backup og meta

เรื่องที่ควรรู้ ก่อนการตรวจ เอกซเรย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 28/10/2020

    เรื่องที่ควรรู้ ก่อนการตรวจ เอกซเรย์

    เมื่อพูดถึงการตรวจร่างกายด้วยการเอกซเรย์ เราก็อาจจะคุ้นหู หรือเคยผ่านการตรวจด้วยวิธีนี้มากันบ้างแล้ว เพราะการตรวจเอกซเรย์นั้นมักจะรวมอยู่ในการตรวจสุขภาพประจำปีเสมอ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้วการตรวจเอกซเรย์นั้นทำไปเพื่ออะไร และมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง วันนี้ Hello คุณหมอ เลยจะพาทุกคนมารู้จักกับ การตรวจเอกซเรย์ เพื่อการทำความเข้าใจที่มากขึ้น เกี่ยวกับการตรวจเอกซเรย์

    การตรวจเอกซเรย์ คืออะไร

    การตรวจเอกซเรย์ (X-ray) คือการตรวจร่างกายชนิดหนึ่ง โดยการฉายรังสีเอกซเรย์ผ่านตัวผู้ป่วย เพื่อสร้างภาพภายในร่างกาย ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกายได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงมือผ่าตัดให้เกิดแผล การตรวจเอกซเรย์นี้มีใช้กันมาเป็นเวลาหลายสิบปี เนื่องจากเป็นวิธีการตรวจที่รวดเร็ว และไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวอีกด้วย

    เมื่อรังสีเอกซเรย์ถูกฉายผ่านร่างกาย รังสีนั้นก็จะถูกดูดซึมในอัตราที่แตกต่างกันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และเครื่องตรวจจับรังสีเอกซเรย์ ก็จะบันทึกภาพออกมาเป็นแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ ให้แพทย์สามารถใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคได้ โดยส่วนที่มีความหนาแน่นสูง เช่น กระดูก มักจะแสดงให้เห็นเป็นส่วนสีขาวในแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ ส่วนจุดที่ความหนาแน่นน้อยกว่า เช่น หัวใจ หรือปอด ก็จะแสดงเป็นส่วนสีดำ

    ประเภทของการตรวจเอกซเรย์

    การตรวจเอกซเรย์สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

    การถ่ายภาพรังสี (Radiography) เป็นการตรวจเอกซเรย์ที่พบได้มากที่สุด ใช้เพื่อฉายภาพในบริเวณกระดูก ฟัน และหน้าอก เป็นวิธีการตรวจที่ใช้รังสีเอกซเรย์น้อยที่สุด

    การตรวจเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปี (Fluoroscopy) เป็นการตรวจโดยการฉายภาพแบบเรียลไทม์ ใช้เพื่อตรวจดูการทำงานของลำไส้หลังจากกลืนสารแบเรียม (Barium) ลงไป จะใช้รังสีมากกว่าการถ่ายภาพรังสีเล็กน้อย

    การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ ซีทีสแกน (Computed tomography; CT) เป็นการตรวจโดยการให้ผู้ป่วยนอนลง และส่งเข้าเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะเป็นรูปวงแหวนอย่างช้า ๆ แล้วให้เครื่องจับภาพผู้ป่วยและสร้างขึ้นมาเป็นรูป 3 มิติ การตรวจด้วยวิธีการนี้จะใช้รังสีในปริมาณมากที่สุด เพราะต้องถ่ายหลายภาพในคราวเดียว

    การตรวจเอกซเรย์ ใช้เพื่ออะไร

    การตรวจเอกซเรย์นั้นจะอาจจะใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยปัญหาดังต่อไปนี้

    • เนื้องอก และก้อนมะเร็งต่าง ๆ
    • อาการกระดูกหัก หรือกระดูกเปราะ
    • ปัญหาเกี่ยวกับปอด เช่น โรคมะเร็งปอด หรือ ปอดอักเสบ
    • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจล้มเหลว
    • ตรวจการทำงานของลำไส้
    • ตรวจหาความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เช่น โรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis)
    • โรคมะเร็งเต้านม
    • ภาวะกลืนลำบาก

    นอกจากนี้ การตรวจเอกซเรย์ยังสามารถใช้เป็นแนวทางวินิชฉัยโรคสำหรับแพทย์หรือทันตแพทย์ ในกระบวนการรักษาอื่น ๆ เช่น การผ่าฟันคุด การดัดฟัน หรือการผ่าตัดอื่น ๆ ได้อีกด้วย

    ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการตรวจเอกซเรย์

    แม้ว่าการตรวจเอกซเรย์นั้นจะมีประโยชน์มากต่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรค แต่ก็อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เนื่องการจากการตรวจเอกซเรย์นั้นจะทำให้ร่างกายของผู้ป่วย ต้องสัมผัสกับสารรังสี แม้ว่าปริมาณของรังสีที่ใช้ในการตรวจเอกซเรย์นั้นจะมีน้อยมากจนปลอดภัยสำหรับคนปกติ แต่สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ การตรวจเอกซเรย์นี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นผู้ที่ตั้งครรภ์หรือผู้ที่สงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการตรวจเอกซเรย์ เพื่อที่แพทย์จะได้เลี่ยงไปตรวจด้วยวิธีการอื่น เช่น การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI)

    นอกจากนี้ ยังเป็นที่กังวลกันว่า การตรวจเอกซเรย์อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดโรคมะเร็งในภายหลัง แต่ความเสี่ยงนั้นยังมีค่อนข้างน้อย และมักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  • ปริมาณของรังสีที่ใช้
  • อายุของผู้ป่วย
  • เพศของผู้ป่วย
  • ส่วนที่ทำการตรวจเอกซเรย์
  • ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยอันอีกมาก ถึงจะสามารถสรุปได้ว่า การตรวจเอกซเรย์นั้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้จริงหรือไม่ ทางที่ดีผู้ป่วยจึงควรสอบถามข้อมูลจากแพทย์เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนการตรวจเอกซเรย์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 28/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา