backup og meta

ประจำเดือนมาวันเดียว สาเหตุและวิธีดูแลตัวเอง

ประจำเดือนมาวันเดียว สาเหตุและวิธีดูแลตัวเอง

ประจำเดือนมาวันเดียว เป็นปัญหาสุขภาพหญิงที่พบได้ทั่วไป สามารถเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ซึ่งการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น การควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ การพักผ่อนให้มากขึ้น การดื่มน้ำให้เพียงพอ อาจช่วยปรับระดับฮอร์โมนในร่างกาย และช่วยให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติได้

[embed-health-tool-ovulation]

สาเหตุที่ทำให้ ประจำเดือนมาวันเดียว

ประจำเดือนมาวันเดียว อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

เป็นวัยรุ่นที่เพิ่งมีประจำเดือน

หากอายุประมาณ 12 ปีขึ้นไป หรืออยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นที่เพิ่งมีประจำเดือนได้ไม่นาน ฮอร์โมนในร่างกายอาจกำลังปรับเปลี่ยนเพื่อให้คงที่และสมดุลขึ้นในแต่ละเดือน ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ บางเดือนอาจมามาก บางเดือนอาจมาน้อย ในบางเดือน ประจำเดือนอาจมาแบบกะปริบกะปรอย ประจำเดือนมาวันเดียว หรือประจำขาดไปเป็นบางเดือนได้

เข้าสู่วัยก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause)

เมื่อร่างกายของผู้หญิงเข้าสู่วัยก่อนหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่คือช่วงอายุประมาณ 50 ปี ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพศหญิงอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) น้อยลงเรื่อย ๆ จนส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนมาแบบกะปริบกะปรอย

ใช้ยาคุมกำเนิด

การคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การกินยาเม็ดคุมกำเนิด การใช้ห่วงอนามัย การฉีดยาคุมกำเนิด อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาวันเดียว เนื่องจากยาคุมกำเนิดประกอบไปด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอเจน ที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง หยุดการปล่อยไข่ ส่งผลให้มีปริมาณเลือดประจำเดือนน้อยลง

น้ำหนักตัวเปลี่ยนไป

เมื่อน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และประจำเดือนมาวันเดียวได้ หากน้ำหนักตัวลดลงเร็วเกินไปจะส่งผลให้ระดับไขมันในร่างกายลดลงจนทำให้ร่างกายหยุดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน กระทบต่อการตกไข่และปล่อยไข่ และหากน้ำหนักตัวเยอะเกินไปก็จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป จนส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

กำลังตั้งครรภ์

ในช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณเล็กน้อย หรือกะปริบกะปรอย เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งเกิดจากตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอ (Embryo) ที่ผ่านการปฏิสนธิแล้ว ฝังตัวเข้ากับเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณนั้นแตก จนทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณน้อย และอาจทำให้สับสนกับการมีประจำเดือนได้ หากสงสัยว่าการที่ประจำเดือนมาวันเดียวอาจเป็นเลือดล้างหน้าเด็ก หรือมีอาการอื่น ๆ ที่ทำให้สงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ร่วมด้วย เช่น ตกขาวมากกว่าปกติ คลื่นไส้ อาเจียน หน้าอกบวม เหนื่อยง่าย อาจลองทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยชุดตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจการตั้งครรภ์ที่สถานพยาบาล หากผลยืนยันว่าตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด

แท้งบุตร

การแท้งบุตรหรือภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่ตัวอ่อนพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์จนถูกขับออกมานอกร่างกาย อาจทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือนได้ ซึ่งการแท้งบุตรอาจมีการปวดท้องหลายวัน ปวดท้องอย่างรุนแรง และมีเนื้อเยื่อออกมาจากช่องคลอด ร่วมด้วย

เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน

ประจำเดือนมาวันเดียวอาจเกิดจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างที่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย เช่น การออกกำลังกายมากเกินไป การทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายปรับลดอัตราการเผาผลาญพลังงานลง ใช้พลังงานที่เท่าที่จำเป็นเท่านั้น รวมถึงลดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลงด้วย หรือหากเครียดจัดก็อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนเครียดเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงจำเป็นต้องปรับระดับฮอร์โมนให้เหมาะสม และลดการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน และทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้

การดูแลตัวเองเมื่อ ประจำเดือนมาวันเดียว

วิธีดูแลตัวเองเมื่อประจำเดือนมาวันเดียว อาจทำได้ดังนี้

เปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด

หากประจำเดือนแปรปรวนจากการใช้วิธีคุมกำเนิดบางประเภทนานเกิน 3 เดือน เช่น การใช้ห่วงอนามัย การกินยาเม็ดคุมกำเนิด คุณหมออาจแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิดเป็นวิธีอื่นที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด

เปลี่ยนไลฟ์สไตล์

หากประจำเดือนเปลี่ยนแปลงเนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตดังตัวอย่างต่อไปนี้อาจช่วยให้ประจำเดือนเป็นปกติขึ้นได้

  • หากออกกำลังกายหนักเกินไป อาจเปลี่ยนวิธีการออกกำลังกายหรือหยุดพักสักระยะเพื่อให้ร่างกายปรับตัว
  • หากเครียดจัด อาจทำกิจกรรมคลายเครียด เปลี่ยนวิธีคิด หาวิธีแก้ไขปัญหาที่ส่งผลให้เครียด หรือหากเครียดจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ควรไปพบคุณหมอ
  • ผู้หญิงควรพักผ่อนอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน การพักผ่อนอย่างเพียงพอจะทำให้ร่างกายได้ใช้เวลาในช่วงที่นอนหลับผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่ช่วยซ่อมแซมร่างกายได้อย่างเต็มที่ ช่วยปรับสมดุลของระบบเผาผลาญพลังงานและช่วยให้ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ทำหน้าที่เสริมสร้างคุณภาพการนอนให้สามารถทำงานได้ตามปกติ

ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์

ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ปล่อยให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อระบบภายในร่างกาย วิธีควบคุมน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การนับแคลอรี่ของมื้ออาหาร การกินอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนให้ครบ 5 มื้อ การไม่อดอาหารเช้า การไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ โดยผู้หญิงควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2.7 ลิตร/วัน หรือประมาณ 9 แก้ว/วัน

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากลองดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้ว ประจำเดือนยังมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนมาวันเดียว ประจำเดือนมาน้อย เป็นเวลาหลายเดือน หรือมีอาการแย่ลงจนประจำเดือนไม่มาอีกเลย ควรเข้าพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะหากมีอาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ด้วย หากพบว่าตั้งครรภ์ จะได้ฝากครรภ์และดูแลสุขภาพของตัวเองและทารกในครรภ์ได้อย่างเหมาะสม หรือหากพบว่าประจำเดือนมาวันเดียว หรือมาไม่ปกติเพราะปัญหาสุขภาพบางประการ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Abnormal Menstruation (Periods). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14633-abnormal-menstruation-periods. Accessed March 21, 2022

Period problems. https://www.womenshealth.gov/menstrual-cycle/period-problems. Accessed March 21, 2022

Menstrual cycle: What’s normal, what’s not. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/in-depth/menstrual-cycle/art-20047186. Accessed March 21, 2022

Why Is My Period So Random?. https://www.webmd.com/women/why-is-my-period-so-random. Accessed March 21, 2022

Irregular periods. https://www.nhs.uk/conditions/irregular-periods/. Accessed March 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/03/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผู้หญิงออกกำลังกายมากไป เสี่ยงกระดูกพรุน ขาดสารอาหาร และประจำเดือนขาด

เมนส์ไม่มา เกิดจากอะไร ควรทำอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/03/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา