backup og meta

แพ้อาหาร (Food Allergy)

แพ้อาหาร (Food Allergy)

คำจำกัดความ

แพ้อาหาร คืออะไร

แพ้อาหาร หรือการแพ้อาหาร (Food allergy) เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารบางชนิดเข้าไปได้ไม่นาน แม้จะรับประทานอาหารดังกล่าวในปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็อาจกระตุ้นให้เกิดสัญญาณเตือนและอาการต่างๆ ของการแพ้ได้ เช่น ความผิดปกติเกี่ยวกับการย่อยอาหาร ลมพิษ ทางเดินหายใจบวม

ในบางราย ภูมิแพ้อาหารอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง หรือแม้แต่อาการแพ้ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตที่เรียกว่า ภาวะแอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis) หรือปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงได้ด้วย

แพ้อาหารส่งผลต่อเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ประมาณร้อยละ 6-8 และส่งผลต่อผู้ใหญ่ถึงร้อยละ 3 และแม้จะไม่มีการรักษาให้หายขาดได้ เด็กบางรายอาจหายจากภูมิแพ้อาหารไปเองเมื่อมีอายุมากขึ้น

คนมักเข้าใจสับสนระหว่างภูมิแพ้อาหาร (food allergy) กับภูมิแพ้อาหารแฝง (food intolerance) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยกว่า ความแตกต่างก็คือ ภูมิแพ้อาหารแบบแฝงนั้น เป็นภาวะที่รุนแรงน้อยกว่าและไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย 

แพ้อาหารพบได้บ่อยแค่ไหน

การแพ้อาหารพบได้บ่อยมาก เกิดขึ้นได้ทุกวัย แต่จัดการได้โดยการลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของแพ้อาหาร

สำหรับบางราย อาการแพ้อาหารบางชนิดอาจทำให้รู้สึกไม่สบายและมีอาการไม่รุนแรง ในขณะที่บางคนอาจมีอาการแพ้อาหารรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการแพ้อาหารมักเกิดขึ้นภายในเวลา 2-3 นาที ไปจนถึง 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารที่ก่ออาการแพ้

สัญญาณเตือนและอาการที่พบได้มากที่สุดของการแพ้อาหาร ได้แก่

  • ปวดเสียวหรือคันในปาก
  • ลมพิษ อาการคัน หรือผื่นแดง
  • มีอาการบวมที่ริมฝีปาก ใบหน้า ลิ้น และคอ หรืออวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย
  • หายใจมีเสียงหวีด คัดจมูก หรือหายใจลำบาก
  • ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ หรืออาเจียน
  • เวียนศีรษะ มึนศีรษะ หรือเป็นลม

ในผู้ป่วยบางรายนั้น แพ้อาหารสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะแอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis) หรือ ภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ได้แก่

  • ทางเดินหายใจหดตัวและแน่น
  • คอบวมหรือรู้สึกมีก้อนในคอที่ทำให้หายใจลำบาก
  • มีอาการช็อกและความดันโลหิตลดลงอย่างรุนแรง
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • เวียนศีรษะ มึนศีรษะ หรือไม่รู้สึกตัว

เมื่อเกิดภาวะแอนาฟิแล็กซิส สิ่งสำคัญคือต้องรีบเข้ารับการรักษาฉุกเฉินทันที เพราะหากไม่ได้รับการรักษา ภาวะนี้อาจทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้

แพ้อาหารที่เกิดจากการออกกำลังกาย (Exercise-induced food allergy)

บางคนมีอาการแพ้อาหารที่เกิดจากการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารบางชนิดอาจทำให้รู้สึกคันและมึนศีรษะในเวลาไม่นานหลังจากเริ่มออกกำลังกาย หากในกรณีรุนแรง ภูมิแพ้อาหารที่เกิดจากการออกกำลังกายอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาบางประการ เช่น ลมพิษ ภาวะแอแนฟิแล็กซิส

การงดรับประทานอาหารเป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนออกกำลังกายและการหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดอาจช่วยป้องกันปัญหานี้ได้

อาการแพ้อาหารที่ปาก (Pollen-food allergy syndrome)

ในผู้ป่วยหลายรายที่เป็นไข้ละอองฟาง (hay fever) หากเยื่อบุปากไปสัมผัสกับผลไม้ ผักสด ถั่ว และเครื่องเทศบางชนิด อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ที่ทำให้คัน บวม หรือเจ็บที่ปาก ริมฝีปาก ด้านในลำคอ เพดานปาก หรือลิ้น และบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะแอนาฟิแล็กซิสได้เช่นกัน การปรุงผักและผลไม้ให้สุกก่อนรับประทานสามารถช่วยป้องกันภาวะนี้ได้

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่างๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากมีสัญญาณเตือนหรืออาการต่างๆ ของภาวะแอนาฟิแล็กซิส หรืออาการใดๆ ดังต่อไปนี้ ควรเข้ารับการรักษาฉุกเฉินทันที

  • ทางเดินหายใจหดตัวจนหายใจลำบาก
  • มีอาการช็อก และความดันโลหิตลดลงอย่างรุนแรง
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • เวียนศีรษะ หรือมึนศีรษะ

หากมีสัญญาณเตือนหรืออาการใดๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น หรือมีข้อคำถามใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ร่างกายคนแต่ละคนแสดงอาการแตกต่างกัน จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามอาการที่เกิดขึ้น

สาเหตุ

สาเหตุของแพ้อาหาร

แพ้อาหาร หรือการแพ้อาหาร เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาด โดยจะจำแนกอาหารหรือสารอาหารชนดใดชนิดหนึ่งว่าเป็นสิ่งอันตรายต่อร่างกาย จากนั้นระบบภูมิคุ้มกันจะกระตุ้นเซลล์ให้ปลดปล่อยแอนติบอดี้ที่เรียกว่า immunoglobulin E (IgE) เพื่อทำให้อาหารหรือสารในอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ (allergen) มีความเป็นกลาง

ครั้งต่อไปเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นแม้ในปริมาณเล็กน้อย แอนติบอดี IgE จะรับรู้ถึงอาหารนั้นและส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันปลดปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า ฮิสตามีน (histamine) รวมทั้งสารอื่นๆ เข้าสู่กระแสเลือด

สารเคมีเหล่านี้ทำให้เกิดสัญญาณเตือนและอาการแพ้อาหารต่างๆ ได้แก่ น้ำมูกไหล คันตา คอแห้ง ผื่นคันและลมพิษ คลื่นไส้ ท้องร่วง หายใจลำบาก และอาจมีอาการช็อกหากเกิดอาการแพ้มาก

การแพ้อาหารส่วนใหญ่ถูกกระตุ้น จากโปรตีนบางชนิดที่พบในอาหารต่อไปนี้

  • สัตว์น้ำมีเปลือก เช่น กุ้ง กุ้งมังกร ปู
  • ถั่ว
  • ถั่วที่เติบโตบนดิน เช่น ถั่ววอลนัท ถั่วพีแคน
  • ปลา
  • ไข่

ในเด็กนั้น การแพ้อาหารมักเกิดจากโปรตีนที่พบได้ใน

  • ไข่
  • นม
  • ถั่ว
  • ถั่วที่เติบโตบนดิน
  • ข้าวสาลี

มีปฏิกิริยาหลายประการที่คล้ายคลึงกับอาการแพ้อาหาร ขึ้นอยู่กับประเภทของภาวะภูมิแพ้อาหารแฝงที่เป็นอยู่ บางรายอาจรับประทานอาหารก่อภูมิแพ้ในปริมาณเล็กน้อยได้ โดยไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ แต่ในทางกลับกัน หากมีอาการแพ้อาหารจริง การรับประทานอาหารที่แพ้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้อาหารรุนแรงได้

เนื่องจากภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง อาจเกี่ยวข้องกับสัญญาณเตือนและก่อให้เกิดอาการบางอย่างที่เหมือนกับการแพ้อาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริว ท้องร่วง จึงอาจทำให้เกิดความสับสน

ประเด็นที่มักทำให้เกิดความสับสันในการวินิจฉัยภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง คือ บางรายไม่ได้มีความไวต่อตัวอาหารเองแต่มีความไวต่อสารหรือส่วนผสมในอาหาร

อาการที่มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าแพ้อาหาร ได้แก่

  • การขาดเอนไซม์ที่จำเป็นในการย่อยอาหาร

บางคนอาจมีเอนไซม์บางชนิดไม่เพียงพอต่อการย่อยอาหารบางประเภท เช่น มีเอนไซม์แลคเตสไม่พอจะไปลดความสามารถในการย่อยแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลหลักในผลิตภัณฑ์นม อาการแพ้น้ำตาลแลคโตสแบบแฝง (Lactose intolerance) จะทำให้เกิดอาการท้องอืด ตะคริว ท้องร่วง และมีแก๊สมากในท้อง

  • อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)

ในบางครั้ง อาการของภาวะอาหารเป็นพิษก็มีลักษณะคล้ายอาการแพ้อาหาร ปลาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรียในปลาทูน่าที่บูดเสีย อาจทำให้เกิดสารพิษที่กระตุ้นปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายได้

  • ความไวต่อวัตถุปรุงแต่งอาหาร (Sensitivity to food additives)

บางคนมีปฏิกิริยาในการย่อยอาหารและอาการอื่นๆ หลังได้รับวัตถุปรุงแต่งอาหารบางชนิด เช่น สารซัลไฟต์ (sulfite) ที่ใช้เก็บรักษาผลไม้แห้ง อาหารกระป๋อง และไวน์ สารเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดในผู้ที่มีความไวต่อวัตถุปรุงแต่งอาหารได้

หรือ วัตถุปรุงแต่งอาหารอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นปฏิกิริยาที่รุนแรง ได้แก่ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (monosodium glutamate หรือ MSG) หรือที่รู้จักกันในชื่อผงชูรส สารให้ความหวาน (artificial sweeteners) และสีผสมอาหาร (food colorings)

  • การเกิดพิษจากสารฮิสตามีน (Histamine toxicity)

ปลาบางชนิด เช่น ทูน่า ปลาแมคคอเรล ที่ไม่ได้แช่เย็นจะมีแบคทีเรียจำนวนมาก ที่อาจมีสารก่อภูมิแพ้ในระดับสูง ซึ่งจะกระตุ้นอาการคล้ายแพ้อาหาร แต่ไม่ใช่ปฏิกิริยาแพ้อาหาร ภาวะนี้จะเรียกว่าความเป็นพิษของสารก่อภูมิแพ้ หรือความเป็นพิษของสารพิษที่เป็นอันตรายในอาหาร (scombroid poisoning)

  • โรคเซลิแอค (Celiac disease)

แม้โรคนี้จะหมายถึงการแพ้สารกลูเตน (gluten allergy) แต่ก็ไม่ใช่ภูมิแพ้อาหารที่แท้จริง สิ่งหนึ่งที่โรคเซลิแอคเหมือนกับภูมิแพ้อาหารคือ ความเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ โรคเซลิแอค เป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันเฉพาะที่มีความซับซ้อนมากกว่าการแพ้อาหารธรรมดา

โรคนี้เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหารเรื้อรังซึ่งถูกกระตุ้นโดยการรับประทานสารกลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในขนมปัง พาสต้า คุกกี้ และอาหารอื่นๆ จำนวนมากที่มีส่วนผสมของข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือข้าวไรย์ หากผู้ป่วยเป็นโรคเซลิแอคและรับประทานอาหารที่มีสารกลูเตน ก็จะเกิดปฏิกิริยาต่อภูมิคุ้มกันซึ่งทำให้พื้นผิวลำไส้เล็กเสียหาย และไม่สามารถดูดซึมสารอาหารบางชนิดได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของการแพ้อาหาร

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับการแพ้อาหาร เช่น

  • ประวัติครอบครัว ทำให้มีความเสี่ยงในการแพ้อาหารมากขึ้นหากพบอาการหอบหืด ผื่นแดง ลมพิษ หรือภูมิแพ้ในครอบครัว
  • การแพ้อาหารในอดีต เด็กอาจมีอาการแพ้อาหารมากขึ้น แต่ในบางกรณี การแพ้อาหารอาจกลับมาเป็นซ้ำได้
  • ภูมิแพ้อื่นๆ หากแพ้อาหารประเภทหนึ่ง อาจเสี่ยงต่อการแพ้อาหารประเภทอื่นมากขึ้น และหากเป็นภูมิแพ้ประเภทอื่น เช่น ไข้ละอองฟาง ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้อาหาร
  • เป็นเด็ก การแพ้อาหารพบได้มากที่สุดในเด็ก โดยเฉพาะเด็กหัดเดินและทารก ในขณะที่เมื่อมีอายุมากขึ้น ระบบย่อยอาหารเจริญเต็มที่และร่างกายสามารถทนต่ออาหารที่ก่อการแพ้ได้ดีขึ้น สำหรับเด็กส่วนใหญ่ อาการแพ้นม ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และไข่ มักจะหายไปเองเมื่อโตขึ้น แต่การแพ้ขั้นรุนแรง การแพ้ถั่ว และการแพ้สัตว์น้ำมีเปลือกมักเกิดขึ้นตลอดชีวิต
  • เป็นโรคหอบหืด โรคหอบหืดและการแพ้อาหารมักเกิดขึ้นร่วมกัน และในกรณีนี้จะทำให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยต่างๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้รุนแรง (anaphylactic reaction) ได้แก่

  • มีประวัติเป็นหอบหืด
  • อยู่ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยเด็ก
  • ไม่ได้ใช้ยาเอพิเนฟรีน (epinephrine) รักษาภูมิแพ้อาหารตั้งแต่เนิ่นๆ
  • ไม่แสดงอาการลมพิษหรืออาการอื่นๆ เกี่ยวกับผิวหนัง

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยแพ้อาหาร

ไม่มีการตรวจมาตรฐานที่ใช้เพื่อยืนยันหรือหาสาเหตุของการแพ้อาหารได้ แพทย์ที่ทำการรักษาจะพิจารณาปัจจัยหลายอย่างก่อนทำการวินิจฉัย การดำเนินการดังต่อไปนี้อาจช่วยวินิจฉัยได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเพราะแพ้อาหาร หรือเกิดจากปัจจัยอื่น

  • การอธิบายอาการ ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติอาการของตนเอง รวมถึงชนิดและปริมาณอาหารที่ทำให้เกิดอาการ และหากทราบว่าสมาชิกในครอบครัวเป็นภูมิแพ้อาหารหรือภูมิแพ้อื่่นๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
  • การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายโดยละเอียด อาจช่วยระบุถึงสาเหตุของปัญหาสุขภาพได้
  • บันทึกการรับประทานอาหาร แพทย์ที่ทำการรักษาอาจให้ผู้ป่วยทำบันทึกการรับประทานอาหาร และอาการที่พบ
  • การตรวจทดสอบทางผิวหนัง เป็นวิธีทดสอบว่าผู้ป่วยมีภูมิแพ้ต่อสารชนิดต่างๆ หรือไม่ โดยการสะกิดผิวหนัง ในการตรวจนี้ แพทย์จะนำอาหารที่สงสัยว่าเป็นสารก่อภูมิแพ้ปริมาณเล็กน้อยวางลงบนผิวหนังบริเวณปลายแขนหรือแผ่นหลังของผู้ป่วย จากนั้นจึงใช้เข็มสะกิดผิวหนัง เพื่อให้สารทดสอบเข้าสู่ใต้ผิวหนัง หากแพ้สารชนิดใดชนิดหนึ่งที่ใช้ในการตรวจ จะเกิดปฏิกิริยา เช่น มีตุ่ม แต่โปรดให้ระลึกไว้ว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการตรวจนี้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะยืนยันการแพ้อาหารได้
  • การงดอาหาร ผู้ป่วยอาจถูกสั่งให้งดอาหารต้องสงสัยเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ จากนั้นจึงเพิ่มอาหารนั้นกลับเข้าไปในมื้ออาหารครั้งละหนึ่งชนิด กระบวนการนี้สามารถช่วยเชื่อมโยงอาการต่างๆ กับอาหารเฉพาะได้ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ได้ผลดีนัก
  • การตรวจเลือด สามารถตรวจวัดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่ออาหารเฉพาะได้ โดยการตรวจปริมาณแอนติบอดี้ประเภทที่ทำให้เกิดการแพ้อาหารในกระแสเลือดที่เรียกว่า แอนติบอดี้ immunoglobulin E (IgE) สำหรับการตรวจนี้ ตัวอย่างเลือดจะถูกส่งไปยังห้องแล็บ ซึ่งนำไปตรวจสอบกับอาหารประเภทต่างๆ อย่างไรก็ตาม การตรวจเลือดเหล่านี้ไม่ได้ผลแม่นยำเสมอไป
  • การทดสอบโดยให้ รับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ (oral food challenge test) แพทย์ผู้ทำการทดสอบ จะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ในปริมาณเล็กน้อย แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น หากผู้ป่วยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ในระหว่างเข้ารับการทดสอบ แพทย์อาจจะรวมอาหารชนิดนี้ไว้ในรายการอาหารที่รับประทานได้อีกครั้ง การทดสอบวิธีนี้ถือว่าแม่นยำที่สุด แต่ก็ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากเพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้
  • การทดสอบปัจจัยทางจิตวิทยาและปัจจัยทางร่างกาย เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ก็สามารถก่ออาการแพ้ได้ เช่น หากผู้ป่วยคิดและเชื่อว่าตัวเองไวต่ออาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็อาจเกิดการตอบสนองจากความคิดและเกิดปฏิกิริยาทางร่างกายได้ ซึ่งอาจไม่ใช่การแพ้อาหารที่แท้จริง แต่หากเคยมีปฏิกิริยาที่รุนแรงต่ออาหารมาแล้วในอดีต วิธีนี้อาจไม่ปลอดภัย

การรักษาแพ้อาหาร

หนทางเดียวที่จะป้องกันการแพ้อาหารได้ คือ การหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะพยายามที่สุดแล้ว ผู้ป่วยอาจได้รับอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้

สำหรับการแพ้อาหารที่ไม่รุนแรงนั้น ยาแก้แพ้ (antihistamines) ที่วางจำหน่ายทั่วไปหรือที่แพทย์สั่งอาจช่วยลดอาการต่างๆ ได้ โดยอาจใช้ยานี้เพื่อบรรเทาอาการคันหรือลมพิษหลังจากได้รับอาหารก่อภูมิแพ้ได้ อย่างไรก็ตาม ยาแก้แพ้ไม่สามารถรักษาการแพ้อาหารที่รุนแรงได้

สำหรับการแพ้อาหารที่รุนแรงนั้น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดสารเอพิเนฟรีนโดยด่วน และรีบเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ห้องฉุกเฉิน ผู้แพ้อาหารหลายรายพกเครื่องฉีดเอพิเนฟรีนอัตโนมัติ (epinephrine autoinjector หรือ EpiPen หรือ Twinject หรือ Auvi-Q) เครื่องมือนี้มีลักษณะเป็นกระบอกที่มีกระบอกบรรจุยาและเข็มฉีดยาซ่อนอยู่ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็อาจใช้เครื่องมือนี้ฉีดสารเอพิเนฟรีนเข้าที่ต้นขาได้ทันที

หากแพทย์สั่งให้ใช้เครื่องฉีดเอพิเนฟรีนอัตโนมัติ มีสิ่งที่ควรพิจารณาดังนี้

  • ผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดควรศึกษาวิธีใช้งานเครื่องฉีดเอพิเนฟรีนอัตโนมัติให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะหากอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และไม่สามารถใช้เครื่องมือนี้เองได้ ผู้ใกล้ชิดจะได้ช่วยทำหน้าที่นี้แทน  ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต 
  • ผู้ป่วยควรพกเครื่องฉีดเอพิเนฟรีนอัตโนมัติติดตัวไว้ตลอดเวลา และหากเป็นไปได้ ควรมีเครื่องฉีดเอพิเนฟรีนอัตโนมัติเก็บไว้ในรถหรือที่ทำงานด้วย
  • ผู้ป่วยตรวจเช็คสารเอพิเนฟรีนในเครื่องฉีดเสมอ หากหมดอายุหรือให้ไม่ได้ผลแล้ว ต้องเปลี่ยนใหม่ทันที

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับการแพ้อาหาร

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้จัดการการแพ้อาหารได้

  •  หมั่นอ่านฉลากอาหารเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารนั้นๆ ไม่มีส่วนผสมที่ผู้ป่วยอาจแพ้ได้ ในบางครั้ง ส่วนผสมในอาหารอาจเปลี่ยนไป ฉลากอาหารจะอธิบายอย่างชัดเจนว่ามีส่วนประกอบในอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ที่พบได้ทั่วไปใดๆ หรือไม่ จึงควรอ่านฉลากอาหารอย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงแหล่งของส่วนประกอบในอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ที่พบได้มากที่สุด ได้แก่ นม ไข่ ถั่ว ถั่วที่เติบโตบนดิน
  •  ปลา สัตว์น้ำมีเปลือก ถั่วเหลือง และข้าวสาลี
  • ความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้อาหารมักเพิ่มขึ้น เมื่อรับประทานอาหารที่ร้านอาหารหรืองานเลี้ยงต่างๆ คนส่วนมากไม่เข้าใจความรุนแรงของอาการแพ้อาหาร และอาจไม่ทราบว่าอาหารในปริมาณเล็กน้อยสามารถทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงในบางคนได้ หากสงสัยว่าอาหารอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้แพ้ ให้สอบถามผู้เกี่ยวข้องให้ชัดเจน
  • ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หากลูกมีอาการแพ้อาหาร ให้ขอความช่วยเหลือจากผู้ใกล้ชิด เช่น ญาติ พี่เลี้ยงเด็ก ครู ควรแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการแพ้อาหาร วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และข้อควรปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินให้ผู้ใกล้ชิดเข้าใจโดยละเอียดเพื่อให้พวกเขาช่วยเหลือ หรือช่วยป้องกันอาการแพ้ในระยะแรกได้ เช่น การล้างมืออย่างระมัดระวัง การทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่อาจสัมผัสกับอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้

งานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาอาการแพ้อาหารทางเลือกมีจำกัด อย่างไรก็ดี หลายคนลองใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้ และระบุว่าการรักษาบางประการได้ผล

  • ยาสมุนไพร (Herbal remedies)

การศึกษาขนาดเล็กจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับยาสมุนไพรได้ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์บางประการในการบรรเทาอาการและป้องกันอาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) ซึ่งได้แก่ ตำรับยาแผนจีน (Chinese medicine formulas) บางประการ

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือว่าตำรับยาดังกล่าวได้ผล นอกจากนี้ มีข้อกังวลเกิดขึ้นเกี่ยวกับคุณภาพของยาสมุนไพรปรุงสำเร็จบางรายการจากประเทศจีน ก่อนตัดสินใจใช้ยาสมุนไพรชนิด ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง เพราะยาสมุนไพรอาจส่งผลต่อผลการตรวจหรือทำปฏิกิริยากับยาอื่นๆ ที่ใช้อยู่

มีการวิจัยจำนวนเล็กน้อยเกี่ยวกับการฝังเข็มสำหรับการแพ้อาหาร และการศึกษายังไม่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชัดเจนจากเทคนิคการรักษาเหล่านี้ ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาภูมิแพ้อาหารด้วยการฝังเข็มหรือกดจุด ควรศึกษาข้อมูลให้ดี และต้องเข้ารับการรักษากับผู้ให้การรักษาที่มีประสบการณ์และได้รับการรับรอง

หากมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุด  

 

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Food Allergy. https://medlineplus.gov/foodallergy.html. Accessed October 26, 2021.

Food Allergy. http://acaai.org/allergies/types/food-allergy. Accessed October 26, 2021.

Food allergy. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/food-allergy/basics/definition/con-20019293. Accessed October 26, 2021.

Food allergy. https://www.nhs.uk/conditions/food-allergy/. Accessed October 26, 2021.

Food Allergy and Food Intolerance. https://www.webmd.com/allergies/food-allergy-intolerances. Accessed October 26, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/11/2021

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการแพ้นมวัว เป็นแบบไหน แตกต่างจากอาการแพ้แลคโตสอย่างไร

การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 04/11/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา