backup og meta

มดลูก มีโครงสร้างและหน้าที่อย่างไร

มดลูก มีโครงสร้างและหน้าที่อย่างไร

มดลูก เป็นอวัยวะกลวง ลักษณะคล้ายลูกแพร์ อยู่บริเวณกระดูกเชิงกรานของผู้หญิง เป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อกับช่องคลอด มีบทบาทสำคัญในวงจรการเจริญพันธุ์ การสืบพันธุ์ และการคลอดบุตร กล้ามเนื้อมดลูกสามารถขยายออกได้เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และสามารถหดกลับสู่ขนาดปกติได้หลังคลอดบุตร นอกจากนี้ อาจมีโรคที่เกี่ยวกับมดลูก เช่น เนื้องอกในมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและปัญหาการตั้งครรภ์ได้

[embed-health-tool-ovulation]

โครงสร้างทางกายวิภาคของมดลูก

มดลูก เป็นหนึ่งในอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง มีลักษณะกลวง หรือที่เรียกว่า อวัยวะกลวง (Muscular Organ) รูปทรงคล้ายลูกแพร์ มีท่อยาว 3 ทางที่เชื่อมต่อกับช่องคลอด ปีกมดลูกซ้าย และปีกมดลูกขวา กล้ามเนื้อของมดลูกสามารถขยายตัวได้มาก เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

มดลูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้

  • ยอดมดลูก (Fundus) ส่วนบนของมดลูก อยู่เหนือทางเข้าของท่อนำไข่
  • ตัวมดลูก (Body) หรือคอร์ปัส (Corpus) บริเวณที่รองรับการฝังตัวและเจริญเติบโตของตัวอ่อน
  • ปากมดลูก หรือคอมดลูก (Cervix) ส่วนล่างของมดลูกที่เชื่อมต่อกับช่องคลอด เป็นบริเวณที่ปกป้องโพรงมดลูกและอวัยวะเพศส่วนบน รวมทั้งช่วยป้องกันการบุกรุกของแบคทีเรีย

ผนังมดลูก

ผนังมดลูกประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ดังนี้

  • เยื่อบุช่องท้อง (Peritoneum) ชั้นนอกสุดของผนังมดลูกเกิดจากเซลล์เยื่อบุผิว
  • กล้ามเนื้อมดลูก (Myometrium) ชั้นกลางของผนังมดลูก เกิดจากเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อเรียบ สามารถขยายตัวเพื่อรองรับทารกและหดกลับได้หลังจากคลอดบุตร
  • เยื่อบุโพรงมดลูก หรือเยื่อบุมดลูก (Endometrium) เนื้อเยื่อชั้นในสุดของผนังมดลูกที่ก่อตัวหนาขึ้นในช่วงมีประจำเดือน และหลุดออกกลายเป็นเลือดประจำเดือนหากไม่มีการตั้งครรภ์

เอ็นยึดมดลูก

กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและเอ็นยึดมดลูก มีส่วนสำคัญในการรองรับมดลูก และช่วยให้มดลูกสามารถแขวนอยู่กับอุ้งเชิงกรานได้อย่างปลอดภัย โดยเอ็นยึดมดลูก แบ่งออกได้ดังนี้

  • Broad Ligament เอ็นส่วนเยื่อบุช่องท้อง 2 ชั้น ลักษณะเป็นแผ่นกว้าง ช่วยยึดด้านข้างของมดลูกไว้กับผนังอุ้งเชิงกราน
  • Round Ligament เอ็นส่วนที่ยื่นออกจากมดลูกไปยังแคมใหญ่หรือแคมนอก (Labia Majora) ซึ่งเป็นรอยนูนของผิวหนังขนาดใหญ่อยู่บริเวณช่องขาหนีบ ทำหน้าที่รักษาตำแหน่งของมดลูก ไม่ให้มดลูกเปลี่ยนทิศทาง
  • Ovarian Ligament เอ็นที่ยึดรังไข่ไว้กับมดลูก
  • Cardinal Ligament เอ็นที่อยู่บริเวณฐานของ Broad Ligament ช่วยยึดปากมดลูกและส่วนบนของช่องคลอดไว้กับผนังเชิงกราน
  • Uterosacral Ligament เอ็นที่อยู่บริเวณปลายล่างของกระดูกสันหลัง ช่วยยึดปากมดลูกทั้ง 2 ด้านไว้กับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ หากเอ็นยึดมดลูกอ่อนแออาจทำให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนและยื่นย้อยลงมา

หลอดเลือดและน้ำเหลือง

เลือดจะไหลผ่านหลอดเลือดแดงมดลูกและหลอดลือดแดงรังไข่ เพื่อลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงมดลูก และระบายเลือดเสียผ่านหลอดเลือดดำมดลูกไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำอุ้งเชิงกรานภายในระหว่างช่องเอ็น Broad Ligament ส่วนการระบายน้ำเหลืองของมดลูกจะลำเลียงผ่านต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกราน (Iliac) กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ (Sacrum) หลอดเลือดแดงใหญ่ (Aortic) และต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ (Inguinal lymph nodes)

หน้าที่ของมดลูก

มดลูกมีบทบาทสำคัญในวงจรการเจริญพันธุ์ การสืบพันธุ์ และการคลอดบุตร โดยภายในมดลูกมีเนื้อเยื่อที่เรียกว่า เยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเป็นผนังมดลูกชั้นในสุดที่ความหนาอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับระดับของฮอร์โมนที่มักเกิดขึ้นระหว่างรอบเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกจะเกิดกระบวนการก่อตัวของหลอดเลือดใหม่ (Vascularization) โดยหลอดเลือดขนาดเล็กจะขยายตัว และเยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมการฝังตัวของไข่ แต่หากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูกและไข่จะหลุดลอกออกและกลายเป็นประจำเดือน

เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ มดลูกจะเริ่มขยายตัวและผนังมดลูกจะบางลงเพื่อรองรับน้ำคร่ำและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมถึงปัสสาวะและสารคัดหลั่งของทารก ชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกจะบีบตัวและขยายออกเป็นระยะเพื่อเตรียมพร้อมคลอดบุตร หรือที่เรียกว่า อาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องหลอก (Braxton Hick Contraction) ซึ่งอาจทำให้มีอาการคล้ายกับปวดประจำเดือน

หลังจากคลอดบุตร มดลูกจะหดตัวเพื่อขับรกออกมา และยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มดลูกกลับมามีขนาดปกติและเพื่อห้ามเลือดที่ไหลออกมาในระหว่างคลอดบุตร

โรคเกี่ยวกับมดลูกที่พบบ่อย

โรคเกี่ยวกับมดลูกที่พบบ่อย มีดังนี้

  • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือ ช็อกโกแลตซีส (Chocolate Cyst) เป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเกิดขึ้นผิดตำแหน่ง เช่น ในรังไข่ หลังมดลูก ลำไส้ หรือในกระเพาะปัสสาวะ จนอาจทำให้มีอาการปวดที่หน้าท้องส่วนล่างหรือบริเวณอุ้งเชิงกราน เกิดภาวะมีบุตรยาก และประจำเดือนมามากกว่าปกติ
  • เนื้องอกในมดลูก (Uterine Fibroids) เป็นเนื้องอกไม่ร้าย หรือเนื้องอกที่ไม่กลายเป็นมะเร็ง พบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เนื้องอกจะเติบโตด้านในและรอบผนังมดลูกอย่างไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจทำให้มีอาการปวดท้อง ประจำเดือนมามาก ปัสสาวะบ่อย เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ปวดหลังส่วนล่าง เกิดภาวะมีบุตรยาก แท้งบุตรหลายครั้ง หรือคลอดก่อนกำหนด
  • ติ่งเนื้อมดลูก เป็นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อผนังมดลูก ขนาดที่พบอาจมีตั้งแต่เท่าเมล็ดงาไปจนถึงเท่าลูกกอล์ฟ ติ่งเนื้ออาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เลือดออกมาก และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต หรือไวรัสผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย หากเกิดในผู้หญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบรุนแรง และอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ด้วย
  • โรคมะเร็ง มะเร็งอาจเริ่มต้นในอวัยวะสืบพันธ์ุของผู้หญิงภายในกระดูกเชิงกราน ซึ่งเป็นบริเวณใต้ท้องและระหว่างกระดูกสะโพก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งในช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด
  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome : PCOS) เกิดขึ้นเมื่อรังไข่หรือต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ มักพบในผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วน ภาวะนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และอาจทำให้มีอาการปวดกระดูกเชิงกราน สิวขึ้น ผิวมัน มีรังแค ขนขึ้นมากบนใบหน้า หน้าอก ท้อง นิ้วหัวแม่มือ หรือนิ้วเท้า
  • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Interstitial Cystitis) ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะปัสสาวะ มีอาการปวดในกระเพาะปัสสาวะหรืออุ้งเชิงกราน ปัสสาวะบ่อย และอั้นปัสสาวะไม่ได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Uterus. https://medlineplus.gov/ency/imagepages/19263.htm#:~:text=The%20uterus%20is%20a%20hollow,between%20the%20bladder%20and%20rectum.&text=Once%20the%20egg%20has%20left,developing%20fetus%20prior%20to%20birth. Accessed November 4, 2021

Reproductive Health. https://www.cdc.gov/reproductivehealth/womensrh/healthconcerns.html. Accessed November 4, 2021

Uterus. https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-terms/def/uterus. Accessed November 4, 2021

The Uterus. https://teachmeanatomy.info/pelvis/female-reproductive-tract/uterus/. Accessed November 4, 2021

Uterus. https://radiopaedia.org/articles/uterus. Accessed November 4, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/02/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย กับปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง

อาหารบำรุงมดลูก


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา