backup og meta

10 วิธีรักษาสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

10 วิธีรักษาสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

การรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันมะเร็งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่รักษาสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ น้ำหนักเกิน การสัมผัสกับแสงแดดจัดหรือสารพิษ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย และอาจเพิ่มโอกาสการเกิด มะเร็งได้ การรักษาสุขภาพโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต จึงอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง และช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้อย่างยั่งยืน

10 วิธีรักษาสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง

1.     เลิกสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่และการสูดดมควันบุหรี่มือสองอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด ปาก คอ กล่องเสียง หลอดลม ตับอ่อน เลือด หลอดอาหาร กระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ตับ และไต เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งที่อาจสร้างความเสียหายให้กับดีเอ็นเอ ส่งผลต่อการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติและพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้

การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นการรักษาสุขภาพที่ดีที่อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานอาจมีอาการติดสารนิโคติน จึงทำให้การเลิกบุรี่อาจเป็นไปได้ยาก ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการเลิกบุหรี่และการบำบัดเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

2.     หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในปริมาณที่มากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งปากและลำคอ กล่องเสียง เต้านม ตับ ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เนื่องจากร่างกายจะย่อยสลายแอลกอฮอล์เป็นสารเคมีแอซีทาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) ที่ทำลายดีเอ็นเอและขัดขวางการซ่อมแซมของร่างกาย ส่งผลให้เซลล์เติบโตผิดปกติและพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้ จึงควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงเป็นมะเร็ง คือ ในผู้หญิงไม่ควรเกิน 1 แก้ว/วัน และในผู้ชายไม่เกิน 2 แก้ว/วัน เช่น เบียร์ 12 ออนซ์ ไวน์ 5 ออนซ์ หรือสุรากลั่น 1½ ออนซ์

3.     รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นส่วนสำคัญในการบำรุงสุขภาพและลดความเสี่ยงของมะเร็งได้ ดังนั้น จึงควรเลือกอาหาร ที่มีวิตามิน แร่ธาตุ เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้มีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยต้านการอักเสบ ป้องกันความเสียหายของเซลล์และเนื้อเยื่อ และยังสำคัญต่อกระบวนการทำงานของร่างกาย เช่น การย่อยอาหาร ช่วยสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อ

นอกจากนี้ ควรรับประทานสารอาหารอื่น ๆ  อย่างโปรตีน คาร์โบไฮเดรต เพื่อเพิ่มพลังงานและสร้างเสริมสุขภาพทั้งกล้ามเนื้อ กระดูกและอื่น ๆ อาหารแคลอรี่ต่ำและไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมไขมันต่ำ ผักและผลไม้หลากสี ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว และควรจำกัดอาหาร จำพวกเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป เครื่องดื่มผสมน้ำตาล และอาหารแปรรูปที่ทำจากแป้ง เพราะอาหารเหล่านี้มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาล และโซเดียม ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิต คอลลสเตอรอลในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง

เคล็ดลับการรับประทานอาหารให้ได้ประโยชน์ในหนึ่งมื้อ คือควรเน้นรับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้หลากสี และธัญพืชเต็มเมล็ด เลือกรับประทานปลา สัตว์ปีก หรือถั่วเป็นแหล่งโปรตีนหลักแทนเนื้อหรือเนื้อสัตว์แปรรูป หรือลดปริมาณการรับประทานเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ รวมถึงเนื้อแปรรูปเพื่อสุขภาพทางเดินอาหารและลดความเสี่ยงของมะเร็งได้

4.     ควบคุมน้ำหนัก

การมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งได้หลายชนิด ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เต้านม ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มดลูก ถุงน้ำดี ท้องส่วนบน ไต ตับ รังไข่ ตับอ่อน ไทรอยด์ สมอง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว เนื่องจากการมีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงการอักเสบของเนื้อเยื่อเป็นระยะเวลานาน จนอาจพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

การควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ที่เหมาะสมอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งด้วยการวัดน้ำหนัก ส่วนสูง และค่า BMI ให้อยู่ในเกณฑ์ 18.5 – 22.90 เสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน และรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมไขมันต่ำ

5.     ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก เสริมสร้างสุขภาพ กล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นและลดการอักเสบของเนื้อเยื่อได้ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ โดยควรเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายในระดับความเข้มขนปานกลาง เช่น แอโรบิค ว่ายน้ำ เดินเร็ว อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรืออาจเพิ่มการออกกำลังกายแบบความเข้มข้นสูงร่วมกับระดับความเข้มข้นปานกลางได้อีกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการสูบฉีดเลือดในร่างกายที่ดียิ่งขึ้น

6.     นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับอาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการช่วยป้องกันมะเร็ง แต่การนอนหลับอย่างเพียงพอนั้นส่งผลดีต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เนื่องจากในระหว่างการนอนหลับสนิทร่างกายสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและพักฟื้นจากความเหน็ดเหนื่อยตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลายความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ จึงอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้

7.     ป้องกันแสงแดด

แสงแดดอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ เนื่องจากในแสงแดดมีรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet : UV) ที่เป็นอันตรายต่อผิวและอาจทำให้ผิวไหม้ แสบร้อน ผิวแดง และอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารในช่วงที่มีแดดจัด คือประมาณ 11.00-15.00 น. แต่หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารควรปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF30 ขึ้นไปทุกครั้ง ใช้หมวกปีกกว้างหรือกางร่มเพื่อปกป้องผิวบริเวณใบหน้า ใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว และสวมแว่นกันแดด เพื่อช่วยป้องกันผิวหนังจากการถูกแสงแดดทำร้าย

8.     หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อหรือการสัมผัสกับสารพิษที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็ง เช่น

  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน และควรใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็ง เช่น
    • ติดเชื้อเอชไอวี อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งทวารหนัก ตับและปอด
    • ติดเชื้อ HPV อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูก ทวารหนัก องคชาต ลำคอ ช่องคลอด และช่องคลอด
  • อย่าใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากอาจนำไปสู่การติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งตับ

นอกจากนี้ สารพิษในสิ่งแวดล้อม เช่น แร่ใยหิน (Asbestos) เบนซิน (Benzene) อะโรมาติก เอมีน (Aromatic amines) และโพลีคลอริเนต ไบฟีนิล (Polychlorinated biphenyls : PCBs) อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้เช่นกัน ดังนั้น หากประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสารพิษ  เช่น โรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันตามคำแนะนำของสถานปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด

9.     รับการฉีดวัคซีน

การติดเชื้อไวรัสบางชนิดอาจเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งได้ การเข้ารับวัคซีนจึงเป็นวิธีรักษาสุขภาพที่อาจช่วยป้องกันมะเร็งได้ ดังนี้

  • วัคซีนป้องกันไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human papillomavirus : HPV) ควรเริ่มฉีดในเด็กหญิงและเด็กชายอายุ 11 และ 12 ปี เพื่อป้องกันไวรัสที่สามารถทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งอวัยวะเพศอื่น ๆ รวมถึงมะเร็งสความัส (Squamous) ที่ศีรษะและลำคอ
  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี แนะนำสำหรับบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ป้องกัน ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ที่ใช้ยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงโรคมะเร็งตับ

10.   ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

การตรวจร่างกายและตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดต่าง ๆ เป็นประจำ เช่น มะเร็งผิวหนัง ลำไส้ใหญ่ ปากมดลูก เต้านม อาจทำให้สามารถค้นพบมะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการรักษามะเร็งและอาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ โดยควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างน้อยทุก ๆ 1-2 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็ง ควรเข้ารับการตรวจบ่อยครั้งเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนที่อาจกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cancer prevention: 7 tips to reduce your risk. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/cancer-prevention/art-20044816. Accessed January 5, 2022

Diet and Physical Activity: What’s the Cancer Connection?. https://www.cancer.org/cancer/cancer-causes/diet-physical-activity/diet-and-physical-activity.html. Accessed January 5, 2022

Rick factors and cancer. https://www.cdc.gov/cancer/risk_factors.htm. Accessed January 5, 2022

The 10 commandments of cancer prevention. https://www.health.harvard.edu/newsletter_article/the-10-commandments-of-cancer-prevention. Accessed January 5, 2022

How to prevent cancer or find it early. https://www.cdc.gov/cancer/dcpc/prevention/index.htm. Accessed January 5, 2022

Healthy choices. https://www.cdc.gov/cancer/dcpc/prevention/other.htm. Accessed January 5, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/01/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีตรวจมะเร็ง ด้วยเทคนิคทางการแพทย์

วัคซีนมะเร็ง ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้จริงหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 12/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา