backup og meta

ปลูกถ่ายเหงือก (Gum Tissue Graft)

ข้อมูลพื้นฐานความเสี่ยงขั้นตอนการผ่าตัดการพักฟื้น

ข้อมูลพื้นฐาน

การ ปลูกถ่ายเหงือก คืออะไร

การ ปลูกถ่ายเหงือก (Gum Tissue Graft) เป็นกระบวนการทางทันตกรรมประเภทหนึ่ง ที่ทำเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเหงือกร่น การปลูกถ่ายเหงือกนั้นจะนำเนื้อเยื่อเหงือกที่มีสุขภาพดี จากบริเวณส่วนฐานของเหงือก แล้วนำมาติดเข้ากับเหงือกส่วนที่เกิดความเสียหาย เพื่อทำให้เหงือกกลับมาดูสุขภาพดี และทำให้มีรอยยิ้มที่สวยมากขึ้น

การปลูกถ่ายเหงือกนั้นในบางครั้งอาจทำเพื่อความสวยความงาม ทำให้ฟันดูเรียงสวย สุขภาพดี และมีรอยยิ้มที่สวยงาม แต่ในบางครั้ง ก็อาจใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาช่องปาก สำหรับผู้ที่มีปัญหาเหงือกร่นอย่างรุนแรง จนรากฟันโผล่ออกมาจากเหงือก และทำให้โครงสร้างฟันไม่แข็งแรงได้เช่นกัน

ความจำเป็นในการปลูกถ่ายเหงือก

ทันตแพทย์มักจะแนะนำวิธีการปลูกถ่ายเหงือก สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเหงือกร่นอย่างรุนแรง ปัญหาเหงือกร่นนั้นหมายถึงการที่เหงือกเกิดการหดร่นลงไปจากฟัน จนทำให้สามารถมองเห็นรากฟันได้อย่างชัดเจน ปัญหาเหงือกร่นนี้อาจนำมาสู่การเกิดปัญหาฟัน ทำให้รากฐานฟันไม่แข็งแรง เสียวฟัน และมีโอกาสฟันผุได้ง่ายอีกด้วย

ความเสี่ยง

ความเสี่ยงของการปลูกถ่ายเหงือก

กระบวนการปลูกถ่ายเหงือกนั้นมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างต่ำ และมีโอกาสติดเชื้อได้น้อย แต่อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายเหงือกก็อาจจะมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อ
  • อาการปวด
  • อาการอักเสบ เหงือกบวม
  • รู้สึกเหมือนฟันโยกง่าย
  • เสียวฟันง่าย
  • ฟันห่าง มีช่องว่างระหว่างฟัน
  • อาการแพ้ยาชา

ในกรณีหายาก เนื้อเยื่อเหงือกที่นำมาปลูกถ่ายอาจจะไม่ยอมยึดติดกับเนื้อเยื่อเหงือกเดิม จนทำให้จะเป็นต้องทำการปลูกถ่ายเหงือกใหม่อีกครั้ง

หากลักษณะของเหงือกหลังจากการปลูกถ่ายเหงือกนั้นออกมาไม่สวย หรือไม่ถูกใจคุณ คุณอาจจะติดต่อทันตแพทย์เพื่อทำศัลยกรรมตกแต่งเหงือกเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

ขั้นตอนการผ่าตัด

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายเหงือก

การเตรียมตัวก่อนการปลูกถ่ายเหงือกนั้นไม่มีอะไรมาก เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาเพียงไม่นาน และผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้เลยหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการปลูกถ่ายเหงือก

หลังจากที่คุณปรึกษาทันตแพทย์จนแน่ใจแล้วว่า คุณต้องการทำการปลูกถ่ายเหงือก แพทย์ก็อาจจะให้คุณพิจารณาเลือกวิธีการปลูกถ่ายเหงือกประเภทต่าง ๆ เพื่อดูว่าวิธีไหนจะเหมาะสมกับคุณที่สุด จากนั้นจึงทำการนัดเวลาเพื่อทำการปลูกถ่ายเหงือก ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่สามารถพาตัวผู้ป่วยกลับบ้านมาด้วย

ขั้นตอนการปลูกถ่ายเหงือก

ขั้นตอนในการปลูกถ่ายเหงือกนั้น จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภท โดยขึ้นอยู่กับขอบเขต และระดับความเสียหายของเหงือกและฟัน แต่ทั้ง 3 ประเภทนั้นจะเริ่มต้นเหมือนกัน คือการฉีดยาชาในบริเวณที่จะทำการผ่าตัด และทำความสะอาดฟันและรากฟันในจุดที่จะทำการผ่าตัด จากนั้นจึงจะเริ่มขั้นตอนการปลูกถ่ายเหงือกตามแต่ละประเภท

ประเภทของการปลูกถ่ายเหงือกทั้ง 3 ประเภท มีดังนี้

การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue grafts)

  • แพทย์จะนำเนื้อเยื่อออกมาจากส่วนของเพดานปาก โดยตัดเอาเนื้อเยื่อถัดจากส่วนนอกสุดออกมา
  • แพทย์จะเย็บเนื้อเยื่อส่วนนั้นติดเข้ากับเนื้อเยื่อเหงือก ให้ครอบคลุมจุดที่สามารถมองเห็นรากฟันได้ทั้งหมด
  • หลังจากนั้นแพทย์ก็จะทำการเย็บปิดแผลบนบริเวณเพดานปากให้ติดกัน

การปลูกถ่ายแผ่นเหงือกอิสระ (Free gingival grafts)

วิธีการนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีเหงือกบาง และจำเป็นต้องใช้เนื้อเยื่อส่วนพิเศษเพื่อช่วยขยายให้เหงือกมีขนาดใหญ่ขึ้น

  • แพทย์จะนำชิ้นส่วนเนื้อเยื่อจากส่วนชั้นนอกสุดของเพดานปากออกมาโดยตรง
  • จากนั้นแพทย์จะยึดติดเนื้อเยื่อส่วนนั้นเข้ากับเหงือก เพื่อช่วยให้เหงือกมีความหนามากขึ้น

การปลูกถ่ายเหงือกแบบเลื่อนแผ่นเหงือก (Pedicle grafts)

  • แพทย์จะทำการปลูกถ่ายเหงือก โดยใช้เนื้อเยื่อเหงือกจากจุดใกล้ ๆ มาทำ
  • แพทย์จะตัดเปิดเนื้อเยื่อเหงือกเพียงบางส่วน โดยใช้ส่วนฐานยังคงยึดติดอยู่กับเหงือกเหมือนเดิม
  • แพทย์ดึงเนื้อเยื่อเหงือกส่วนที่ตัดออกขึ้นมาปิดรากฟัน จากนั้นจึงเย็บให้ติดกันสนิท

การพักฟื้น

หลังการปลูกถ่ายเหงือก

หลังเสร็จสิ้นการปลูกถ่ายเหงือก ผู้ป่วยสามารถกลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ในทันที โดยมีสิ่งที่ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการแปรงฟันหรือหรือไหมขัดฟันในบริเวณที่ทำการผ่าตัด
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่แพทย์กำหนด เพื่อช่วยลดการสะสมของคราบพลัค
  • งดการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ร้อนจัด เย็นจัด อาหารที่มีรสเผ็ด หรืออาหารแข็ง ๆ หันไปรับประทานอาหารนิ่ม ๆ เช่น ซุป ข้าวต้ม หรือโจ๊กแทน
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก
  • ใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด ไม่ควรใช้ยาแอสไพรริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกได้
  • แพทย์อาจจะให้คุณใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

หลังจากนั้นแพทย์อาจจะมีการนัดมาพบเพื่อดูอาการของแผล เพื่อดูว่าแผลฟื้นตัวได้ดีตามปกติหรือไม่ และมีสัญญาณของการติดเชื้อหรือเปล่า

ความเสี่ยงหลังการปลูกถ่ายเหงือก

ผู้ป่วยควรคอยสังเกตอาการของแผล เพื่อดูว่ามีสัญญาณของอาการติดเชื้อหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น

  • มีเลือดไหลไม่หยุด แม้ว่าจะกดแผลไว้แล้ว นานเกินกว่า 20 นาทีขึ้นไป
  • เหงือกมีอาการบวม ช้ำ และปวดอย่างรุนแรง
  • เป็นไข้
  • แผลมีหนอง

หากพบว่ามีควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อทำการรักษาในทันที

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gum Tissue Grafts https://www.webmd.com/oral-health/guide/gum-tissue-graft-surgery#1

How long does it take for a gum graft to heal? https://www.medicalnewstoday.com/articles/322115

Gum Tissue Graft: Why It’s Needed and What to Expect https://www.healthline.com/health/dental-and-oral-health/gum-graft#preparation

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/11/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัญหา เหงือกบวม จากการจัดฟัน จัดการได้

ตัดเหงือก (Gingivectomy)


ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดย ทีม Hello คุณหมอ · เขียน โดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไข 25/11/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา