backup og meta

ฮอร์โมน อินซูลิน คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

ฮอร์โมน อินซูลิน คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

ฮอร์โมน อินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อนเพื่อใช้ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป โดยอินซูลินทำหน้าที่ให้เซลล์ต่าง ๆ ดึงน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงาน หากตับอ่อนผลิตอินซูลินน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นและนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของโรคเบาหวานด้วย ทั้งนี้ การฉีดอินซูลินทดแทนเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานไม่ให้สูงเกินไป โดยมักฉีดที่หน้าท้อง สะโพก ด้วยไซริงค์ ปากกาฉีดยา หรืออินซูลินปั๊ม (Insulin Pump)

ฮอร์โมน อินซูลิน คืออะไร

อินซูลิน คือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตจากตับอ่อน มีหน้าที่หลักในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอินซูลินจะกระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ดึงน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงาน รวมถึงนำน้ำตาลส่วนเกินไปสะสมไว้ที่ตับในรูปแบบของไกลโคเจน (Glycogen) เพื่อเป็นเเหล่งพลังงานสำรอง ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานที่ตับอ่อนมีความผิดปกติในการผลิตอินซูลิน จึงมีน้ำตาลในเลือดสูงและพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานได้ฮอร์โมน

หากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ลดลง หรือน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย การจัดการระดับน้ำตาลในเลือดอาจบกพร่อง และส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อมีค่าตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป จะเรียกได้ว่า ถึงเกณฑ์ของโรคเบาหวาน 

ทั้งนี้ หากเป็นโรคเบาหวานแล้วเเต่ไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปลอดภัย จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของกภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานขึ้นตา ระบบปลายประสาทเสื่อม หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน แผลติดเชื้อเรื้อรัง

ฮอร์โมน อินซูลินกับการรักษาโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ลดลง วิธีหนึ่งที่ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนเกินไป คือ การฉีดฮอร์โมน อินซูลิน ทดแทนเข้าสู่ร่างกาย

โดยทั่วไปเเล้ว ตำเเหน่งของร่างกายที่เเนะนำให้ฉีดฮอร์โมนอินซูลิน คือ ท้องแขนส่วนบน หน้าท้อง สะโพก หรือก้น โดยอาจเลือกใช้ได้ทั้งไซริงค์ ปากกาฉีดอินซูลิน หรืออินซูลินปั๊ม

ฮอร์โมน อินซูลิน ชนิดต่าง ๆ

ฮอร์โมน อินซูลินที่ใช้ฉีดในผู้ป่วยเบาหวานมีหลายชนิด โดยจำแนกตามคุณสมบัติความเร็วในการออกฤทธิ์ และระยะเวลาออกฤทธิ์ อาจแบ่งได้ดังนี้

  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-acting Insulin) เริ่มออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาที หลังจากฉีด และออกฤทธิ์นาน 3-5 ชั่วโมง ควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 5-15 นาที มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์นาน
  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้นหรือปกติ (Regular or Short-acting Insulin) ออกฤทธิ์เต็มที่หลังฉีดประมาณ 30 นาที และออกฤทธิ์นาน 5-8 ชั่วโมง ควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 30 นาที
  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting Insulin) ออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์นาน 10-18 ชั่วโมง อาจใช้วันละ 1-2 ครั้ง ขึ้นกับผู้ป่วยเเต่ละราย เเละมักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์สั้น
  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน (Long-acting Insulin) เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์ต่อเนื่องยาวนาน 24 ชั่วโมง จึงใช้วันละครั้ง มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วหรือสั้น
  • อินซูลินแบบผสม (Premixed Insulin) เป็นอินซูลินที่ผสมระหว่างอินซูลิน 2 ชนิด โดยส่วนมากเเล้วจะเป็นการผสมระหว่างอินซูลินออกฤทธิ์เร็วหรือสั้นกับอินซูลินออกฤทธิ์ปานกลางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยจะฉีดวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารมื้อเช้าเเละเย็น ซึ่งจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นหลังรับประทานอาหารในเเต่ละมื้อ เเละควบคุมระดับน้ำตาลโดยรวมของร่างกายได้ 

ฮอร์โมน อินซูลิน ส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

เมื่อฉีดฮอร์โมน อินซูลิน อาจเกิดผลข้างเคียงได้ดังนี้

  • รู้สึกคัน หรือมีรอยแดง รอยช้ำบริเวณผิวหนังที่ฉีดฮอร์โมน อินซูลิน
  • มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • ผิวหนังบริเวณที่ฉีดหนาตัวขึ้นเป็นไต ซึ่งอาจพบได้หากฉีดยาที่ตำเเหน่งเดิมซ้ำ ๆ
  • อาการแพ้อินซูลิน อาจมีผื่นขึ้น คันตามร่างกาย หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว

นอกจากนี้ ฮอร์โมน อินซูลินยังมีฤทธิ์ทำให้โพแทสเซียมที่อยู่ในกระเเสเลือดเข้าสู่เซลล์งมากขึ้น จึงอาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำได้  (Hypokalemia) ได้ โดยอาจมีอาการเป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ เเต่อย่างไรก็ตาม ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำมักพบเมื่อใช้ยาอินซูลินฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ ซึ่งจะต้องเป็นการให้ยาอินซูลินในโรงพยาบาลอีกทั้งการฉีดอินซูลินร่วมกับการอดอาหาร หรือการออกกำลังกายหักโหม อาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทั้งนี้ อาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน รู้สึกอยากอาหารมากเป็นพิเศษ มือสั่น เวียนศีรษะ สับสน สายตาพร่าเบลอ หรือง่วงซึม ทั้งนี้ หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยควรรีบเเก้ไขอาการโดยการทานน้ำหวาน ลูกอม เพื่อบรรเทาอาการเฉพาะหน้าก่อน เเละควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ่เช่น การขับรถ ทำงานในที่สูง

ฮอร์โมน อินซูลิน มีข้อควรระวังในการใช้อย่างไร

ฮอร์โมน อินซูลินแม้จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินปกติแต่มีข้อควรระวังในการฉีด ดังต่อไปนี้

  • การฉีดฮอร์โมน อินซูลินอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง หรืออาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางราย ดังนั้น ก่อนฉีด ควรสอบถามคุณหมอให้ครบถ้วนเกี่ยวกับผลข้างเคียงรวมทั้งอาการแพ้ หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ซึ่งอาจพบได้หลังจากฉีดฮอร์โมน อินซูลิน
  • ไม่ควรเปลี่ยนชนิดของอินซูลิน หรือปรับขนาดยาอินซูลินเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ
  • ก่อนฉีดอินซูลินด้วยไซริงค์หรือปากกา ควรดึงผิวหนังบริเวณที่จะฉีดให้ตึงก่อนแทงเข็ม เพื่อป้องกันการฉีดอินซูลินเข้าสู่กล้ามเนื้อเพราะอาจทำให้อินซูลินถูกดูดซึมเข้าสู่กระเเสเลือดอย่างรวดเร็ว จนอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • หากมีอาการน้ำตาลต่ำ หรือตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้ต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ควรงดการฉีดอินซูลินในช่วงเวลานั้นไป เพราะจะยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง เเละทำให้เกิดอันตราย เช่น ชัก หรือ หมดสติ  
  • ร่างกายของเด็กและผู้สูงอายุ อาจไวต่อฤทธิ์ของอินซูลินมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น การฉีด อินซูลินให้ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้มาก หรือเร็วกว่าปกติ ดังนั้นจึงควรฉีดอินซูลินตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
  • หากคุณเเม่ที่ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนฉีดอินซูลินเนื่องจาก ต้องเลือกอินซูลินชนิดที่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัยให้ใช้ระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น เนื่องจากสามารถส่งผลผ่านรกหรือน้ำนมไปยังลูกน้อยได้

การดูแลตัวเองด้วยวิธีอื่น ๆ เมื่อเป็นโรคเบาหวาน

นอกจากการฉีดฮอร์โมน อินซูลินแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลสุขภาพด้วยวิธีการต่อไปนี้ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงของหวานหรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเมื่อเข้าสู่ร่างกาย และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือประมาณ 30 นาที/วัน เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ นอกจากจะทำให้ร่างกายเเข็งเเรงเเล้ว ยังการออกกำลังกายสม่ำเสมอยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ตอบสนองต่อฮอร์โมน อินซูลินได้ดีขึ้นอีกด้วย
  • นอนหลับให้เพียงพอ เเนะนำให้นอนหลับประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน และหลีกเลี่ยงการนอนดึก เพราะเมื่อนอนน้อยหรือนอนดึก ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมามากกว่าปกติ ซึ่งมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และยังทำให้การจัดการน้ำตาลในเลือดช่วงเวลาดังกล่าวรวมถึงระหว่างวันแย่ลงด้วย
  • หลีกเลี่ยงหรืองดเลิกบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดหดตัว และทำให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการหลอดเลือดอุดตันหรือตีบ มีเลือดหมุนเวียนไหลไปหล่อเลี้ยงบริเวณปลายนิ้วมือหรือเท้าได้น้อยลง จนอาจเกิดปัญหาสุขภาพมือหรือเท้าตามมา

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetes treatment: Using insulin to manage blood sugar. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/in-depth/diabetes-treatment/art-20044084. Accessed June 29, 2022

Insulin Resistance and Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/insulin-resistance.html. Accessed June 29, 2022

What is insulin?. https://www.yourhormones.info/hormones/insulin/. Accessed June 29, 2022

Diabetes – insulin therapy. https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000965.htm#:~:text=Insulin%20therapy%20replaces%20the%20insulin,to%20control%20blood%20sugar%20levels. Accessed June 29, 2022

Types of Insulin for Diabetes Treatment. https://www.webmd.com/diabetes/diabetes-types-insulin. Accessed June 29, 2022

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/08/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฉีดอินซูลิน ผลข้างเคียง มีอะไรบ้าง และอันตรายไหม

อินซูลิน คืออะไร เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา