ประจำเดือน คือ ภาวะที่มีเลือดออกทางช่องคลอดทุกเดือน หรือทุก ๆ 21-35 วัน ภาวะนี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคนเมื่อเข้าสู่ภาวะเจริญพันธุ์ ในช่วงที่มีประจำเดือน บางคนอาจอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย และในบางครั้งอาการปวดอาจรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การศึกษาวิธี แก้ปวดท้องประจำเดือน เช่น การออกกำลังกาย การเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ ทั้งนี้ หากอาการปวดรุนแรงและเกิดขึ้นนานกว่าที่เคยเป็น อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ เช่น เนื้องอกในมดลูก ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ควรไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาอย่างเร่งด่วน
[embed-health-tool-ovulation]
สาเหตุของอาการปวดท้องประจำเดือน
อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารเคมีที่เรียกว่าพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่อยู่ในเยื่อบุโพรงมดลูกกระตุ้นให้มดลูกบีบเกร็งและหดตัว เพื่อขับเยื่อบุโพรงมดลูกที่ลอกตัวออกมาเป็นประจำเดือน หากมดลูกบีบตัวแรงเกินไป อาจไปกดทับหลอดเลือดที่อยู่ใกล้ ๆ และทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดอาการปวดท้องเมื่อกล้ามเนื้อขาดออกซิเจนไปเลี้ยงชั่วขณะ
นอกจากนี้ อาการปวดท้องประจำเดือน ยังอาจเกิดจากปัจจัยด้านปัญหาสุขภาพได้ด้วย หากปวดท้องประจำเดือนรุนแรงผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที โดยปัญหาสุขภาพที่สัมพันธ์กับการปวดท้องประจำเดือน อาจมีดังต่อไปนี้
- เนื้องอกในมดลูก
- ภาวะมดลูกโต
- ภาวะปากมดลูกตีบ
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID)
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
อาการปวดท้องประจำเดือน
อาการปวดท้องประจำเดือน อาจมีดังนี้
- ปวดท้องส่วนล่างหรือท้องน้อย โดยเฉพาะในช่วง 1-2 วันแรกของการมีประจำเดือน และบางครั้งอาจมีอาการปวดรุนแรง
- ปวดบีบหรือปวดเกร็งเป็นพัก ๆ บริเวณหน้าท้อง
- ปวดบริเวณหลังส่วนล่างไปจนถึงต้นขาด้านใน
การปวดท้องประจำเดือน อาจมีอาการร่วมที่เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน ดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- อารมณ์แปรปรวน
- ซึมเศร้า
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดหลัง
- ปวดต้นขา
- ท้องผูก หรือท้องเสีย
- มีลิ่มเลือดประจำเดือน
วิธี แก้ปวดท้องประจำเดือน ทำอย่างไรได้บ้าง
วิธีบรรเทาหรือแก้ปวดท้องประจำเดือน อาจมีดังนี้
- ใช้ยาบรรเทาปวด รับประทานยาบรรเทาปวดแผนปัจจุบัน เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflamatory Drugs หรือ NSAIDs) อย่างยาไอบูโพรเฟน แอสไพริน พาราเซตามอล เป็นต้น หนึ่งวันก่อนวันที่คาดว่าประจำเดือนจะเริ่ม อาจช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้
- ประคบร้อนบริเวณท้องน้อย ใช้ถุงน้ำร้อน กระเป๋าน้ำร้อน หรือผ้าสะอาดชุบน้ำร้อนแล้วบิดหมาด ๆ มาวางประคบบริเวณท้องน้อย เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน
- พักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายจะใช้เวลาขณะนอนหลับในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ทั้งยังช่วยลดความเหนื่อยล้า ไม่สบายตัว ช่วยให้กล้ามเนื้อที่หน่วงตึงคลายตัว และอาจช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้
- ไม่สวมเสื้อผ้ารัดแน่น ในช่วงที่เป็นประจำเดือน ควรเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย หลวมโปร่ง ไม่รัดรูปหรือรัดหน้าท้องมากเกินไป เพื่อลดอาการอึดอัด ไม่สบายตัว
- จัดการความเครียดให้ดี ความเครียดสะสม หรือความเครียดที่มักเกิดในช่วงมีประจำเดือนอาจส่งผลให้ปวดท้องประจำเดือนรุนแรงขึ้นได้ หากรู้สึกเครียด ควรทำกิจกรรมคลายเครียดหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น การอ่านหนังสือ การดูหนัง การฟังเพลง การเล่นดนตรี
- นวดเพื่อลดอาการปวด นวดคลึงบริเวณท้องน้อยเบา ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นผ่อนคลายลง อาจช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ควรลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ จึงส่งผลให้เกิดการบีบรัดบริเวณช่องท้อง จนอาจกระตุ้นให้ปวดท้องรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังทำให้นอนหลับยากและอารมณ์แปรปรวนได้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายเบา ๆ ในช่วงเป็นประจำเดือน เช่น การเล่นโยคะ อาจช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนและลดอาการปวดหลังได้ เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยกระตุ้นการทำงานและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ รวมถึงบริเวณช่องท้องด้วย นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังทำให้สมองหลั่งสารเอนโดรฟิน ซึ่งอาจช่วยลดอาการเครียดและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ
หากมีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าอาการปวดท้องประจำเดือนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จึงควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
- ปวดท้องจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันในทุกรอบเดือน
- ปวดท้องรุนแรงขึ้น แม้จะรับประทานยาหรือปรับพฤติกรรมแล้วก็ตาม
- เริ่มมีอาการปวดท้องประจำเดือนรุนแรงตอนอายุเกิน 25 ปี