เนื้องอกบนเส้นประสาทหูคืออะไร
เนื้องอกบนเส้นประสาทหู หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า Vestibular schwannoma เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง เนื้องอกนี้ส่งผลกระทบกับเส้นประสาทที่เชื่อมต่อจากหูไปยังสมอง เส้นประสาทนี้มีชื่อเรียกว่า เส้นประสาทคู่ที่ 8 (Vestibular nerve) เนื้องอกนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเซลล์ที่อยู่รอบๆ เส้นประสาทคู่ที่ 8 เซลล์เหล่านั้นเรียกว่าเซลล์ชวานน์ (Schwann Cells) หากเกิดเนื้องอกชนิดนี้ขึ้นมา อาจส่งผลให้สูญเสียการได้ยิน หูอื้อ เวียนหัว และมีปัญหากับการทรงตัว เนื้องอกนี้อาจเกิดในหูข้างเดียว หรือทั้งสองข้างเลยก็ได้
เนื้องอกบนเส้นประสาทหูพบบ่อยแค่ไหน
เนื้องอกบนเส้นประสาทหูเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคนที่มีอายุตั้งแต่ 30-60 ปี คุณสามารถลดอัตราเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกบนเส้นประสาทหูได้ ปรึกษาแพทย์เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติม
รู้จักกับอาการของโรค
เนื้องอกบนเส้นประสาทหูทำให้เกิดอาการอย่างไรบ้าง
อาการที่พบมากที่สุดในจำนวน 90% ของผู้ป่วยคือการสูญเสียการได้ยิน อาการจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนสูญเสียการได้ยินไปทั้งหมด อาการอื่นๆ ที่พบได้แก่ การสูญเสียสมดุลในการทรงตัว และอาการหูอื้อ (ได้ยินเสียงวิ้ง ๆ ในหู) นอกจากนี้ เนื้องอกอาจกดทับบนเส้นประสาท ทำให้ไร้ความรู้สึก เหน็บชาบนใบหน้า หรือเป็นอัมพาตที่ใบหน้า (ไม่สามารถแสดงสีหน้าใดๆ ได้) ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกินพื้นที่ในสมองก็จะทำให้ปวดหัว เดินเหินได้เชื่องช้างุ่มง่ามและสับสน นอกจากนี้อาจมีอาการอื่น ๆ อีกที่ไม่ได้กล่าวถึง หากมีข้อสงสัยเรื่องอาการของโรค โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติม
ควรไปพบหมอเมื่อไร
หากคุณมีอาการใดๆ ที่สื่อว่าจะเป็นเนื้องอกบนเส้นประสาทหู คุณควรไปโรงพยาบาลหรือพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยโรค รีบบอกแพทย์หากคุณรู้สึกทรมานกับอาการต่างๆ ได้แก่ การสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว ปัญหาการกลืน เหน็บชา ไร้ความรู้สึก ชาที่หน้าด้านใดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับอาการเวียนหัว ปวดหัว หรืออาการอื่นๆ
รู้จักกับสาเหตุของโรค
เนื้องอกบนเส้นประสาทหูเกิดจากอะไร
เนื้องอกบนเส้นประสาทหูเกิดจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเซลล์ชวานน์ (การเติบโตของเนื้องอก) ที่อยู่รอบ ๆ เส้นประสาทคู่ที่ 8 ซึ่งยีนบนโครโมโซมคู่ที่ 22 มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์เหล่านี้ เนื้องอกเกิดขึ้นเนื่องการยีนนี้ทำงานผิดปกติ แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่ทำให้ทราบได้ว่าสาเหตุที่ยีนทำงานผิดปกติคืออะไร ผู้วิจัยพบว่าเนื้องอกบนเส้นประสาทหูมีสองประเภท ประเภทแรกเกิดขึ้นกับหูข้างเดียวและไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม ส่วนประเภทที่สองเกิดขึ้นกับหูทั้งสองข้าง และเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งประเภทที่สองนี้มีความเกี่ยวเนื่องจากการทำงานผิดปกติของยีน เนื้องอกบนเส้นประสาทหูไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเนื้องอกบนเส้นประสาทหู
รู้จักกับปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยใดที่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกบนเส้นประสาทหู
มีปัจจัยเสี่ยงไม่กี่ปัจจัยที่ทำให้เกิดเนื้องอกบนเส้นประสาทหู ปัจจัยแรกคือพ่อแม่ของผู้ป่วยมีเนื้องอกบนเส้นประสาทหูประเภทที่สองซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของยีน อีกปัจจัยหนึ่งคือ การได้รับรังสีบริเวณศีรษะและคอในตอนเด็ก ปรึกษาแพทย์หากคุณคิดว่าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกบนเส้นประสาทหู
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลต่อไปนี้ไม่สามารถใช้แทนคำวินิจฉัยทางแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติม
วินิจฉัยเนื้องอกบนเส้นประสาทหูอย่างไร
ถ้าคุณมีอาการใดที่บ่งบอกว่าจะเป็นเนื้องอกบนเส้นประสาทหู แพทย์จะตรวจร่างกาย ตรวจเรื่องประสาท และทดสอบการได้ยิน การตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ สำคัญมาก แพทย์จะได้สแกน MRI หรือใช้ CT สแกน เพื่อตรวจหาเนื้องอกบนเส้นประสาทหู
การรักษาเนื้องอกบนเส้นประสาทหูเป็นอย่างไร
การรักษาเนื้องอกบนเส้นประสาทหูขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอกและระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น รักษาได้โดยการตรวจอย่างต่อเนื่อง การผ่าตัด และการฉายรังสี
หากเนื้องอกยังมีขนาดเล็ก และยังไม่เกิดอาการ วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือตรวจอย่างต่อเนื่อง แพทย์จะตรวจและทดสอบการได้ยินทุก ๆ 6-12 เดือน หากเริ่มเกิดอาการของโรค ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
การผ่าตัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการรักษา สำหรับเนื้องอกที่ยังมีขนาดเล็ก การผ่าตัดเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุด หากเนื้องอกขยายใหญ่ไปใกล้สมองและเส้นประสาทเฟเชียล (Facial nerves) การผ่าตัดจะเป็นวิธีที่เสี่ยงและอันตรายเกินไป ซ้ำยังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อันได้แก่
- น้ำหล่อเลี้ยงสมองรั่วไหลทางแผลที่เกิดจากการผ่าตัด
- สูญเสียการได้ยิน
- กล้ามเนื้อหน้าอ่อนกำลัง
- กล้ามเนื้อหน้าไม่มีความรู้สึก
- เกิดเสียงวิ้งในหู
- เกิดปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว
- การปวดหัวเรื้อรัง
- การติดเชื้อของน้ำหล่อเลี้ยงสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
วิธีรักษาที่ใช้ทดแทนคือการฉายรังสี เรียกว่า แกมมาไนฟ์ (Gamma knife radiosurgery) วิธีนี้จะใช้รังสีแกมมาที่มีความเข้มข้นสูงฉายไปยังเนื้องอกโดยตรงเพื่อลดขนาดของเนื้องอก ซึ่งวิธีนี้จะไม่ใช้กับเนื้องอกขนาดใหญ่ บางครั้งวิธีนี้อาจเป็นวิธีที่ดีกว่าหากผู้ป่วยมีอายุมาก สุขภาพไม่ดีนัก หรือมีเนื้องอกที่ส่งผลกระทบต่อหูทั้งสองข้าง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทราบวิธีการรักษาที่เหมาะสม
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
คุณควรสังเกตภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการกำจัดเนื้องอก เพราะเส้นประสาทที่ควบคุมเรื่องการได้ยิน การทรงตัว และเส้นประสาทส่วนหน้าอาจถูกตัดขาดไประหว่างผ่าตัด อย่างไรก็ตาม หากปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวิตดังวิธีต่อไปนี้จะช่วยไม่ให้เนื้องอกเติบโตขึ้น
- เข้ารับการตรวจเพื่อติดตามผลตามที่แพทย์นัดไว้
- ไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจโรค สังเกตอาการ และให้การรักษาเพื่อไม่ให้เนื้องอกเติบโตขึ้นอีก
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ใช้วิธีการรักษาแบบอีกนอกจากที่แพทย์รักษา หรือไม่ใช้ยาที่แพทย์สั่ง
หากคุณมีข้อสงสัย ปรึกษาแพทย์เพื่อทำทราบเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด