปร่าง ไฝเป็นตุ่มนูนบนผิวหนัง รูปร่างกลมหรือเป็นวงรี ผิวเรียบหรือขรุขระ และบางกรณีอาจมีขนงอกออกมาจากตุ่มไฝ เนื่องจากไฝขึ้นอยู่บริเวณรูขุมขน
  • สี ไฝมีหลายสี อาทิ ดำ น้ำตาล แดง ชมพู ขึ้นอยู่กับลักษณะสีผิวตามธรรมชาติของบุคคลนั้น ๆ และสีอาจเข้มขึ้นเมื่อโดนแสงแดด รวมถึงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายช่วงวัยรุ่น หรือระหว่างตั้งครรภ์
  • เส้นผ่านศูนย์กลาง โดยทั่วไป ไฝจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร อย่างไรก็ตาม ไฝโดยกำเนิดบางครั้งอาจมีขนาดใหญ่เกินกว่า 5 เซนติเมตรได้

โดยปกติแล้ว ไฝมักไม่เปลี่ยนรูปร่าง สี หรือขนาด ดังนั้น หากสังเกตเห็นว่าไฝมีขนาดโตขึ้น รูปร่างเปลี่ยนไปหรือสภาพผิวหนังไม่เหมือนเดิม รวมทั้งสีของไฝเปลี่ยนแปลงไปแบบผิดสังเกต ควรขอคำแนะนำหรือเข้ารับการตรวจจากคุณหมอ

ความเกี่ยวข้องระหว่างไฝกับมะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนัง ที่อาจสังเกตได้จากความเปลี่ยนแปลงของไฝ คือมะเร็งเมลาโนมา ซึ่งอาจพบได้น้อย แต่หากเป็น จะมีอาการรุนแรงมาก และเป็นสาเหตุการตายถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังทั้งหมด เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้ทำให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ร่างกายจะควบคุมได้ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด

มะเร็งเมลาโนมา จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่อายุระหว่าง 50-70 ปี ทั้งนี้ อาการหรือจุดสังเกตของมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา คือไฝบนร่างกายของผู้ป่วยซึ่งมักมีลักษณะดังนี้

  • มีรูปร่างไม่ชัดเจน ลักษณะไม่ได้เป็นวงกลมหรือวงรีเหมือนไฝทั่วไป
  • มีไฝเกิดขึ้นพร้อมกันหลายจุดและมีหลายสี
  • มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร
  • มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากไฝทั่วไปคือขนาดโตขึ้นโดยขยายใหญ่จากเมื่อตอนเกิดไฝแรก ๆ เป็นเท่าตัว
  • บางครั้งอาจมีเลือดออก หรือรู้สึกคันบริเวณที่เป็นไฝ

สาเหตุของมะเร็งเมลาโนมาในปัจจุบันยังไม่แน่ชัด แต่ทางการแพทย์เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย อาทิ การรับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดมากเกินไป พันธุกรรม ภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ การมีผิวสีอ่อน

ทั้งนี้ หากพบไฝที่มีลักษณะผิดปกติ ควรรีบไปพบคุณหมอ โดยคุณหมอจะตรวจเบื้องต้นด้วยตาเปล่า หากคุณหมอสันนิษฐานว่ามีโอกาสเป็นอาการของมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาอาจตัดไฝบางส่วนไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป

วิธีการกำจัดไฝ

โดยปกติ ไม่จำเป็นต้องกำจัดไฝออกจากร่างกาย เนื่องจากไฝเกิดจากความผิดปกติของเม็ดผิวสีซึ่งไม่เป็นอันตราย  ในกรณีของผู้ที่ไม่มั่นใจในตัวเอง อาจสามารถใช้เครื่องสำอางทาผิวช่วยปกปิดไฝได้

อย่างไรก็ตาม หากตำแหน่งของไฝทำให้รู้สึกไม่สบายใจ หรือไฝนั้นเป็นหนึ่งในอาการของโรคมะเร็งผิวหนัง สามารถกำจัดไฝออกจากร่างกายด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ผ่าตัด โดยคุณหมอจะฉีดยาชาผิวหนังบริเวณที่เป็นไฝ แล้วใช้มีดกรีดเอาไฝออกจากร่างกาย วิธีนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นในภายหลัง แต่มักไม่ได้มีขนาดแผลใหญ่นัก ขึ้นอยู่กับขนาดของไฝเป็นหลัก อาจใช้ครีมแก้แผลเป็นทาเพื่อรักษารอยแผลเป็น
  • ใช้แสงเลเซอร์ คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจะจี้ไฝให้หลุดจากร่างกายด้วยความร้อน วิธีนี้จะทำให้เกิดแผลตกสะเก็ดเป็นเวลา 5-7 วัน หลังจากนั้นร่างกายจะค่อย ๆ สมานผิวจนแทบไม่เห็นรอย แต่ทั้งนี้อาจใช้ครีมบำรุงผิวและยารักษาแผลเป็นทาร่วมด้วย

การป้องกันตัวเองจากมะเร็งเมลาโนมา

เนื่องจากปัจจัยหลักของการเกิดมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา คือรังสีอัลตราไวโอเลต เพื่อป้องกันมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ ควรปกป้องตัวเองจากแสงแดดเพื่อลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยไม่จำเป็น รวมถึงการออกจากบ้านช่วงแดดจัด
  • หากต้องออกจากบ้าน ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป แม้ในวันที่มีเมฆหนา หรือไม่มีแดด เพราะรังสีอัลตราไวโอเลตยังคงมีอยู่
  • เมื่อต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดเพื่อปกปิดผิวหนังบริเวณแขนและขา ร่วมกับการใส่หมวกและแว่นกันแดด
  • สังเกตลักษณะผิวหนังเป็นประจำหากมีความผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงที่ผิดสังเกต จะได้ปรึกษาคุณหมอและรับการรักษาอย่างทันท่วงที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Moles, Freckles, and Skin Tags. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/moles-freckles-skin-tags. Accessed March 8, 2022

มะเร็งผิวหนังชนิด Malignant Melanoma. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1012. Accessed March 8, 2022

Melanoma. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/melanoma/symptoms-causes/syc-20374884. Accessed March 8, 2022

Moles. https://www.cancer.org.au/cancer-information/causes-and-prevention/moles. Accessed March 8, 2022

Common Moles, Dysplastic Nevi, and Risk of Melanoma. https://www.cancer.gov/types/skin/moles-fact-sheet#:~:text=1%2F5-,Can%20a%20common%20mole%20turn%20into%20melanoma%3F,of%20developing%20melanoma%20(1). Accessed March 8, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/06/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไฝ แบบใดเป็น สัญญาณของมะเร็งผิวหนัง

ไฝ (Moles) คืออะไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา