backup og meta

อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง

    อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนฮิวแมน พลาเซนต้า แลกโตรเจน (Human Placental Lactogen หรือ HPL) ซึ่งผลิตมาจากรก ส่งผลทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน นำไปสู่ระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ โดยส่วนมากแล้ว คุณแม่มักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แสดงให้ทราบ จนหากเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ๆ อาจทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ ปากแห้ง และอยากอาหารมากเป็นพิเศษ หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาคุณหมอโดยเร็วที่สุด เพราะนอกจากจะส่งผลต่อตัวคุณแม่แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ โดยเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกคลอดยากกว่าปกติ คลอดก่อนกำหนด หรือเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้

    เบาหวานขณะตั้งครรภ์คืออะไร

    ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หมายถึง การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติในช่วงระหว่างที่ตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ โดยฮอร์โมนจากรกและฮอร์โมนอื่น ๆ อีกหลายชนิดมีระดับเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต้านฤทธิ์กับฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้คนท้องบางรายมีระดับในเลือดสูงขึ้น และทำให้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ตามมา

    ทั้งนี้ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักหายได้เองหลังคลอด เนื่องจากระดับฮอร์โมนกลับสู่ปกติ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลลดลงกลับสู่ภาวะปกติตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ส่งผลต่อสุขภาพทั้งของคุณแม่และทารกในครรภ์ รวมทั้งหลังคลอดแล้ว คุณแม่อาจเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากกว่าผู้หญิงที่อายุเท่า ๆ กัน จึงแนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำอย่างน้อยทุก ๆ ปี เพื่อเป็นการคัดกรองเบาหวานอยู่เสมอ

    ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีดังนี้

    • เป็นโรคอ้วน หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 22.9
    •  
    • มีภาวะก่อนเบาหวาน หรือมีระดับน้ำตาลในเลือด (หลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง) ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • มีประวัติเคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
    • มีประวัติเคยคลอดทารกน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
    • มีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน

    อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง

    โดยส่วนใหญ่แล้ว คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ   จะทราบว่ามีภาวะนี้ ก็ต่อเมื่อด้รับการตรวจคัดกรองระดับน้ำตาลในเลือด อย่างไรก็ตาม ในบางรายหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมาก อาจทำให้เกิดอาการดังนี้

    • ปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำบ่อย เนื่องจากไตทำการขับน้ำตาลส่วนเกินออกมาในรูปของปัสสาวะ จึงส่งผลให้มีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้น และเมื่อมีการเสียน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะมากขึ้น สมองจึงกระตุ้นให้รู้สึกกระหายน้ำ เพื่อให้ดื่มน้ำทดแทนส่วนที่เสียไป
    • ผิวแห้งและปากแห้ง เนื่องจากมีน้ำตาลในเลือดสูงทำให้เกิดการสูญเสียน้ำดังเหตุผลที่กล่าวด้านบน จึงอาจทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายขาดน้ำด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เซลล์ผิวหนังและเซลล์ที่ริมผีปากสูญเสียความชุ่มชื้น ส่งผลให้เกิดอาการผิวแห้งและริมผีปากแห้งได้  
    • รู้สึกหิวบ่อย ความอยากอาหารเพิ่มมากกว่าปกติ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากถึงระดับหนึ่ง จะส่งผลให้เซลล์ของร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย ไปใช้เปลี่ยนเป็นพลังงานได้ตามปกติ จีงส่งผลให้รู้สึกเพลียและอ่อนล้ามากกว่าปกติ อีกทั้งยังกระตุ้นให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น หิวบ่อยขึ้นอีกด้วย
    • รู้สึกเหนื่อยล้า เนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับ มีภาวะขาดน้ำเนื่องจากสูญเสียน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะที่เพิ่มมากขึ้น

    ทั้งนี้ อาการบางอย่างอาจพบได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์โดยทั่วไปด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากสงสัยว่าตัวเองอาจมีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่

    เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ส่งผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกอย่างไร

    ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกและมารดาได้ดังนี้

    ผลต่อทารก

    • เพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอวัยวะต่าง ๆ ของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ อาจส่งผลให้เกิดภาวะหายใจลำบากตั้งแต่กำเนิด (Respiratory distress syndrome) เนื่องจากปอดยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
    • ภาวะคลอดติดไหล่ เนื่องจากทารกตัวโต หากคลอดธรรมชาติอาจเสี่ยงเกิดภาวะคลอดติดไหล่ ซึ่งอาจทำให้ทารกได้รับอุบัติเหตุระหว่างคลอด เช่น กระดูกไหปลาร้าหัก เส้นประสาทบริเวณใต้รักแร้เสียหาย หรืออาจขาดออกซิเจน เนื่องจากสายสะดือโดนกดทับระหว่างคลอด
    • ภาวะพิการแต่กำเนิด (Birth defects) เช่น ความพิการของหัวใจและหลอดเลือด สมอง กระดูกสันหลัง ระบบทางเดินปัสสาวะ ไต อย่างไรก็ตาม มักพบในรายที่คุณแม่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก
    • ภาวะตายคลอด (Stillbirth)
    • ภาวะทารกตัวโต (Macrosomia) คือ มีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4,000 กรัม
    • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำช่วงแรกเกิด เนื่องจากทารกชินกับระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่ได้รับจากมารดาระหว่างตั้งครรภ์ ช่วงแรกเกิดใหม่ ๆ ร่างกายจึงยังปรับตัวไม่ทัน จนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยในทารกอาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นชักได้
    • เพิ่มความเสี่ยงให้ทารกเป็นโรคอ้วน หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในอนาคต

    ผลต่อมารดา

    • เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ที่ทำให้คนท้องมีความดันโลหิตขึ้นสูง ขาหรือเท้าบวม จุกแน่นท้อง ปวดศีรษะ มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ซึ่งอาจรุนแรงจนทำให้เกิดอาการชักและแท้งบุตรได้ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ภาวะคลอดยาก และการติดเชื้อหลังคลอดได้
    • เพิ่มความเสี่ยงของการผ่าคลอด เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่เกินไปจนคุณแม่ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดตามปกติได้ และอาจทำให้ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ
    • เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต

    หากมีอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    หากคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้

    • หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ชานมไข่มุก ผลไม้กระป๋อง ซีเรียล เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูงหลังบริโภค
    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบและควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเกินเกณฑ์ปลอดภัย
    • ไปพบคุณหมอตามนัดหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจสุขภาพและพัฒนาการของทารกในครรภ์
    • ในรายที่จำเป็นต้องใช้อินซูลินในการรักษษ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป

    เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ป้องกันได้อย่างไร

    เพื่อป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • คุมอาหาร เพื่อดูแลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ในแต่ละไตรมาส (ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป) แนะนำให้เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน ทั้งนี้ อาจเน้นอาหารกลุ่มที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์และมีไขมันต่ำ มีแคลอรี่น้อย รวมทั้งอาจขอคำปรึกษาจากทีมนักโภชนาการเพิ่มเติมได้ 
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยวันละ 30 นาที แนะนำให้ออกกำลังกายความเหนือยระดับปานกลาง ที่ไม่การปะทะ/การกระแทก หรือต้องออกแรงเบ่ง หากคุณแม่มีโรคร่วม หรือไม่มั่นใจถึงท่าทางในการออกกำลังกาย อาจปรึกษาคุณหมอให้ช่วยแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม นอกจากนี้แนะนำให้คุณแม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายในแต่ละวันอยู่เสมอ อาจจะด้วยการเดิน การทำงานบ้านเบา ๆ  เพราะนอกจากช่วยให้น้ำหนักของคุณแม่ไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินไป การออกกำลังกายยังเป็นการกระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้นด้วย
    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควรชั่งน้ำหนักเป็นประจำเพื่อตรวจสอบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ของแต่ละไตรมาสหรือไม่ หากน้ำหนักมากเกินไปอาจหาวิธีควบคุมและปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากหากคุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา