backup og meta

คอดํา เบาหวาน เกี่ยวข้องกันอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่

คอดํา เบาหวาน เกี่ยวข้องกันอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่

คอดํา เบาหวาน เป็นผื่นผิวหนังที่เกิดเนื่องจากภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นอาการหนึ่งที่พบได้ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว โดยเมื่อมีภาวะดื้ออินซูลิน ตับอ่อนจะถูกกระตุ้นให้ต้องผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น และอินซูลินที่เพิ่มขึ้นกว่าปกตินี้จะกระตุ้นให้การผลิตเซลล์ผิวหนังและเม็ดสีเมลานินเพิ่มขึ้นผิดปกติตามไปด้วย จึงทำให้ผิวหนังบริเวณคอ รักแร้ ข้อพับ และขาหนีบ หนาและดำคล้ำขึ้น อย่างไรก็ตาม คอดํา เบาหวานเป็นภาวะสุขภาพที่ไม่มีวิธีรักษาโดยตรง แต่เน้นรักษาที่สาเหตุเป็นหลัก คุณหมออาจแนะนำให้ดูแลตัวเอง หรืออาจใช้ยาที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว ซึ่งอาจช่วยให้อาการคอดำจางลง

[embed-health-tool-bmi]

สาเหตุของอาการ คอดำ เบาหวาน

อาการคอดํา หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรคผิวหนังช้าง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน พันธุกรรม โรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาคุมกำเนิด รวมทั้งผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ที่สำคัญคือ ภาวะดื้ออินซูลิน ที่พบได้ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่2 และผู้ที่เป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ  

ภาวะดื้ออินซูลินทำให้ตับอ่อนต้องผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้น และอินซูิลินที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกตินี้จะไปกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนเเละผลิตเม็ดสีเมลานินซึ่งเป็นสารที่มีสีดำเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดปื้นสีดำที่คอ

อาการ คอดํา เบาหวาน เป็นอย่างไร

อาการ คอดำ คือ ผื่นสีดำคล้ำที่มักเกิดขึ้นบริเวณคอด้านหลังของผู้ป่วย โดยสีผิวบริเวณดังกล่าวมักจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีผิวปกติไปเป็นสีน้ำตาล จนกลายเป็นปื้นดำ หนาเเละหยาบกร้าน ในผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกคันและมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย

นอกจากผื่นดำที่บริเวณคอแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานอาจพบผื่นดำคล้ำลักษณะเดียวกันนี้ในบริเวณอื่นได้ด้วย เช่น ขาหนีบ ข้อพับ รักแร้ ใบหน้า 

ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติดังกล่าว โดยเฉพาะหากอาการคอดำเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาเพิ่มเติม

คอดํา เบาหวานรักษาอย่างไร

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษาอาการคอดำที่ได้ผลชัดเจน แต่จะเน้นไปที่การรักษาสาเหตุเป็นหลัก เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน การลดน้ำหนักในผู้ที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยผื่นจะค่อย ๆ จางลงได้เอง อย่างไรก็ตาม มีการรักษาเพื่อความสวยงามที่อาจช่วยให้ผื่นจางลงได้ ดังนี้

  • การทายา ยาที่มีส่วนประกอบของสารเตรติโนอิน (Tretinoin) กรดอนุพันธ์วิตามินเอ ยูเรีย (Urea) วิตามินดี กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids) หรือกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว อาจช่วยให้ผื่นดำดูจางลงได้
  • การทายาผลัดเซลล์ผิว ยาที่มีส่วนผสมของกรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic Acid) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว ทำให้ผิวหนังชั้นนอกหลุดลอก กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ จึงอาจทำให้ผื่นจากลงเเละเรียบเนียนขึ้น
  • การรับประทานยาเรตินอยด์ (Retinoids) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบของผิวและอาจช่วยให้อาการคอดำจางลงได้ เช่น ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) อะซิเตรติน (Acitretin)
  • อเล็กซานไดร์ท เลเซอร์ (Alexandrite Laser) เป็นเลเซอร์ชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการช่วยสลายเม็ดสีเมลานินในชั้นผิวหนัง จึงช่วยทำให้ผื่นจางลงได้

คอดํา เบาหวาน ป้องกันได้อย่างไร

อาการคอดำ สามารถป้องกันได้ด้วยการควบคุมเบาหวานเเละควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เพราะภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของผื่นคอดำ

ทั้งนี้ การควบคุมน้ำหนักอาจทำได้โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที โดยอาจเเบ่งเป็นวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จำกัดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในเเต่ละวันไม่ให้มากจนเกินไป หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจำพวกเเป้งหรือน้ำตาล และไขมัน ไม่ว่าจะเป็นเค้ก คุกกี้ น้ำอัดลม น้ำผลไม้เติมน้ำตาล เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีเเคลอรีสูง ทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ การนอนดึกหรือนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของภาวะดื้ออินซูลิน โดยมีงานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine ปี พ.ศ. 2558 พบว่า การอดนอน 1 คืน อาจส่งผลให้เซลล์ในร่างกายดื้ออินซูลินได้เทียบเท่าการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นเวลา 6 เดือน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

“โรคอ้วน” พังชีวิต! ผุด “โรคผิวหนัง” ตามติด. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%99-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87/. Accessed July 20, 2022

Acanthosis nigricans. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acanthosis-nigricans/symptoms-causes/syc-20368983. Accessed July 20, 2022

Acanthosis nigricans. https://dermnetnz.org/topics/acanthosis-nigricans. Accessed July 20, 2022

DIABETES: 12 WARNING SIGNS THAT APPEAR ON YOUR SKIN. https://www.aad.org/public/diseases/a-z/diabetes-warning-signs#:~:text=A%20dark%20patch%20(or%20band,skin%20condition%20is%20acanthosis%20nigricans. Accessed July 20, 2022

Skin and Acanthosis Nigricans. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acanthosis-nigricans-overview. Accessed July 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/01/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารเบาหวานในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง

รักษาเบาหวานให้หายขาด ได้หรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา