backup og meta

ฉายแสง มะเร็ง ปากมดลูก กับผลข้างเคียงและข้อควรระวังที่ควรรู้

ฉายแสง มะเร็ง ปากมดลูก กับผลข้างเคียงและข้อควรระวังที่ควรรู้

วิธีการ ฉายแสง เพื่อรักษา มะเร็ง ปากมดลูก ส่วนใหญ่แล้วจะใช้รังสีเอกซ์ เพื่อทำลายหรือฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยคุณหมอจะฉายรังสีไปยังบริเวณที่เซลล์มะเร็งอยู่ หรือบริเวณที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังบริเวณนั้น ๆ การฉายแสง อาจเกิดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อที่มีสุขภาพดีบริเวณรอบ ๆ บางส่วน และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น อ่อนเพลีย ขนร่วง ภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphoedema) ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะและลำไส้

[embed-health-tool-bmr]

ฉายแสง มะเร็ง ปากมดลูก ทำอย่างไร

วิธีการฉายแสงรักษามะเร็งปากมดลูก เป็นการใช้รังสีที่มีความเข้มข้นสูงฆ่าเซลล์มะเร็งหรือชะลอการเจริญเติบโต เมื่อเซลล์มะเร็งหยุดแบ่งตัวหรือตาย ร่างกายจึงจะกำจัดเซลล์ที่ถูกทำลายเหล่านั้นออกได้ การรักษา มะเร็งปากมดลูกด้วยการฉายแสงไม่ได้ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ในทันทีทันใด แต่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์

โดยก่อนทำการฉายแสงรักษามะเร็งปากมดลูก คุณหมอจะทำซีทีสแกน (CT Scan) หาตำแหน่งของมะเร็ง เพื่อที่จะได้ฉายแสงได้ตรงจุดและแม่นยำยิ่งขึ้น จากนั้นคุณหมอจะใช้เครื่องนำลำแสงยิงลำแสงไปยังบริเวณปากมดลูก ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่น ๆ ที่มีเซลล์มะเร็งอยู่ แล้วทำการฉายแสงเพื่อรักษาโรคมะเร็งในบริเวณนั้น

การฉายแสงในแต่ละครั้งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่ผู้ป่วยอาจจะต้องฉายแสงหลายครั้งในระยะเวลา 4-6 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งการรักษามะเร็งด้วยการฉายแสงเป็นการรักษาและช่วยบรรเทาอาการของโรคมะเร็ง เช่น อาการปวด อาการที่เกิดจากเนื้องอก ทั้งยังป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำหรือเจริญเติบโตใหม่ได้อีกด้วย

ผลข้างเคียงจากการ ฉายแสงรักษามะเร็งปากมดลูก

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยการฉายแสง อาจแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับปริมาณรังสี และระยะเวลาในการรักษา ซึ่งผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นระหว่างการรักษาอาจมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว และแม้ว่าอาการจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีผลกระทบบางอย่างกับร่างกายอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงบางอย่างอาจไม่ปรากฏ จนกว่าจะผ่านไปหลายเดือนหรือหลายปีหลังการรักษา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเรียกว่า ผลที่เกิดขึ้นในระยะยาวแบบเรื้อรัง

ผลข้างเคียงระยะสั้นจากการฉายแสงรักษามะเร็งปากมดลูก

ผลข้างเคียงระยะสั้นเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษา ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจมี ดังนี้

  • อ่อนเพลีย ในช่วงที่รักษาด้วยการฉายแสง ร่างกายจำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการต่อสู้กับผลกระทบของรังสีที่เกิดกับเซลล์ดีในร่างกาย ร่างกายจึงมักเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียในช่วงที่ทำการรักษา
  • ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ เป็นหนึ่งในผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉายแสง ซึ่งอาจส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น รู้สึกแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ และผู้ป่วยบางคนอาจมีการอุจจาระปนเลือดด้วย อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำมาก ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้
  • ผิวหนังแดง บวม และรู้สึกปวด การรักษาด้วยการฉายแสงอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีแห้งและคัน บางครั้งผิวหนังบริเวณนั้นอาจเกิดรอยแดง รู้สึกปวด และลอก
  • ขนร่วง การฉายแสงบริเวณที่มีขนอาจทำให้ขนบริเวณนั้น ๆ ร่วงได้ เช่น เมื่อฉายแสงบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจทำให้ขนบริเวณหัวหน่าวร่วง แต่หลังจากรักษาเสร็จขนก็จะกลับมาขึ้นเหมือนเดิม แต่อาจบางลง
  • ตกขาวเพิ่มขึ้น การรักษาด้วยการฉายแสงอาจทำให้มีตกขาวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากตกขาวมีกลิ่นที่รุนแรงหรือมีเลือดปนออกมาด้วย ควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที

ผลข้างเคียงระยะยาวจากการฉายแสงรักษามะเร็งปากมดลูก

ผลข้างเคียงระยะยาว คือ การอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อบริเวณที่ทำการฉายแสง ทำให้ร่างกายอาจเกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphoedema) การฉายแสงอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองและหลอดเลือดเป็นแผล จนส่งผลต่อการระบายน้ำเหลืองและอาจทำให้ขาบวมได้ ซึ่งภาวะบวมน้ำเหลืองอาจเกิดขึ้นได้หลายเดือนหรือหลายปี หลังการรักษาด้วย การฉายแสง
  • ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ การฉายแสงอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ได้รับผลกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น การเคลื่อนย้ายของเสียผ่านลำไส้ใหญ่เร็วขึ้น อั้นปัสสาวะไม่อยู่ ต้องเข้าห้องน้ำอย่างเร่งด่วนและบ่อยขึ้น
  • ช่องคลอดแคบลง หลังจากการฉายแสงอาจทำให้ช่องคลอดแห้ง สั้น และแคบลง หรือช่องคลอดตีบ ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์
  • ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ หากทำการฉายแสงขณะที่ยังมีรังไข่ รังสีอาจส่งผลกระทบต่อรังไข่ ทำให้รังไข่หยุดสร้างฮอร์โมน ส่งผลให้หมดประจำเดือนและเข้าสู่วัยทอง ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก
  • กระดูกเชิงกรานแตกหัก การฉายแสงบริเวณอุ้งเชิงกรานอาจทำให้กระดูกอ่อนแอลง จนทำให้เกิดการแตกหักได้ อาการนี้อาจไม่เกิดขึ้นเป็นเวลา 2-4 ปี หลังจากทำการรักษา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Radiation Therapy to Treat Cancer. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/radiation-therapy. Accessed on 20 April, 2021

Radiation therapy for cervical cancer. https://www.cancercouncil.com.au/cervical-cancer/treatment/radiotherapy/. Accessed on 20 April, 2021

Radiation Therapy for Cervical Cancer. https://www.cancer.org/cancer/cervical-cancer/treating/radiation.html. Accessed on 20 April, 2021

Cervical Cancer Treatment. https://www.radiologyinfo.org/en/info/cervical-cancer-therapy. Accessed on 20 April, 2021

รังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก. https://www.chulacancer.net/education-inner.php?id=388. Accessed on 20 April, 2021

Radiation therapy for cervical cancer. https://www.cancer.ca/en/cancer-information/cancer-type/cervical/treatment/radiation-therapy/?region=on. Accessed on 20 April, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/10/2023

เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

การรักษา มะเร็งปากมดลูกส่งผลต่อการตั้งครรภ์ อย่างไรบ้าง มาดูกันเลย

มะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 10/10/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา