backup og meta

ตรวจมะเร็ง คัดกรองโรคเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

ตรวจมะเร็ง คัดกรองโรคเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

การตรวจมะเร็งมีจุดมุ่งหมายเพื่อตรวจความผิดปกติในร่างกาย เช่น การเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ เนื้องอก เพื่อทำการรักษาและป้องกันการพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ซึ่งอาจช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรค และอาจป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็ง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยให้สามารถตรวจพบสัญญาณของมะเร็งและทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

การตรวจมะเร็งมีอะไรบ้าง

การตรวจคัดกรองมะเร็งที่มีเป้าหมายเพื่อค้นหาเซลล์ที่ผิดปกติเพื่อการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องการกันลุกลามและกลายเป็นมะเร็ง มีดังนี้

การตรวจแมมโมแกรม (Mammography)

เป็นการทดสอบเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่ไม่แสดงอาการของโรค การตรวจเต้านม อาจเริ่มด้วยการคลำสัมผัสรอบ ๆ เต้านมเพื่อตรวจหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติ สามารถรับการตรวจด้วยคุณหมอหรือสามารถตรวจได้ด้วยตัวเองเป็นประจำ เพื่อหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบก้อนเนื้อที่ผิดปกติ ควรทำการตรวจด้วยแมมโมแกรมที่ โดยการเอกซเรย์ภาพเต้านมเพื่อตรวจหาเนื้องอกที่ไม่สามารถตรวจพบด้วยการคลำหรือสัมผัสหา นอกจากนี้ การตรวจแมมโมแกรมยังสามารถตรวจพบแคลเซียมที่สะสมอยู่ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม วิธีการตรวจคุณหมอจะถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมด้านละ 2 รูป ซึ่งฟิล์มเอกซเรย์ที่ออกมาจะแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของก้อนเนื้อและแคลเซียมที่สะสมในเต้านม

การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test)

สามารถใช้ทดสอบเพียงอย่างเดียวหรือใช่ร่วมกับการทดสอบหาเชื้อ HPV ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพิจารณาของคุณหมอ เพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นและป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ เพราะช่วยให้สามารถพบและรักษาเซลล์ที่ผิดปกติได้ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง โดยคุณหมอจะใช้เครื่องมือสอดผ่านและถ่างช่องคลอด จากนั้นจะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากมดลูกไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้เกิดมะเร็งได้

ตรวจฮิวแมนแพพพิลโลมาไวรัส (Human papillomavirus: HPV)

สามารถใช้ทดสอบหาเชื้อ HPV เพียงอย่างเดียวหรือใช่ร่วมกับการตรวจแปปสเมียร์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพิจารณาของคุณหมอ เพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นและป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นการตรวจในระดับโมเลกุลเพื่อหาเชื้อ HPV ความเสี่ยงสูงทั้ง 14 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โดยมีวิธีการตรวจเหมือนตรวจภายใน คุณหมอจะเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกหรือช่องคลอดด้านใน และส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ

การส่องกล่องตรวจลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

เป็นการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจากการตรวจลำไส้ใหญ่และส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรค เนื่องจากการทดสอบเหล่านี้สามารถตรวจพบการเจริญเติบโตของเนื้องอกที่ผิดปกติในลำไส้ใหญ่ ทำให้สามารถกำจัดออกก่อนที่เนื้องอกนั้นจะกลายเป็นมะเร็ง โดยวิธีการตรวจนั้น คุณหมอจะสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปในทวารหนักและลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเพื่อตรวจหาความผิดปกติ

การตรวจอุจจาระ

เป็นวิธีตรวจเพื่อหามะเร็งลำไส้ใหญ่ทุก 1 ปี โดยคุณหมอจะเก็บตัวอย่างอุจจาระจากผู้ป่วยเพื่อตรวจหาเม็ดเลือดแดงที่ปนออกมากับอุจจาระที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยเป็นการหาฮีโมโกลบินที่อยู่ในเม็ดเลือดแดงและสารทรานสเฟอร์ริน (Transferrin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเลือดที่มีความคงตัวสูง ทำให้ผลการตรวจมีความแม่นยำมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์

ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose helical computed tomography)

เป็นการทดสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยใช้ปริมาณรังสีต่ำเพื่อฉายให้เห็นภาพภายในปอด ใช้เพื่อตรวจหาความผิดปกติของปอดและเซลล์มะเร็งปอดตั้งแต่ในช่วงระยะแรกเริ่ม

การตรวจคัดกรองมะเร็งแบบอื่น ๆ

การตรวจอื่น ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็ง มีดังนี้

สารวัดสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ (CA-125 test)

เป็นการทดสอบเลือดเพื่อตรวจหาโปรตีน CA-125 ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบได้ในเซลล์มะเร็งรังไข่ การตรวจนี้อาจใช้สำหรับตรวจหาสัญญาณของมะเร็งรังไข่ในระยะแรกสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือใช้เพื่อประเมินการกลับมาเป็นซ้ำของผู้ที่เคยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ อย่างไรก็ตาม สภาวะอื่น ๆ เช่น การมีประจำเดือน ก็อาจส่งผลให้มีค่า CA-125 สูงได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรตรวจร่วมกับวิธีการตรวจอื่น ๆ เช่น การอัลตราซาวด์ช่องคลอด

การตรวจวัดระดับของอัลฟา-ฟิโต โปรตีนในเลือด (Alpha-fetoprotein blood test)

การทดสอบนี้ในบางกรณีใช้ทดสอบควบคู่กับการอัลตราซาวด์ตับ เพื่อตรวจหามะเร็งตับในระยะเริ่มต้นในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยคุณหมอจะเก็บตัวอย่างโปรตีนอัลฟา-ฟิโต (Alpha Fetoprotein: AFP) ไปทดสอบในห้องทดลอง ซึ่งเป็นโปรตีนที่จะถูกสร้างจากตับในตัวอ่อนขณะอยู่ในครรภ์มารดา และลดลงเมื่อคลอดออกมา แต่หากตับได้รับการบาดเจ็บ หรือเกิดมะเร็งขึ้น จะทำให้ระดับค่า AFP เพิ่มขึ้น

การตรวจวินิจฉัยเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Breast MRI)

การทดสอบนี้มักใช้ตรวจหามะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีการกลายพันธุ์ที่เป็นอันตรายในยีน BRCA1 หรือยีน BRCA2 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นมะเร็งเต้านม โดยคุณหมออาจให้ยาระงับประสาทอ่อน ๆ จากนั้นฉีดสีย้อมผ่านทางเส้นเลือดเพื่อทำให้มองเห็นเนื้อเยื่อหรือหลอดเลือดได้ง่ายขึ้นเมื่อทำการตรวจด้วย MRI ระหว่างการตรวจ MRI คุณหมอจะให้นอนคว่ำหน้าบนโต๊ะสแกนที่มีเบาะรอง หน้าอกจะพอดีกับโพรงกลวงในโต๊ะซึ่งมีขดลวดที่ตรวจจับสัญญาณแม่เหล็กจากเครื่อง MRI จากนั้นทั้งโต๊ะจะเลื่อนเข้าไปในช่องเปิดของเครื่องเพื่อเริ่มการตรวจ

การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเทคโนโลยีซีทีสแกน (Virtual colonoscopy)

การทดสอบนี้ช่วยให้ตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักจากภายนอกร่างกายได้ เพื่อตรวจหาปัญหาที่อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งจากนอกลำไส้ใหญ่ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง ซึ่งวิธีตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเทคโนโลยีซีทีสแกน จะสร้างภาพตัดขวางของอวัยวะในช่องท้องจำนวนหลายรูป จากนั้นรูปจะถูกรวมกันและจัดการแบบดิจิทัลเพื่อให้มองเห็นรายละเอียดด้านในของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

การตรวจผิวหนัง

การตรวจดูความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ไฝที่เปลี่ยนแปลง มีสีแดง มีอาการเจ็บปวด หรือไฝขยายใหญ่ขึ้น อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนังได้ คุณหมอมักแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังตรวจผิวหนังเป็นประจำ

อัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด

เป็นการทดสอบเพื่อฉายภาพรังไข่และมดลูก มักใช้ในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

แอนติเจนต่อมลูกหมาก (Prostate-Specific Antigen: PSA)

เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากเพื่อตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรก มักทำควบคู่ไปกับการตรวจทางทวารหนัก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้ผู้ชายส่วนใหญ่ทำการทดสอบ PSA เป็นประจำ เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากหลายชนิดที่ตรวจพบด้วยการทดสอบ PSA ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต

คำแนะนำสำหรับการตรวจมะเร็ง

เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็ง ควรเข้ารับการตรวจหามะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนี้

  • มะเร็งปากมดลูก ควรเริ่มเข้ารับการตรวจตั้งแต่อายุ 25-65 ปี และควรได้รับการตรวจเชื้อไวรัส HPV ทุก ๆ 5 ปี หรือการตรวจ Pap test ทุก ๆ 3 ปี สำหรับผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป หากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำและไม่พบความผิดปกติ อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจอีก
  • มะเร็งเต้านม หากเต้านมมีก้อนเนื้อใต้ผิวหนัง หรือลักษณะของเต้านมเปลี่ยนไป ควรรีบเข้ารับการตรวจหามะเร็งเต้านมทันที ผู้หญิงอายุ 40-54 ปีควรเริ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ด้วยแมมโมแกรม แต่หากเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 55 ปี ควรรับการตรวจแมมโมแกรมทุก ๆ 1 หรือ 2 ปี
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรเริ่มต้นการตรวจเมื่อายุ 45 ปี แต่หากอายุน้อยกว่าให้ประเมินความเสี่ยงของตนเอง หากมีความเสี่ยง เช่น ประวัติครอบครัวที่เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ พันธุกรรม การขับถ่าย หรืออื่น ๆ ควรเข้ารับการทดสอบทันที ควรทำการทดสอบจนถึงอายุ 75 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุ 76-85 ปีควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำข้อดีและข้อเสียก่อนตรวจ และผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี ไม่ควรได้รับการตรวจคัดกรองอีกเพราะอาจเสี่ยงต่อสุขภาพได้
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี หากเริ่มเข้ารับการตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปี และมีความเสี่ยงสูง เช่น พันธุกรรม ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อขอรับการตรวจและการรักษาเพิ่มเติม
  • มะเร็งปอด หากผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับประวัติการสูบบุหรี่และควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำเป็นประจำทุกปีเพื่อตรวจหามะเร็งปอดระยะเริ่มต้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Screening Tests. https://www.cancer.gov/about-cancer/screening/screening-tests. Accessed January 6, 2022

Screening Tests. https://www.cdc.gov/cancer/dcpc/prevention/screening.htm. Accessed January 6, 2022

Get Screened. https://www.cancer.org/healthy/find-cancer-early/get-screened.html. Accessed January 6, 2022

Cancer Screening Guidelines by Age. https://www.cancer.org/healthy/find-cancer-early/screening-recommendations-by-age.html#21-29. Accessed January 6, 2022

5 Major Cancer Screening Tests & When to Get Them. https://www.stamfordhealth.org/healthflash-blog/cancer/major-cancer-screenings/. Accessed January 6, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/01/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตรวจเลือดหามะเร็ง ทำอย่างไร ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

ตรวจเลือดหามะเร็ง ทำอย่างไร ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 14/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา