backup og meta

ฟอกไต (Kidney Dialysis)

ฟอกไต (Kidney Dialysis)

ไต ทำหน้าที่ในการทำความสะอาดเลือด ด้วยการกำจัดของเสียและน้ำออกจากร่างกาย หากไตทำงานได้ไม่ถูกต้อง อาจต้องมีการ ฟอกไต (Kidney Dialysis) เพื่อช่วยการทำงานของไต

ข้อมูลพื้นฐาน

การ ฟอกไต (Kidney Dialysis) คืออะไร

ไต คือ อวัยวะคู่หนึ่งที่มีขนาดแต่ละข้างประมาณกำปั้น อยู่ที่กระดูกสันหลังทั้งสองด้าน มีหน้าที่ในการทำความสะอาดเลือด โดยการกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย หากไตทำงานได้ไม่ถูกต้อง อาจจำเป็นที่จะต้องมีการฟอกไต (Kidney Dialysis) เพื่อช่วยในการทำงานของไต

การฟอกไตมีสองชนิดดังนี้

  • ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ทำการฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม (dialyzer) และเครื่องฟอกไต (Dialysis machine)
  • ฟอกไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis): ทำการฟอกเลือดภายในร่างกาย หลังจากที่ภายในช่องท้องเต็มไปด้วยสารละลายพิเศษ สำหรับทำความสะอาด

ในปัจจุบันนี้มีคนจำนวนมากขึ้นทั่วทั้งโลก ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่เป็นโรคไตและจำเป็นต้องทำการฟอกไต

ความจำเป็นในการ ฟอกไต

หากไตของคุณทำงานได้ไม่ถูกต้อง เช่น เป็นโรคไตเรื้อรังขึ้นรุนแรง (โรคไตวาย) ไตของคุณอาจไม่สามารถทำความสะอาดเลือดได้อย่างถูกต้อง ทำให้ของเสียและน้ำส่วนเกินสะสมภายในร่างกายในระดับอันตราย

หากไม่รับการรักษา อาจทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์หลายประการ และสุดท้ายก็จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต การฟอกไต จะกรองเอาสารและน้ำที่ไม่ต้องการออกจากเลือด ซึ่งก่อนหน้านั้น แพทย์อาจจะช่วยให้คำแนะนำว่า คุณควรเริ่ม การฟอกไต เมื่อไหร่ โดยขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยด้านล่างนี้

  • สุขภาพโดยรวม
  • การทำงานของไต
  • สัญญาณและอาการ
  • คุณภาพชีวิต
  • ความชอบส่วนบุคคล

คุณอาจสังเกตเห็นสัญญาณและอาการของโรคไตวาย หรือยูเรเมีย (Uremia) เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน บวม หรือเหนื่อยล้า แพทย์อาจใช้อัตราการกรองของไต เพื่อวัดระดับการทำงานของไต ค่าของอัตราการกรองของไตนั้นคำนวนโดยใช้ผลการตรววจครีอะตินีนในเลือด (Blood creatininetest results) เพศ อายุ และปัจจัยอื่นๆ

ความเสี่ยง

ความเสี่ยงของการฟอกไต

แม้ว่าทั้ง การฟอกไต ทางช่องท้องและฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนั้นสามารถช่วยชีวิตของคุณได้ แต่ก็อาจจะมีความเสี่ยงบางอย่างได้

การฟอกไต ทางช่องท้องนั้นเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อตรงบริเวณที่ใส่ท่อสวนในช่องท้อง เช่น ผู้ที่เคยมีภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่เยื่อบุภายในผนังช่องท้องหลังจากที่ทำการใส่ท่อสายสวน (catheter) และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ มีดังนี้

  • กล้ามเนื้อช่องท้องอ่อนแรง
  • น้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากน้ำตาลเด็กซ์โทรส (Dextrose) ในน้ำยาฟอกเลือด (Dialysate)
  • น้ำหนักเพิ่ม

ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมก็อาจมีความเสี่ยงโดยเฉพาะดังนี้

  • ความดันโลหิตต่ำ
  • โลหิตจาง หรือมีเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่พอ
  • ตะคริว
  • นอนไม่หลับ
  • คัน
  • ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง
  • โรคซึมเศร้า
  • ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่เยื่อบุรอบ ๆ หัวใจ

หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ขณะที่ยังคงทำการฟอกไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ควรแจ้งให้ผู้ดูแลสุขภาพที่ทำ การฟอกไต ทราบ ผู้ที่ทำการฟอกไตในเวลานาน ยังอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ รวมไปถึงภาวะแอมีลอยโดซิส (Amyloidosis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดเมื่อระดับของโปรตีนแอมีลอยด์ที่สร้างขึ้นในไขกระดูกนั้นสะสมอยู่ในไต ตับ หัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ

สิ่งที่สำคัญคือควรทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อน ก่อนเริ่มกระบวนการนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษากับแพทย์หรือศัลยแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ขั้นตอน

การเตรียมตัวสำหรับ การฟอกไต

การเตรียมตัวสำหรับฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนั้น ใช้เวลาหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ก่อนเริ่มกระบวนการ

สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการฟอกไต

การฟอกไต เป็นการรักษาเพื่อช่วยชีวิตที่มีการใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อกำจัดของเสียที่อันตรายอย่างเกลือและน้ำส่วนเกินภายในเลือดออกไป ทำให้เลือดกลับมาเป็นปกติและมีสมดุลอย่างสุขภาพดี การฟอกไตนั้นทดแทนการทำงานที่สำคัญของไตหลาย ๆ ประการ

ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนั้นเป็นการฟอกไตที่พบได้มาก จะใช้เครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เพื่อกำจัดของเสียและสารเคมีภายในเลือด

เพื่อให้สามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย ศัลยแพทย์จะสร้างเส้นฟอกเลือด (Vascular access) เส้นฟอกเลือดนี้จะทำให้เลือดปริมาณมากไหลเวียนในร่างกายขณะที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ทำให้มีเลือดที่ถูกกรองให้สะอาดมากขึ้น

ระยะเวลาการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนั้นมักจะนาน 3 ถึง 5 ชั่วโมง และมักจำเป็นต้องทำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมการใช้เวลาสั้นกว่า และบ่อยกว่านั้น

การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมส่วนใหญ่มักทำในโรงพยาบาลหรือศูนย์ฟอกไต ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับขนาดตัวและปริมาณของเสียในร่างกาย

ฟอกไตทางช่องท้อง

ฟอกไตทางช่องท้องนั้นเกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเพื่อใส่ท่อสายสวนเข้าไปในบริเวณช่องท้อง ขณะที่ทำการรักษา จะใช้ของเหลวแบบพิเศษที่เรียกว่าน้ำยาฟอกไตใส่เข้าไปในช่องท้อง เมื่อน้ำยาฟอกไตนั้นได้ดึงของเสียออกมาจากกระแสเลือดก็จะถูกถ่ายออกจากช่องท้อง

ฟอกไตทางช่องท้องนั้นมีหลายประเภท แต่ประเภทหลัก คือ การฟอกไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง (Continuous ambulatory peritoneal dialysis) และการฟอกไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องด้วยเครื่อง (Continuous cycler-assisted peritoneal dialysis)

  • การฟอกไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง จะมีการเติมของเหลวและถ่ายออกวันละหลายๆ ครั้ง
  • การฟอกไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องด้วยเครื่อง จะใช้เครื่องที่หมุนเวียนน้ำยาล้างไตเข้าและออกจากช่องท้องมักทำในเวลากลางคืนขระที่คุณหลับ

ฟอกไตทางช่องท้องสามารถทำได้ที่บ้าน แต่คุณจำเป็นจะต้องได้รับการฝึกเกี่ยวกับขั้นตอนในการรักษาดังกล่าวนี้

หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษากับแพทย์หรือศัลยแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การพักฟื้น

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการฟอกไต

หลังจากที่คุณหยุดฟอกไต ไตของคุณจะค่อยๆ ล้มเหลวต่ออีกครั้ง คุณไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ โดยปราศจากไตที่สามารถทำงานได้อย่างน้อยหนึ่งข้าง เว้นเสียแต่ว่าคุณจะทำการปลูกถ่ายไต หากคุณไม่ทำการปลูกถ่ายไต ก็จะต้องทำ การฟอกไต ไปตลอดชีวิต

คุณอาจจำเป็นต้องปรึกษากับนักโภชนาการ เกี่ยวกับการปรับอาหารเพื่อเพิ่มพลังงานในร่างกาย

การออกกำลังกายเป็นประจำก็สามารถช่วยได้เช่นกัน หากคุณเหนื่อยล้า และกำลังทำการฟอกไต การเริ่มต้นโปรแกรมออกกำลังกายตามปกติอาจจะยากเกินไป แต่หากคุณมีความพยายาม คุณจะพบว่าการออกกำลังกายนั้นง่ายขึ้นเรื่อยๆ

การออกกำลังกายแอโรบิคระดับเบาจนถึงระดับปานกลาง เช่น การปั่นจักรยาน การวิ่ง การเดิน หรือการว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายดีที่สุด แพทย์จะแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคุณ

อาการน้ำหนักขึ้นนั้นอาจเป็นอาการแทรกซ้อนของฟอกไตทางช่องท้อง หากคุณกังวลว่าอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไป คุณควรปรึกษากับทีมผู้ทำ การฟอกไต ที่สามารถแนะนำวางแผนอาหารและการออกกำลังกายได้

หลีกเลี่ยงสูตรอาหารลดน้ำหนักที่อ้างว่า จะสามารถช่วยให้คุณลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว การอดอาหารอย่างหนักแบบนี้จะทำให้สารเคมีในร่างกายปั่นป่วน และทำให้คุณรู้สึกป่วยอย่างมาก

อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการฟอกไตทางช่องท้องสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยปกติแล้วจะทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า อาการเหนื่อยล้านั้นอาจเกิดได้จากการรวมกันของอาการเหล่านี้คือ

  • การทำงานของไตที่ไม่ปกติ
  • ผลกระทบของการฟอกไตต่อร่างกาย
  • การจำกัดอาหารที่เกี่ยวข้องกับการฟอกไต
  • ความเครียดและความวิตกกังวลโดยรวมที่ผู้ที่เป็นโรคไตวายหลายๆ คนประสบ

ผลข้างเคียงของฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีดังนี้

  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ภาวะพิษเพราะติดเชื้อ
  • เป็นไข้สูง 38 องศาเซียลเซียสขึ้นไป
  • เป็นตะคริว
  • คันที่ผิวหนัง
  • นอนไม่หลับ
  • ปวดที่กระดูกหรือข้อต่อ
  • สูญเสียความต้องการทางเพศ และหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ปากแห้ง
  • วิตกกังวล

ผลข้างเคียงของ การฟอกไต ทางช่องท้อง มีดังนี้

  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อบุช่องท้อง หรือภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  • ไส้เลื่อน
  • น้ำหนักขึ้น

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Kidney dialysis. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/kidney-dialysis#3-7. Accessed Mar 27, 2017.

Kidney dialysis. http://www.healthline.com/health/dialysis. Accessed Mar 27, 2017.

Kidney dialysis. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/hemodialysis/details/what-you-can-expect/rec-20229771. Accessed Mar 27, 2017.

Dialysis. http://www.nhs.uk/Conditions/Dialysis/Pages/Side-effects.aspx. Accessed Mar 27, 2017.

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/11/2021

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant)

ไต อวัยวะสุดพิเศษของร่างกาย ที่คุณอาจยังรู้จักไม่ดีพอ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 09/11/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา