อาการ หนาว สั่น ในผู้ป่วยเบาหวาน อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางประการ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไม่สบาย อ่อนเพลีย มีไข้สูง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดจาก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือมีการติดเชื้อที่ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยเบาหวานและคนใกล้ชิดจึงควรหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอ หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
[embed-health-tool-bmi]
อาการ หนาว สั่น ในผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากสาเหตุใด
อาการหนาวสั่นเป็นอาการที่กิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติบางประการ เมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีอาการหนาวสั่น อาจเป็นผลจากจากสาเหตุต่อไปนี้
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดในไม่เพียงพอ หรือ ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เนื่องจากน้ำตาลเป็นเเหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย โดยปกติเเล้วร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์ต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อน้ำตาลในเลือดลดลงหรือไม่เพียงพอ จึงทำให้ร่างกายขาดพลังงาน และส่งผลต่อการทำงานของระบบภายในร่างกาย ทำให้เกิดอาการใจสั่น อ่อนเพลีย หน้ามืด รวมไปถึงอาการหนาวสั่นได้
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเบาหวานได้รับยาฉีดอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในปริมาณมากเกินไป หรืออาจเกิดจากการใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดปริมาณไม่เหมาะสม จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลและเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมา โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจมีดังต่อไปนี้
- ใช้ยาฉีดอินซูลินหรือยาเม็ดลดระดับน้ำตาลในเลือดมากเกินไป
- รับประทานอาหารน้อย/ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- รับประทานอาหารผิดเวลา/งดอาหารบางมื้อ
- ออกกำลังกายหักโหม หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก (โดยที่ไม่ได้รับประทานอาหารร่วมด้วย)
- มีภาวะไม่สบายอื่นๆร่วมด้วย เช่น มีไข้ ท้องเสียง อาเจียน
ภาวะติดเชื้อ
โรคเบาหวานหากควบคุมไม่ดีจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงเกิดการติดเชื้อที่ระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ง่ายขึ้น เช่น ช่องปาก ระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอด ผิวหนัง โดยเฉพาะการติดเชื้อเเบคทีเรีย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเรื้อรัง อาจทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงกว่าปกติ ส่งผลให้การติดเชื้อลุกลามได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย เมื่อร่างกายติดเชื้อจะทำให้เกิดอาการมีอาการไข้ร่วมกับหนาวสั่น เเละอาการตามระบบต่าง ๆ ภาวะติดเชื้อที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน อาจมีดังนี้
- การติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอักเสบอาจจากการติดเชื้อเเบคทีเรีย ชื่อ สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae) ซึ่งทำให้เกิดอาการรุนเเรงได้ในผู้ที่เป็นเบาหวานโดยเฉพาะในผู้ที่ควบคุมไม่ดี ในปัจจุบันจึงเเนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวาน ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเเบคทีเรียตัวนี้
- การติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน เช่น โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง (Cellulitis) จากการติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด แบคทีเรียที่พบก่อโรคติดเชื้อที่ผิวหนังได้บ่อยคือ สแตฟฟิลโลคอคคัส ออเรียส (S. aureus) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไปบนผิวหนัง การติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดที่บริเวณเท้า/ขา ซึ่งในผุ้ที่เป็นเบาหวานเเล้วควบคุมไม่ดี จะเทำให้เส้นเลือดส่วนปลาย รวมถึง เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม จึงการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- การติดเชื้อในทางเดินอาหาร เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ (Viral Hepatitis) จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ภโรคลำไส้อักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract Infection หรือ UTI) พบได้บ่อยจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรือที่นิยมเรียกว่าเชื้ออีโคไล ทำให้เกิดอาการเช่น ปัสสาวะแสบขัด กระปริบกระปรอย ปวดท้องน้อย ซึ่งอาจลุกลามเกิดเป็นโรคกรวยไตอักเสบและฝีที่ไตได้
อาการหนาวสั่นในผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจมีอาการหนาวสั่นร่วมกับ อาการต่อไปนี้
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
- ปวดศีรษะ
- หน้าซีด/ตัวซีด
- มีเหงื่อออกมาก ตัวเย็น
- รู้สึกหิวหรือคลื่นไส้
- หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็วกว่าปกติ
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อได้
- รู้สึกอ่อนเพลียและไม่มีเรี่ยวแรง
- หงุดหงิดง่าย วิตกกังวลง่าย
ผู้ที่มีภาวะติดเชื้อ อาจมีอาการหนาวสั่นร่วมกับอาการต่อไปนี้
- มีไข้สูง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ไอมีเสมหะ
- เจ็บคอ รู้สึกเจ็บเมื่อกลืนน้ำลายหรืออาหาร
- ปัสสาวะเเสบขัด
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
- ท้องเสีย ปวดมวนท้อง
- คันบริเวณช่องคลอด ตกขาว
วิธีรักษาเมื่อมีอาการหนาวสั่นในผู้ป่วยเบาหวาน
เมื่อเกิดอาการหนาวสั่นในผู้ป่วยเบาหวานแสดงถึงอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพ จึงควรไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุดเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ โดยคุณหมอจะให้รักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมกับโรคที่เป็นสาเหตุ ดังนี้
- การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในขั้นต้น หากตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจเบาหวานแล้วพบว่ามีน้ำตาลในเลือดที่ต่ำเเต่ยังมีอาการไม่รุนเเรงนัก ควรรับประทานกลูโคสในรูปแบบเม็ด เจล เป็นต้น หรือบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาร์โบไฮเดรต 15-20 กรัม เช่น น้ำหวาน 1 เเก้ว เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดกลับให้สูงขึ้นสู่ระดับที่ปลอดภัย โดยที่หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซ้ำหลายครั้ง คุณหมออาจพิจารณาปรับลดปริมาณหรือความถี่ในการฉีดอินซูลินหรือปรับลดยารักษาเบาหวานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ขึ้นอีกในอนาคต
- การรักษาภาวะติดเชื้อ เนื่องจากภาวะติดเชื้อในผู้ป่วยเบาหวานสามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วน เมื่อเข้ารับการวินิจฉัยและทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือหนาวสั่นแล้ว คุณหมอจะรักษาตามสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดจะต้องหมั่นสังเกตอาการอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติควรรีบไปพบคุณหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะอาจช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อและสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้