อินทผาลัม เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดการอักเสบของร่างกายจากโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานอินทผาลัมในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะอินทผาลัมมีแคลอรี่และน้ำตาลสูง นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในบางคนได้
[embed-health-tool-bmr]
คนเป็นเบาหวานกินอินทผาลัมได้หรือไม่
ค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic index : GI) เป็นการจัดลำดับอาหารชนิดแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตว่ามีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดมากน้อยเพียงใดหลังจากที่กินอาหารไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง โดยกำหนดระดับ 0-100 ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรรับประทานอาหารที่มีค่า GI ต่ำ ไม่เกิน 55 จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปได้ ซึ่งอินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีรสหวานแต่มีค่า GI ต่ำ หากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน
อินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีใยอาหารสูง 1 เมล็ดมีใยอาหารประมาณ 0.6 กรัม ขึ้นอยู่กับขนาดของแต่ละเมล็ด อาจช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและลดความเสี่ยงน้ำตาลในเลือดสูงได้ การรับประทานอินทผาลัมควบคู่กับอาหารอื่น ๆ เช่น โปรตีน ไขมัน จึงอาจช่วยให้การย่อยอาหารช้าลงและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Journal ปี พ.ศ. 2554 ทำการวิจัยเกี่ยวกับค่าดัชนีน้ำตาลของอินทผลัม 5 ชนิดต่อผู้ที่มีสุขภาพดีและผู้ป่วยเบาหวาน โดยทำการทดลองให้ผู้เข้ารับการทดสอบที่เป็นผู้มีสุขภาพดีจำนวน 30 ราย และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 10 รายรับประทานน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม เป็นเวลา 8 วัน และรับประทานอินทผาลัมที่มีคาร์โบไฮเดรต 50 กรัม จากอินทผาลัม 5 สายพันธุ์ เป็นเวลาอีก 8 วัน พบว่า อินทผาลัมมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และแม้ว่าผู้ป่วยเบาหวานจะรับประทานอินทผาลัมก็ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูงแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม อินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีแคลอรี่สูง อินทผาลัม 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 314 แคลอรี่ และน้ำตาลประมาณ 63.35 กรัม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรรับประทานอินทผาลัมไม่เกินครั้งละ 1-2 เมล็ด/วัน เพื่อควบคุมไม่ให้ร่างกายได้รับแคลอรี่และน้ำตาลมากเกินไป
ประโยชน์ของอินทผาลัมต่อผู้ป่วยเบาหวาน
อินทผาลัมมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนสรรพคุณของอินทผาลัมต่อการป้องกันหรือรักษาโรค ดังนี้
ใยอาหาร
การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงอย่างอินทผาลัม อาจมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด จึงอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetologia ปี พ.ศ. 2558 ทำการวิจัยถึงใยอาหารและอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานประเภท 2 ทั้งหมด 8 ประเทศในยุโรป พบว่า การปรับวิถีชีวิตและเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงโดยเฉพาะเส้นใยจากพืชและเส้นใยจากธัญพืชอาจช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานประเภทที่ 2 ได้
สารต้านอนุมูลอิสระ
อินทผาลัมอุดมไปด้วยโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันในเซลล์ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่อาจสร้างความเสียหายให้กับเซลล์จนเกิดการอักเสบ การรับประทานอินทผาลัมจึงอาจช่วยลดการอักเสบในร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานได้
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Nutrition Association ปี พ.ศ. 2548 ทำการวิจัยถึงสารต้านอนุมูลอิสระในผลไม้แห้งที่ส่งผลดีต่อร่างกาย พบว่า อินทผาลัมมีความเข้มข้นของโพลีฟีนอลสูงที่สุดในบรรดาผลไม้แห้ง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจมีส่วนช่วยลดการอักเสบในร่างกายได้
โพแทสเซียม
อินทผาลัมอุดมไปด้วยโพแทสเซียม ซึ่งอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานได้ เนื่องจากการที่ร่างกายมีโพแทสเซียมต่ำอาจส่งผลให้อินซูลินและระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Johns Hopkins ปี พ.ศ. 2554 ทำการวิจัยถึงระดับโพแทสเซียมในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ทำการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2530 ถึงปี 2539 โดยมีข้อมูลผู้เข้าร่วมมากกว่า 12,000 คน พบว่า การขาดโพแทสเซียมอาจเชื่อมโยงกับระดับอินซูลินและน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วนได้
แมกนีเซียม
อินทผาลัมอุดมไปด้วยแมกนีเซียมที่อาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และอาจช่วยควบคุมความดันโลหิตซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยเบาหวาน
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร World Journal of Diabetes ปี พ.ศ. 2558 ทำการวิจัยถึงแมกนีเซียมและเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักขาดแมกนีเซียมทั้งภายนอกเซลล์และภายในเซลล์ โดยเฉพาะในผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ดังนั้น ผู้ที่ร่างกายขาดแมกนีเซียมเรื้อรังอาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Internal Medicine ปี พ.ศ. 2550 ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับการบริโภคแมกนีเซียมและความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภท 2
ไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen)
อินทผาลัมแห้งอุดมไปด้วยไฟโตเอสโตรเจน มีโครงสร้างและออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นสารประกอบที่พบได้ในพืช มีคุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นและเพิ่มความไวต่ออินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร National Library of Medicine ปี พ.ศ. 2564 ทำการวิจัยถึงผลอินทผาลัมในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า อินทผาลัมแห้งมีปริมาณไฟโตเอสโตรเจนสูงเป็นอันดับ 2 ในผลไม้รองจากแอปริคอตแห้ง อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยเบาหวานและโรคอ้วน โดยการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้พุ่งสูงและลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ข้อควรระวังในการรับประทานอินทผาลัมแห้ง
การรับประทานอินทผาลัมอาจเสี่ยงต่อสุขภาพ ดังนี้
- แคลอรี่สูง อินทผาลัมแห้ง 2 เมล็ดให้พลังงานประมาณ 110 แคลอรี่ หากผู้ป่วยเบาหวานรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันเพิ่มสูงขึ้นได้ ดังนั้น จึงควรรับประทานอินทผาลัมแบบสดและจำกัดการปริมาณการรับประทาน
- ปริมาณน้ำตาลสูง กระบวนการทำให้ผลไม้แห้งอาจเพิ่มปริมาณน้ำตาลในผลไม้ ทำให้อินทผาลัมแห้งมีปริมาณน้ำตาลสูงขึ้น จึงควรเลือกรับประทานอินทผาลัมแบบสดและจำกัดปริมาณการรับประทานให้เหมาะสม
- โรคภูมิแพ้ อินทผาลัมแห้งอาจมีสารเติมแต่งซัลไฟต์ (Sulfites) ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้และทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหลหลังรับประทาน ผื่นขึ้นที่ผิวหนัง คัน ตาไวต่อแสง ตาแดง หรือน้ำตาไหล มีงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Gastroenterology and Hepatology From Bed to Bench ปี พ.ศ. 2555 ทำการวิจัยถึงอาการไม่พึงประสงค์จากสารเติมแต่งซัลไฟต์ พบว่า ในอุตสาหกรรมอาหารและยานิยมใช้สารซัลไฟต์เพื่อเป็นสารกันบูดกันอย่างแพร่หลาย โดยมีรายงานว่าการสัมผัสกับซัลไฟต์จะก่อให้เกิดผิวหนังอักเสบ ลมพิษ หน้าแดง ความดันเลือดต่ำ ปวดท้อง และท้องร่วง ไปจนถึงปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ร้ายแรงถึงชีวิตและโรคหืด