อุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นการติดเชื้อทางอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนใหญ่เกิดจากโรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียม อาจทำให้มีอาการปวดอุ้งเชิงกราน เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
[embed-health-tool-ovulation]
คำจำกัดความ
อุ้งเชิงกรานอักเสบคืออะไร
อุ้งเชิงกรานอักเสบ คือ การติดเชื้อทางอวัยวะสืบพันธ์ุของสตรี ได้แก่ มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ และปากมดลูก ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหามีลูกยาก ปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ หรืออาจมีอาการปวดกระดูกเชิงกรานเรื้อรังได้
อุ้งเชิงกรานอักเสบพบบ่อยแค่ไหน
อุ้งเชิงกรานอักเสบพบบ่อยในผู้หญิงอายุ 15-24 ปี และความเสี่ยงเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจเพิ่มสูงขึ้นหากมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เคยมีประวัติอุ้งเชิงกรานอักเสบมาก่อน เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และสวนล้างอวัยวะเพศ
อาการ
อาการอุ้งเชิงกรานอักเสบ
โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมักไม่แสดงอาการชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยหลายคนอาจไม่รู้ตัว อาการของอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงมาก ดังนี้
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือท้องน้อย
- รู้สึกเจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ หรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด โดยเฉพาะหลังหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น อาจมีสีเขียวหรือสีเหลือง
- ประจำเดือนมามาก
ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการรุนแรงขึ้น ดังนี้
- ไม่สบายตัว หนาวสั่น มีไข้
- ปวดท้องรุนแรง
สาเหตุ
สาเหตุอุ้งเชิงกรานอักเสบ
อุ้งเชิงกรานอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคหนองในเทียม และโรคหนองในแท้ ซึ่งสามารถติดต่อได้เมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน นอกจากนี้ อวัยวะสืบพันธ์ุอาจได้รับเชื้อแบคทีเรียจากสาเหตุอื่นได้ เช่น การสวนล้างช่องคลอด ช่วงมีประจำเดือน ช่วงหลังคลอด การทำแท้ง การแท้งบุตร หรือกระบวนการทางแพทย์ที่ต้องใช้อุปกรณ์สอดเข้าช่องคลอด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงอุ้งเชิงกรานอักเสบ
ปัจจัยบางประการอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบได้ ดังนี้
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- อายุน้อยกว่า 25 ปี
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
- สวนล้างช่องคลอดบ่อยครั้ง
- เคยเป็นโรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ หรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอุ้งเชิงกรานอักเสบ
การวินิจฉัยอุ้งเชิงกรานอักเสบ คุณหมอสามารถทำได้ ดังนี้
- ตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณของอุ้งเชิงกรานอักเสบ และตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคหนองในแท้และหนองในเทียม เพราะอาจทำให้เกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบได้
- หากผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อย คุณหมออาจตรวจช่องคลอดหรือปากมดลูก หากมีอาการตกขาวผิดปกติ อาจตรวจรังไข่หรือท่อนำไข่เพื่อตรวจหาฝี และตรวจอาการเจ็บปวดอวัยวะเพศด้วย
- ตรวจการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- อัลตราซาวด์ตรวจอวัยวะภายใน เพื่อหาสัญญาณของอุ้งเชิงกรานอักเสบ
การรักษาอุ้งเชิงกรานอักเสบ
หากตรวจพบโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบตั้งแต่ในระยะแรก ๆ สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ โดยคุณหมอจะรักษาอย่างครอบคลุม เนื่องจากอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจเกิดจากโรคหนองในแท้ หรือโรคหนองในเทียม จึงต้องให้ยาปฏิชีวนะผสมกันเพื่อรักษาสาเหตุของการเกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบด้วย
ในการรักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานยาปฏิชีวนะประมาณ 14 วัน หรืออาจรับการฉีดยาปฏิชีวนะเพียงครั้งเดียว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ และควรมีวินัยในการรับประทานยา เพื่อจะได้กำจัดการติดเชื้อได้ทั้งหมด
หากมีอาการปวดอุ้งเชิงกรานหรือปวดท้องน้อย ผู้ป่วยสามารถกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ร่วมกับยาปฏิชีวนะได้
การรักษาอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้
- ปวดอุ้งเชิงกรานหรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- ภาวะมีบุตรยาก
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก
- ป้องกันท่อนำไข่อุดตันที่อาจเกิดจากการก่อตัวของเนื้อเยื่อแผลภายในและภายนอกท่อน้ำไข่
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อช่วยจัดการอุ้งเชิงกรานอักเสบ
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน และจัดการปัญหาอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถทำได้ ดังนี้
- ป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ด้วยถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย เป็นต้น และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย นอกจากนี้ ควรถามประวัติสุขภาพทางเพศของคู่นอน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศ
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดโอกาสเกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะการสวนล้างจะทำลายความสมดุลของแบคทีเรียภายในช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- หากผู้ป่วยมีปัญหาอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรแนะนำให้คู่นอนเข้ารับการตรวจและรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการกลับมาเกิดซ้ำของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ