เท้าบวม เบาหวาน หรือเท้าเบาหวาน เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวานเมื่อผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และสะสมในเส้นเลือดมากขึ้นทำให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่ดีจนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเนื้อเยื่อที่เท้าได้เพียงพอ ของเหลวจะเข้าไปสะสมอยู่ตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ เช่น ขา ข้อเท้า เท้า จนทำให้เกิดอาการบวมขึ้น นอกจากนี้ บาดแผลที่เท้าและการติดเชื้ออาจส่งผลทำให้เกิดอาการเท้าบวมได้เช่นกัน หากมีบาดแผลที่เท้าหรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ควรเข้ารับการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน
สาเหตุของอาการเท้าบวม เบาหวาน
เท้าบวมจากเบาหวาน อาจเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ ที่ผู้ป่วยเบาหวานพบบ่อยและส่งผลต่อเท้า ดังนี้
โรคหลอดเลือดตีบ
โรคเบาหวานส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด ทำให้เส้นเลือดต่างๆ แข็งตัวและขาดความยืดหยุ่น จากการสะสมของน้ำตาลและไขมันในเส้นเลือด จนทำให้หลอดเลือดแดงตีบหรืออุดตันเรื้อรัง ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเนื้อเยื้อบริเวณเท้าได้อย่างเพียงพอ หากผู้ป่วยเบาหวานเกิดบาดแผลที่เท้าจะส่งผลให้แผลหายช้าหรือแผลอาจไม่สมานตัว เนื่องจากหลอดเลือดตีบจนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเนื้อเยื่อที่เท้าเพื่อรักษาแผลได้ จนอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น เท้าบวม ตะคริว ปวด แผลเปื่อย สีผิวที่เท้าเปลี่ยน ในกรณีรุนแรงเมื่อเลือดไหลเวียนได้น้อยลงอาจทำให้มีอาการเจ็บปวด ติดเชื้อ กลายเป็นเนื้อตาย คุณหมออาจต้องรักษาด้วยการตัดเนื้อเยื่อบริเวณเนื้อตาย นิ้วเท้า หรือรุนแรงถึงขั้นตัดขา
โรคระบบประสาทจากเบาหวาน
โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานอาจทำลายเส้นประสาทจนทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีการรับรู้ความรูสึกที่เท้าเปลี่ยนแปลงไป หลากหลายรูปแบบตั้งแต่ เจ็บปวด ระคายเคืองหรือชา ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งหากเป็นการชาที่รุนแรงนั้น จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่รู้สึกเจ็บปวดเมื่อมีบาดแผล จนนำไปสู่การติดเชื้อรุนแรงที่เท้าได้ จึงอาจทำให้ไม่รู้ตัวว่าได้รับบาดเจ็บบริเวณเท้า นำไปสู่ความเสี่ยงทำให้แผลอักเสบ พุพอง เท้าบวม หรือติดเชื้อเพิ่มขึ้น ในกรณีที่แผลติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาจนเกิดเป็นแผลพุพองและเนื้อตายเน่า และการรักษาในระยะท้าย ๆ อาจลงเอยด้วยการตัดนิ้วเท้าหรือการตัดขา
อาการเท้าเบาหวาน
อาการเท้าเบาหวานอาจแตกต่างกันไปในแต่บุคคล ดังนี้
- สูญเสียความรู้สึกที่เท้า เท้าชา
- รู้สึกเสียวซ่าหรือเจ็บปวด
- มีแผลพุพองหรือบาดแผลอื่น ๆ ที่ไม่มีอาการปวด หรืออาจเป็นเนื้อตาย
- สีผิวเปลี่ยนแปลง เท้าอุ่นขึ้น
- มีเส้นสีแดงที่ผิวหนัง
- ขยับนิ้วเท้าลำบาก
อาการเท้าเบาหวานที่อาจติดเชื้อ มีดังนี้
- มีไข้ หนาวสั่น
- น้ำตาลในเลือดสูง หรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
- ผิวแดง
- มีอาการช็อก ตัวสั่น
การรักษาเท้าเบาหวาน
การรักษาเท้าเบาหวานอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ดังนี้
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
หากอาการเท้าจากเบาหวานยังไม่รุนแรงมาก คุณหมออาจแนะนำการรักษาด้วยวิธีการดูแลสุขภาพเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผล หรือหากมีบาดแผลคุณหมออาจสั่งยาและแนะนำการล้างแผลที่สามารถทำได้เองที่บ้าน
นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้สังเกตอาการเนื้อตายที่เท้าหรือนิ้วเท้า หากอาการเท้าเบาหวานเกิดขึ้นเป็นเวลานานจนสังเกตเห็นเนื้อตาย คุณหมออาจพิจารณาให้ผ่าตัด
การรักษาด้วยการผ่าตัด
หากผู้ป่วยมีอาการเท้าบวมรุนแรงขึ้นหรือมีเนื้อตาย คุณหมออาจรักษาด้วยวิธีเหล่านี้
- การผ่าตัดหลอดเลือด เพื่อขยายหลอดเลือดแดงให้เลือดสามารถไหลเวียนเพื่อเลี้ยงเนื้อเยื่อเท้าได้ ช่วยลดอาการเท้าบวม รักษาสุขภาพเท้า ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
- ผ่าตัดเนื้อเยื่อส่วนที่เน่าตาย เพื่อลดการลุกลามของเชื้อไปยังส่วนอื่นของเท้า
- ตัดขา หากอาการเท้าบวมรุนแรงขึ้นจนมีภาวะเนื้อตาย เน่า คุณหมออาจพิจารณาตัดนิ้วหรือเนื้อเยื่อส่วนที่ตาย เพื่อป้องกันการลุกลามของเนื้อตายมากขึ้น
การดูแลเท้าเบาหวาน
การดูแลสุขภาพเท้าของผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันบาดแผล อาการเท้าบวม และอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนี้
- จัดการกับโรคเบาหวาน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือดเนื่องจากบางครั้งต้องดูค่าไตรกลีเซอไรด์ ควบคุมน้ำหนักตัวให้สมดุล เพื่อลดความเสี่ยงหลอดเลือดแดงตีบตันและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ตามมาเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มสูงขึ้น โดยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เลือกอาหารที่มีเส้นใย เช่น ผักผลไม้ ธัญพืช อาหารที่มีไขมันและแคลอรี่ต่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ตรวจเท้าทุกวัน ทั้งฝ่าเท้า หลังเท้า นิ้วเท้า เพื่อดูบาดแผลที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว โดยสังเกตจากจุดแดง อาการบวม ตุ่มน้ำ เล็บขบ ผิวหนังแข็ง น้ำกัดเท้า เป็นต้น หากพบบาดแผลที่เท้าควรรีบพบคุณหมอทันทีเพื่อทำการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น ป้องกันแผลติดเชื้อและลุกลาม
- ล้างเท้าทุกวัน ด้วยสบู่และน้ำเพื่อทำความสะอาดกำจัดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ จากนั้นเช็ดเท้าให้แห้งและทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น หลีกเลี่ยงการล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน เพราะผู้ป่วยเบาหวานผิวแห้งกว่าปกติ การแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นอาจทำให้ผิวแห้งเกินไปและเกิดบาดแผลได้
- ตัดเล็บเท้าให้สั้นและตรง จากนั้นตะไบเล็บให้เรียบ หลีกเลี่ยงการตัดมุมเล็บเพราะอาจทำให้เล็บที่งอกใหม่แทงผิวหนังข้างเล็บได้
- สวมรองเท้าและถุงเท้าตลอดเวลา เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่เท้า ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาที่เท้าทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดเมื่อเหยียบของมีคมทำให้เกิดบาดแผล การสวมถุงเท้าและรองเท้าจึงอาจช่วยป้องกันความเสี่ยงนั้นได้ นอกจากนี้ ควรเลือกรองเท้าให้พอดีกับเท้าในขณะนั้น เพราะผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการเท้าบวม การใส่รองเท้ารัดแน่นอาจทำให้รองเท้ากัด เกิดแรงกดทับจนเกิดบาดแผลได้
- เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปที่เท้า ด้วยการยกเท้าขึ้นสูงเล็กน้อยเมื่อนั่ง บริหารเท้าด้วยการขยับเท้าและนิ้วเท้า 2-3 นาทีเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นด้วยการเดิน ออกกำลังกาย เล่นโยคะ
- งดการสูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
[embed-health-tool-bmi]