การเปลี่ยนผ่านจากช่วงวัยหนุ่มสู่วัยที่เริ่มสูงอายุมากขึ้น เป็นช่วงวัยที่อาจทำให้ผู้ชายจำนวนไม่น้อยเกิดภาวะที่เรียกกันว่า วิกฤตวัยกลางคน ซึ่งแม้สิ่งนี้จะไม่ใช่ “โรค” แต่ก็สามารถส่งผลเสียต่อทั้งการใช้ชีวิตและสุขภาพได้ โดยเฉพาะใน ผู้ชาย เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรเพิกเฉยเป็นอย่างยิ่ง
วิกฤตวัยกลางคนคืออะไร
คำว่า “วิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis)” เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1965 โดย อีเลียต ฌาคส์ นักจิตวิเคราะห์ชาวแคนาดา โดยมักนำมาใช้เพื่อระบุถึงช่วงเวลาในชีวิตของคนเรา ขณะเปลี่ยนผ่านจากวัยหนุ่มสาวเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งบอกเราว่าเวลากำลังจะผ่านเราไปแล้ว และกระตุ้นให้เราต้องประเมินสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราใหม่ และอาจเกิดผลกระทบทางอารมณ์หลายอย่าง ที่หากไม่สามารถรับมือได้ก็จะเกิดเป็น “วิกฤต” ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในแบบปัจจุบันทันด่วน
อย่างไรก็ตาม ดร.แดน โจนส์ ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและบริการด้านสุขภาพจิต ของมหาวิทยาลัย Appalachian Stateในเมืองบูน รัฐนอร์ธแคโรไลน่า ในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า วิกฤตวัยกลางคนไม่ใช่ภาวะโรคอย่างเป็นทางการ และวัยที่สามารถเกิดวิกฤตวัยกลางคนก็กว้างมาก โดยทั่วไปอยู่ในช่วงวัยตั้งแต่ 35-55 ปี แต่ก็อาจเกิดกับผู้ชายในวัยหกสิบก็เป็นได้
โดยทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ต่างก็สามารถเจอกับช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต หรือช่วงวัยวิกฤตได้เช่นเดียวกัน แต่การแสดงออกจะแตกต่างกัน หรือแม้แต่ในผู้ชายด้วยกันเอง ก็อาจมีการแสดงออกที่ต่างกันไปได้
ทำไม “วัยกลางคน” จึงเกิด “วิกฤต”?
ในช่วงวัย 35-55 ปี ผู้ชายมักพบกับแรงกดดันหลายอย่างในชีวิต การเลี้ยงดูครอบครัว ความรับผิดชอบในการทำงาน การสูญเสียญาติผู้ใหญ่ ที่กระตุ้นให้พวกเขาตระหนักว่า ความตายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากขึ้น แต่พวกเขาได้อุทิศชีวิตวัยหนุ่มของตัวเอง เพื่อเติมเต็มความต้องการของคนอื่นมากกว่าของตัวเอง และความฝันที่เคยมีในช่วงวัย 20 นั้น ก็ยังไม่อาจเป็นความจริงได้เลย
และในยุคโซเชียลมีเดียอย่างทุกวันนี้ มันก็ยิ่งง่ายดายมากยิ่งขึ้น ที่ผู้ชายจะได้เห็นภาพของเพื่อนสมัยเรียน ที่มีชีวิตอันน่าอิจฉา มีรถ มีบ้าน มีเงิน และครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งอาจกระตุ้นความรู้สึกสงสัยในตัวเองของผู้ชาย เพราะผู้ชายเป็นเพศที่มักมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จ และความปรารถนาที่จะพิสูจน์ความสำเร็จของตัวเองต่อคนอื่นรอบตัว
หรือแม้แต่สำหรับผู้ชายที่อยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพการงานแล้ว พวกเขาก็อาจเริ่มตั้งคำถาม กับสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยมีความหมายอย่างมากสำหรับเขา อาชีพการงาน ชีวิตแต่งงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์ เพื่อนฝูง ทุกอย่างที่เขาเคยชื่นชม และพยายามอย่างมากที่จะได้มา กลับทำให้เขาอึดอัด หลงทาง และไม่มั่นคง และเกิดการสงสัยในชีวิตของตัวเอง
นอกจากปัจจัยทางด้านอารมณ์เหล่านี้แล้ว ในผู้ชายบางคน ยังอาจเป็นส่วนผสมของปัญหาทางร่างกายควบคู่กันไป เนื่องจากผู้ชายจะเริ่มเจอกับการลดลงของเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในราวช่วงวัยเลขสาม และเทสโทสเตอโรนได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ชาย เช่น ทำให้รู้สึกอ่อนล้า ไม่มีสมาธิ ความแข็งแรงของร่างกายลดลง แรงขับทางเพศต่ำลง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ยิ่งทำให้ภาวะของวิกฤตวัยกลางคนร้ายแรงมากยิ่งขึ้น
อาการแบบไหนที่บ่งบอกถึง..วิกฤตวัยกลางคน ใน ผู้ชาย
ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่า ผู้ชายแต่ละคนอาจแสดงออกถึงภาวะวิกฤตวัยกลางคนต่างกันไป แต่อาการเหล่านี้อาจบอกได้ว่าเขากำลังเจอกับวิกฤตวัยกลางคน ซึ่งมีทั้งอาการทางร่างกายและจิตใจดังนี้
อาการทางร่างกาย
- ร่างกายใช้เวลานานขึ้นในการหายจากโรคภัยหรืออาการบาดเจ็บ
- การลดลงของความแข็งแรงของร่างกาย
- เริ่มน้ำหนักขึ้น และอาจมีกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง
- มีอาการอ่อนเพลียเป็นประจำ
- ความต้องการทางเพศลดลง
- มีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
อาการทางจิตใจ
- รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต หรือกังวลกับเรื่องทั่วๆ ไปอยู่ตลอดเวลา
- หงุดหงิดมากขึ้น เจ้าอารมณ์มากขึ้น
- ไม่สามารถตัดสินใจได้ดีเหมือนที่เคยเป็น
- รู้สึกตื่นตระหนกว่าชีวิตกำลังจะเริ่มถึงจุดจบในไม่ช้า
- ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจมาก่อน
- ไม่มีความสุขกับชีวิตตัวเอง
- อาการซึมเศร้า
นอกจากนี้ ผู้ชายที่อยู่ในภาวะวิกฤตวัยกลางคนยังอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กลับมามีพฤติกรรมเหมือนเด็กหนุ่มๆ การสนใจกับรูปลักษณ์และการแต่งกายมากขึ้น ชอบสังสรรค์มากขึ้น ดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ไม่สนใจครอบครัวหรือ นอกใจคู่ครอง ตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่นมากขึ้น
รับมืออย่างไรดีกับวิกฤตวัยกลางคน
การรับมือที่ดีที่สุดสำหรับภาวะวิกฤตวัยกลางคนก็คือ การรับรู้ถึงอาการต่างๆ และจัดการกับอาการเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มต้น
ในการรับมือกับอาการทางจิตใจด้วยตัวเอง การได้พูดอย่างเปิดใจกับคนใกล้ตัว ถึงสิ่งพวกเขารู้สึก และเหตุผลของอารมณ์เหล่านั้น สามารถช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ โดยครอบครัวหรือเพื่อน ยังควรช่วยชี้ให้พวกเขาเห็นว่า ชีวิตมีอะไรมากไปกว่าวัตถุหรืองานหรือสถานะทางสังคม
นอกจากนี้ ลองหาเรื่องสนุกๆ หรืองานอดิเรกทำร่วมกัน โดยให้เขาได้มีพื้นที่ซึ่งตัวเองต้องการบ้าง แต่ก็ปล่อยให้เขาแยกตัวหรืออยู่ตามลำพัง ให้เขารู้ว่ามีคนที่อยู่เคียงข้างเขา และพร้อมช่วยเขาเสมอ การช่วยให้เขาเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายก็จะช่วยให้ทั้งความรู้สึกสดชื่น และสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายในเวลาเดียวกัน
สำหรับอาการทางร่างกาย มีการศึกษาวิจัยที่ชี้ว่าการรับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนอาจช่วยได้ โดยการศึกษาของ Centre for Men’s Health ในลอนดอน รักษาผู้ชายกว่าสองพันคนด้วยเทสโทสเตอโรนมากว่า26 ปี ชี้ว่าผู้ชายส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์จากการรักษาด้วยเทสโทสเตอโรน การศึกษานี้ซึ่งเผยแพร่ใน Journal of the Ageing ประเมินว่า หนึ่งในห้าของผู้ชายอายุมากกว่า 50 มีปัญหากับการขาดเทสโทสเตอโรน และการศึกษาพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีการนี้
ดังนั้น ถึงแม้ภาวะวิกฤตวัยกลางคนอาจจะไม่ใช่ “โรค” แต่การเข้ารับความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นสิ่งที่สามารถช่วยให้คุณก้าวผ่าน “วิกฤต” นี้ไปได้ในที่สุด
[embed-health-tool-bmi]