backup og meta

ทางการจีนยกระดับเตือนภัย กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง หลังพบผู้ป่วยใน มองโกเลีย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 10/07/2020

    ทางการจีนยกระดับเตือนภัย กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง หลังพบผู้ป่วยใน มองโกเลีย

    เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 ทางการท้องถิ่นจีนได้ประกาศยกระดับการเตือนภัย กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (Bubonic Plague) เป็นระดับ 3 หลังพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง 1 ราย เป็นคนเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในเมืองบายันนูร์ ในเขตปกครองตนเอง มองโกเลีย ในซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของจีน และตอนนี้ผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่างถูกกักตัวและพักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยอาการยังคงที่

    กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในอดีตโรคนี้ได้ชื่อว่าเป็น กาฬมรณะ หรือ ความตายสีดำ (Black Death) ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และยุโรปไปมากกว่า 50 ล้านคนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 และถือว่าเป็นโรคระบาดที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเลยก็ว่าได้

    สาเหตุที่ทางการจีนประกาศยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 3 เนื่องจากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง ในมนุษย์จากเมืองบายันนูร์ เขตการปกครองตนเอง มองโกเลีย ซึ่งเป็นจุดที่พบการติดเชื้อเป็นแห่งแรก จึงเห็นสมควรที่จะยกระดับในการเฝ้าระวังและเพิ่มศักยภาพในการรับมือกับโรคนี้ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ป้องกันประชาชนในพื้นที่จากการแพร่ระบาดของโรคให้ได้มากที่สุด

    โดยทางการท้องถิ่นระบุว่า การยกระดับการเตือนภัยกาฬโรคในครั้งนี้จะมีผลจนถึงปีพ.ศ. 2564 และหากพบว่ามีการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตของมนุษย์และตัวมาร์มอต (Marmot) หรือที่เรียกว่ากระรอกดินหิมาลายัน ซึ่งเป็นกระรอกดินขนาดใหญ่ และต้องสงสัยว่าอาจเกิดจากโรคกาฬโรค จะต้องรีบแจ้งให้ทางการทราบทันที

    คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (National Health Commission) ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา มีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อกาฬโรคแล้ว 5 ราย โดยผู้ป่วย 1 รายจากมาจากมณฑลกันซู (Gansu Province) และเสียชีวิตจากโรคนี้ ส่วนผู้ป่วยอีก 4 ราย เป็นผู้ป่วยจากเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว

    อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ออกมาแถลงว่า การติดเชื้อกาฬโรคที่พบในครั้งนี้ยังอยู่ใน “ระยะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” และยังไม่ถือว่าเข้าขั้นเสี่ยงแพร่ระบาดอย่างรุนแรงแต่อย่างใด

    โดยนางมาร์กาเร็ต แฮร์ริส (Margaret Harris) โฆษกประจำองค์การอนามัยโลกเผยว่า โลกเราค้นพบกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองมานานกว่าศตวรรษ และที่ผ่านมาโรคนี้ก็ไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง และสำหรับการติดเชื้อที่พบในจีนครั้งนี้ก็ยังถือว่าสามารถควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ดี ยังไม่น่าเป็นกังวลแต่อย่างใด และถึงแม้ในอดีตโรคกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง จะถูกจัดให้เป็นโรคที่น่ากลัวมากโรคหนึ่ง แต่ในปัจจุบันก็สามารถรักษาได้ง่ายขึ้นมาก แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ แต่ก็ต้องให้ยาโดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งเริ่มรักษาเร็วเท่าไหร่ โอกาสหายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 10/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา