backup og meta

ฮอร์โมนอินซูลิน กับโรคเบาหวาน

ฮอร์โมนอินซูลิน กับโรคเบาหวาน

ฮอร์โมนอินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อการเผาผลาญสารอาหารและการควบคุมน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาล และนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ ให้ใช้เป็นพลังงาน หากร่างกายมีปริมาณอินซูลินน้อยเกินไปอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ และอาจทำร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอจนทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย น้ำหนักลดลง แต่หากร่างกายมีปริมาณอินซูลินมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้มีอาการเวียนศีรษะ ใจสั่น เหงื่อออก เป็นลม หรืออาจรุนแรงถึงขั้นโคม่าได้เช่นกัน

ฮอร์โมนอินซูลิน คืออะไร

ฮอร์โมนอินซูลิน คือ ฮอร์โมนที่มีความจำเป็นต่อการควบคุมการเผาผลาญ โดยเฉพาะสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่เซลล์ในร่างกาย ตับอ่อนมีหน้าที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือด โดยปริมาณการผลิตอินซูลินจะพิจารณาจากระดับน้ำตาลในเลือดและฮอร์โมนอื่น ๆ ในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสมดุลการทำงานของเมตาบอลิซึม (Metabolism) ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ หรือรักษาสภาวะภายในร่างกายให้สมดุล ด้วยการเผาผลาญสารอาหารเป็นพลังงานเพื่อใช้หล่อเลี้ยงเซลล์และซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

หากร่างกายไม่มีฮอร์โมนอินซูลินหรือมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ น้ำตาลกลูโคสจะไม่สามารถถูกดูดซึมใช้เป็นพลังงานได้ น้ำตาลส่วนเกินจึงจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันเป็นสะสมไว้ในร่างกาย

โรคเบาหวานและฮอร์โมนอินซูลินเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

ฮอร์โมนอินซูลินมีหน้าที่เผาผลาญคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อดูดซึมไปใช้เป็นพลังงานในร่างกาย ซึ่งปริมาณฮอร์โมนอินซูลินที่น้อยหรือมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานได้

การผลิตหรือการใช้ฮอร์โมนอินซูลินน้อยเกินไป

โรคเบาหวานเกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการ หรือร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโรคเบาหวานจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 พบบ่อยในเด็ก เกิดจากการที่เบต้าเซลล์ซึ่งผลิตอินซูลินที่ตับอ่อนถูกทำลายโดยแอนติบอดีในร่างกาย ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายได้ ทำให้ไม่สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม ทำให้ร่างกายขาดพลังงาน จนอาจส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้า กระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะบ่อย และมีปัญหาในการมองเห็น
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2  อาจเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการหรือร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ส่งผลให้ เซลล์ปลายทาง ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบบ่อยในผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคก่อให้เกิดโรค เช่น รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันมากเกินไป ไม่ออกกำลังกาย โรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจไม่ค่อยแสดงอาการ จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานจนกว่าจะเข้ารับการตรวจสุขภาพ หรือมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงจึงจะทราบว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

ผู้ป่วยเบาหวานที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการ หรือร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และเซลล์ในร่างกายขาดพลังงาน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการเหนื่อยล้า เนื่องจากร่างกายย่อยสลายเนื้อเยื่อ ไขมันและกล้ามเนื้อในร่างกายเพื่อมาใช้เป็นพลังงานแทน และในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดรุนแรง ที่เรียกว่าภาวะ DKA (Diabetes Ketoacidosis) ได้

การผลิตหรือการใช้ฮอร์โมนอินซูลินมากเกินไป

ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจได้รับฮอร์โมนอินซูลินเพื่อช่วยจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือด แต่หากได้รับฮอร์โมนอินซูลินมากเกินไป อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งอาจทำให้มีอาการอาการสับสน มึนงง วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น เหงื่อออก ผิวสีซีด หิว วิตกกังวล และหมดสติได้ โดยร่างกายจะตอบสนองต่อภาวะนี้โดยการปล่อยกลูโคสที่เก็บไว้ในตับออกมามากขึ้นเพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดสมดุล อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรงขึ้นและระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมากกว่าปกติ โดยไม่ได้ทำการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการโคม่าได้

การรักษาโรคเบาหวานด้วยฮอร์โมนอินซูลิน

การฉีดฮอร์โมนอินซูลินเพื่อรักษาโรคเบาหวานสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้

  • อินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็ว เหมาะสำหรับการป้องกันน้ำตาลในเลือดสูงหลังรับประทานอาหาร ออกฤทธิ์หลังฉีดประมาณ 2.5-20 นาที และจะมีประสิทธิภาพสูงสุดประมาณ 1-3 ชั่วโมงหลังฉีด สามารถออกฤทธิ์ได้นาน 5 ชั่วโมง เช่น อินซูลิน ลิสโปร (Insulin lispro) แอสพาร์ท (Aspart) กลูลิซีน (Glulisine)
  • อินซูลินที่ออกฤทธิ์สั้น เหมาะสำหรับการป้องกันน้ำตาลในเลือดสูงหลังรับประทานอาหาร ใช้เวลาออกฤทธิ์นานกว่าอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็ว โดยจะเริ่มลดระดับน้ำตาลในเลือดภายใน 30 นาที มีประสิทธิภาพสูงสุดประมาณ 2-5 ชั่วโมงหลังการฉีด อยู่ได้ยาวนานเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง เช่น โนโวลิน (Novolin) เวโลซูลิน (Velosulin)
  • อินซูลินที่ออกฤทธิ์ปานกลาง ออกฤทธิ์ยาวนานกว่า มีลักษณะขุ่นและต้องใช้แบบผสม เริ่มออกฤทธิ์ 60-90 นาทีหลังฉีด มีประสิทธิภาพสูงสุดประมา 16-24 ชั่วโมง มักใช้ร่วมกับอินซูลินแบบออกฤทธิ์เร็วหรือออกฤทธิ์สั้น เช่น NPH
  • อินซูลินที่ออกฤทธิ์ยาว ออกฤทธิ์ได้ยาวนานราว 8-40 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนอินซูลินแต่ละชนิด เช่น อินซูลิน กลาจิน (Insulin glargine) อินซูลิน ดีทีเมียร์ (Insulin detemir) อินซูลิน ดีกลูเดก (Insulin degludec )
  • อินซูลินแบบผสม อาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่อายุมาก มีปัญหาในการมองเห็น หรือเพิ่งเริ่มการรักษาด้วยอินซูลิน เป็นฮอร์โมนอินซูลินแบบผสมที่ประกอบด้วยอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วหรือออกฤทธิ์สั้นผสมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์ปานกลาง

การฉีดอินซูลินเข้าร่างกายสามารถทำได้ด้วยการใช้อุปกรณ์ คือใช้ปากกาอินซูลิน ฉีดอินซูลินเข้าไปใต้ชั้นผิวหนัง ความถี่อาจขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือด และความถี่ของการรับประทานอาหาร หรือใช้อินซูลินปั๊ม ซึ่งเป็นวิธีการส่งอินซูลินเข้าไปในท่อที่เจาะไว้ใต้ผิวหนังในปริมาณเล็กน้อยอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Insulin. https://www.yourhormones.info/hormones/insulin/. Accessed December 16, 2021

What is Insulin?. https://www.hormone.org/your-health-and-hormones/glands-and-hormones-a-to-z/hormones/insulin. Accessed December 16, 2021

Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/insulin-resistance.html. Accessed December 16, 2021

insulin and diabetes. https://www.diabetes.org.uk/guide-to-diabetes/managing-your-diabetes/treating-your-diabetes/insulin. Accessed December 16, 2021

Diabetes and insulin. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/diabetes-and-insulin. Accessed December 16, 2021

Diabetes treatment: Using insulin to manage blood sugar. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/in-depth/diabetes-treatment/art-20044084. Accessed December 16, 2021

การให้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ใหญ่ https://www.dmthai.org/attachments/article/1036/4_Aug_CPG_DM.pdf. Accessed February 4, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/02/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้อควรรู้ การใช้ อินซูลินสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1

ผลข้างเคียงจากการใช้อินซูลินเกินขนาด และวิธีการรับมือ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 04/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา