มะเร็ง เป็นโรคร้ายแรงอันดับต้น ๆ อีกหนึ่งโรคที่ส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก โดยมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเภท ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย สัญญาณเตือนแรกของมะเร็งอาจสังเกตได้จากอาการไอเรื้อรัง ไข้ขึ้น เหงื่อออกมากโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน เหนื่อยล้า รับประทานอาหารลำบาก อาหารไม่ย่อย มีก้อนแข็งใต้ผิวหนัง
โรคมะเร็ง คืออะไร
โรคมะเร็ง คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ในร่างกายพัฒนาผิดปกติ และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนอาจกลายเป็นเนื้องอก เนื้อร้าย และเซลล์มะเร็งอาจลุกลามแพร่กระจายทำลายเนื้อเยื่อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น คลื่นไส้ ท้องร่วง ท้องผูก น้ำหนักลด เหนื่อยล้า หายใจลำบาก สารเคมีในร่างกายไม่สมดุล โรคหลอดเลือดสมอง ปวดศีรษะ ชัก
สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง
สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งแต่ละชนิดอาจแตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่อาจเกิดจากเซลล์ในลำไส้ใหญ่เกิดความผิดปกติทำให้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่จะควบคุมได้ จนพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง และอาจก่อตัวเป็นเนื้องอกหรือเนื้อร้าย ทั้งยังอาจทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบ และแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย มะเร็งชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบได้มากในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง เลือดออกทางทวารหนักและปะปนกับอุจจาระ ท้องร่วง ท้องผูก
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อายุที่มากขึ้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าอายุที่มากขึ้นมีความเชื่อมโยงอย่างไรกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่จากการตรวจคัดกรอง อาจพบได้มากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ที่อาจถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม
- ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคลำไส้อักเสบ ลำไส้ใหญ่บวม โรคอ้วน โรคหัวใจ
- ขาดการออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารไขมันสูง อาหารแปรรูป อาหารที่มีกากใยน้อย
- การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- โรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น
2. มะเร็งปอด สาเหตุหลักที่ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่ เนื่องจากสารในบุหรี่เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็งที่ทำลายเซลล์ เนื้อเยื่อในปอด ผู้ที่สูบบุหรี่ในช่วงแรกร่างกายอาจซ่อมแซมของเนื้อเยื่อปอดเหล่านี้ได้ตามธรรมชาติ แต่หากปล่อยทิ้งไว้เวลานานโดยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เนื้อเยื่ออาจสัมผัสกับสารก่อมะเร็งซ้ำ ๆ จนเซลล์ในปอดได้รับความเสียหายมากขึ้น ส่งผลให้เซลล์ทำงานผิดปกติและก่อให้เกิดเซลล์มะเร็ง ผู้ที่เป็นมะเร็งปอดอาจมีอาการไอ ไอเป็นเลือด เสียงแหบ หายใจถี่ เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ
อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่และผู้ที่ไม่ได้สูดดมควันบุหรี่ ในกรณีนี้อาจไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งโดยละเอียดจากคุณหมอ
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปอด
- ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งปอดที่อาจถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม
- การสูบบุหรี่ปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- การสูดดมควันบุหรี่ หรือสารก่อมะเร็ง เช่น นิกเกิล แร่ใยหิน ก๊าซเรดอน โครเมียม (Chromium)
- การฉายรังสีที่หน้าอกในระหว่างการตรวจหามะเร็งชนิดอื่น
3. มะเร็งตับ อาจเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในตับมีการเปลี่ยนแปลง เจริญเติบโตรวดเร็วจนควบคุมได้ยาก จนนำไปสู่การก่อตัวเป็นเนื้องอก คนส่วนใหญ่อาจไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้รู้สึกปวดท้องช่วงบน ท้องบวม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังและดวงตาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง อุจจาระเป็นสีขาว
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับ อาจเกิดจากสภาวะของโรคต่าง ๆ เช่น โรคไขมันพอกตับ โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง ภาวะธาตุเหล็กเกิน (Hemochromatosis) โรควิลสัน (Wilson’s disease) รวมถึงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ไวรัสตับอักเสบซี (HCV) ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับได้
4. มะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์บริเวณปากมดลูกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลให้สะสมเป็นก้อนแข็งหรือเนื้องอก และพัฒนาเป็นเซลล์มเร็งที่ทำลายเนื้อเยื่อรอบ ๆ ปากมดลูก ผู้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้นอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจมีอาการรุนแรงขึ้น โดยสังเกตได้จากสัญญาณต่าง ๆ เช่น เลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ ระหว่างรอบเดือน หรือช่วงวัยหมดประจำเดือน ตกขาวมีเลือดปนและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ปวดอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้ โรคเอดส์ การติดเชื้อเอชพีวี (HPV) โรคซิฟิลิส
- มีคู่นอนหลายคน อาจทำให้เสี่ยงต่อการได้รับโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- การสูบบุหรี่
- การใช้ยาป้องกันการแท้งบุตร เช่น ไดเอทิลสติลเบสทรอล (Diethylstilbestrol)
5. มะเร็งรังไข่ เกิดจากเซลล์ในรังไข่มีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบจนเกิดเป็นเนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งสามารถลุกลามไปที่เนื้อเยื่อในอวัยวะอื่น ๆ ได้ อาการของมะเร็งรังไข่อาจสังเกตได้จาก
- ท้องบวม
- ท้องผูก
- ปัสสาวะบ่อย
- ปวดหลัง
- เหนื่อยล้า
- รู้สึกอิ่มเร็ว
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งรังไข่
- อายุที่มากขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของยีนที่สืบทอดมาจากพันธุกรรมของคนในครอบครัว
- ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่
- ไม่เคยตั้งครรภ์
- การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัดสำหรับสตรีช่วงวัยหมดประจำเดือน
- มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน เพราะการมีน้ำหนักเกินอาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่
- ผู้ที่ที่เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย หรือถึงวัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้
6. มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งอีกชนิดที่พบได้บ่อย เกิดจากเซลล์ในต่อมลูกมากเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนสะสมให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง หากมีอาการปัสสาวะลำบาก มีเลือดปะปนในปัสสาวะและอสุจิ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปวดกระดูกควรเข้ารับการรักษาทันที
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก
- อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะอาจส่งผ่านทางพันธุกรรมไปสู่บุตรหลานได้
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน
7. มะเร็งเต้านม สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบได้บ่อยในผู้หญิง มีสาเหตุมาจากการที่เซลล์ในร่างกายแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดเป็นเนื้องอก และเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจแพร่กระจายไปยังบริเวณต่อมน้ำเหลืองและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ โดยสังเกตได้จากก้อนเนื้อบริเวณเต้านม เต้านมขยาย หัวนมพลิกหรือบุ๋มเข้าไปด้านใน สีผิวรอบเต้านมเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม
- เพศหญิง เนื่องจากมีแนวโน้มที่เสี่ยงเป็นมะเร็งบ่อยกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีจำนวนเซลล์เต้านมมากกว่า เมื่อเซลล์เจริญเติบโตผิดปกติจึงอาจก่อให้เกิดเซลล์มะเร็ง
- อายุที่มากขึ้น
- ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม และการกลายพันธุ์ของยีนที่ได้รับผ่านทางพันธุกรรม
- ปัญหาเกี่ยวกับเต้านม เช่น เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างเดียวมาก่อน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- การฉายรังสีบริเวณหน้าอกตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก
- ไม่เคยตั้งครรภ์
- มีบุตรในช่วงอายุมาก
- วัยหมดประจำเดือน และได้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน
- โรคอ้วน
- มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม
- เริ่มหมดประจำเดือนในช่วงอายุที่มาก อาจส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้
8. มะเร็งผิวหนัง เกิดจากเซลล์บนผิวหนังเจริญเติบโตผิดปกติ โดยอาจถูกกระตุ้นจากแสงแดด สารเคมี สารพิษ จนพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย เช่น หนังศีรษะ มือ ใบหน้า ริมฝีปาก คอ หู แขน หน้าอก ขา ส่งผลทำให้สีผิวคล้ำ มีก้อนเนื้อสีแดง ผิวหนังเป็นแผลและสะเก็ด รู้สึกแสบร้อนผิว อาการคัน
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผิวหนัง
- ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน
- ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งผิวหนัง
- ผู้ที่มีภาวะผื่นแอกทินิกเคอราโทซิส (Actinic Keratosis) คือ ภาวะก่อนเป็นมะเร็งที่เกิดจากการถูกทำลายเซลล์ผิวหนังส่งผลให้เกิดผื่น ผิวเป็นขุย
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- การสัมผัสกับรังสีที่ใช้รักษาปัญหาผิว เช่น กลาก สิว
- สัมผัสกับสารอันตราย เช่น สารหนู
9. มะเร็งเม็ดเลือดขาว แม้จะยังไม่อาจทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่คาดว่าอาจมาจากการพัฒนาร่วมกับการกลายพันธุ์ของยีนที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีไขกระดูกคอยสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติออกมาจำนวนมาก อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่พบได้บ่อย อาจสังเกตได้จาก
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- มีไข้
- หนาวสั่น
- อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
- ปวดกระดูก
- น้ำหนัดลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เลือดออกและฟกช้ำง่าย
- จุดแดงบนผิวหนัง
- เหงื่อออกมากช่วงเวลากลางคืน
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น อาการดาวน์ซินโดรม
- การสัมผัสกับสารเคมี เช่น สูบบุหรี่ เบนซินที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
- ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มีประวัติการรักษามะเร็งก่อนหน้านี้ด้วยเคมีบำบัด การฉายรังสี
10. มะเร็งต่อมไทรอยด์ พบได้บ่อยในช่วงอายุ 30-60 ปี โดยผู้หญิงอาจมีแนวโน้มเป็นมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของยีนที่ทำให้เซลล์เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ก่อตัวเป็นเนื้องอกและทำลายเนื้อเยื่อรอบ ๆ ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อก้อนเนื้อเริ่มโตขึ้นอาจทำให้รู้สึกกลืนอาหารลำบาก เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และมีก้อนที่คอ ซึ่งอาจสัมผัสได้ผ่านทางผิวหนังด้านนอก
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมไทรอยด์
- การสัมผัสกับรังสีที่ใช้ในรักษาบริเวณศีรษะ และคอมาก่อน
- สภาวะของโรค เช่น เนื้องอกบริเวณต่อมไร้ท่อ กลุ่มอาการคาวเดน (Cowden’s Syndrome) โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Familial Adenomatous Polyposis) โรคอ้วน โรคอะโครเมกาลี (Acromegaly)
- อายุและเพศ ถึงแม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ผู้หญิงอาจมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์มากกว่าผู้ชายมากกว่า 3 เท่า ส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 40-50 ปี
วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง
วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง อาจทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควรเลือกอาหารที่อุดมด้วยผัก ผลไม้ โปรตีนที่มีไขมันต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี และจำกัดการบริโภคอาหารแปรรูป
- ควบคุมน้ำหนัก เพราะหากน้ำหนักมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้ และออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที
- หลีกเลี่ยงการตากแดดมากเกินไป เนื่องจากรังสียูวีอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ควรหมั่นทาครีมกันแดด หรือสวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยป้องกันแสงแดด
- เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากสารในบุหรี่อาจส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งปอดรวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่จำกัด สำหรับผู้หญิงควรบริโภควันละ 1 แก้ว ส่วนผู้ชายควรบริโภควันละ 2 แก้ว หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
- ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ โดยขอคำปรึกษาจากคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยด้วยวิธีที่เหมาะสม
- ฉีดวัคซีนตามกำหนด เนื่องจากไวรัสบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก การฉีดวัคซีนจึงอาจช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับไวรัสและช่วยลดความเสี่ยงนี้