การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและใกล้เคียงปกติเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจช่วยชะลอและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคได้ หลายคนอาจมีคำถามว่า ระดับน้ำตาลในเลือด หรือ เบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย โดยทั่วไป ระดับเบาหวานหรือน้ำตาลในเลือดที่อาจส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายอยู่ที่ 180มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป ดังนั้นหากผู้ป่วยเบาหวาน หรือ บุคคลทั่วไปที่ตรวจแล้วพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ควรรีบไปพบคุณหมอ เนื่องจากการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนได้
[embed-health-tool-bmi]
เบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย
โรคเบาหวานเกิดจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอหรือมีภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance)ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่เทำหน้าที่ให้เซลล์สามารถเอาน้ำตาลในเลือดเข้าไปเผาผลาญเป็นพลังงาน ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหากับอินซูลิน ไม่ว่าจะเป็นที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ลดลง หรือ เซลล์ในร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เเม้จะมีอินซูลินเพียงพอ แต่ก็ไม่สามารถนำน้ำตาลไปเผาผลาญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
โดยทั่วไป ในคนปกติจะมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารนาน 8-12 ชั่วโมง ไม่เกิน100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เนื่องจากอินซูลินช่วยให้เซลล์ใช้น้ำตาลไปเผาผลาญได้เป็นปกติ น้ำตาลจึงไม่สะสมอยู่ในกระแสเลือด และไม่ส่งผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ต่างจากผู้ป่วยเบาหวานที่อินซูลินทำงานบกพร่องไป จึงส่งผลให้มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง สูงตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป และหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า180-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป ถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างอันตรายและส่งผลเสียต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หากปล่อยให้ร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งแบบเฉียบพลัน เช่น อาการช็อกเบาหวาน ภาวะเลือดเป็นกรด และภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานรวมไปถึงผู้ที่ยังไม่เป็นเบาหวานแต่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าค่าปกคิ จึงควรดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ลดลงมาใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยทั่วไปเเล้วเป้าหมายในการควบคุมระดับน้ำตาลของโรคเบาหวานคือ
- ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหาร: 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง: น้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลสะสม: น้อยกว่า 7 เปอร์เซนต์
ทั้งนี้ ระดับน้ำตาลป้าหมายอาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานมาก และผู้สูงอายุ
เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีเเรง ผิวแห้ง กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดลงผิดปกติ และหากน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกตินาน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีหรือเรื้อรังเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ได้
- โรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย
- โรคหลอดเลือดสมองตีบ/เเตก (Stroke)
- ภาวะไตวายเรื้อรัง
- ภาวะเส้นประสาทเสื่อม
- ภาวะเบาหวานขึ้นตา
- โรคผิวหนัง เช่น ผิวหนังแห้ง แผลเรื้อรังที่ผิวหนัง
- ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic ketoacidosis หรือ DKA)
- ภาวะเลือดข้นจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก (Hyperosmolar hyperglycaemic state หรือ HHS)
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
หากบุคคลทั่วไปตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ได้สูงกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือในผู้ที่เป็นเบาหวานแล้ว ตรวจวัดระดับน้ำตาลก่อนมื้ออาหารได้มากกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังมื้ออาหาร 2 ชั่วโมงได้มากกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษา/ปรับยา และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการสัญญาณของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงดังต่อไปนี้ ก็ควรรีบเข้าพบคุณหมอเช่นกัน
- ปากแห้ง
- กระหายน้ำมาก
- ปัสสาวะบ่อย หรือ ปัสสาวะกลางคืน
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดท้อง คลื่นไส้/อาเจียน
- หายใจหอบ ลมหายใจมีกลิ่นเปรี้ยวคล้ายผลไม้หมัก
- อ่อนเพลีย ไม่มีเเรง
- สับสน มึนงง
วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย อาจทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี เพราะนอกจากจะย่อยช้าทำให้อยู่ท้องนานขึ้นแล้วยังช่วยชะลอการดูซึมน้ำตาลและไขมัน รวมทั้งลดการรับประทานอาหารหรือขนมที่ทำจากคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน พาสต้า ข้าวขาว ขนมปังขาว ที่ดูดซึมเข้าสู่กระเเสเลือดได้ได้เร็ว ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นสูงได้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ รับประทานยาหรือฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ เเละไปพบคุณหมอตามนัด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจขอคำเเนะนำจากคุณหมอถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสมในเเต่ละบุคล โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ยาฉีดอินซูลิน เนื่องจากยาฉีดอินซูลินหรือยาลดระดับน้ำตาลบางกลุ่มอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังออกกำลังกายได้
- ในช่วงที่ไม่สบาย ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลตัวเองให้ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากช่วงที่ไม่สบาย อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดแกว่งทั้งสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์
- ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองที่บ้าน โดยการใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลปลายนิ้วเพื่อติดตามค่าระดับน้ำตาลในเลือดในแต่ละวัน ทั้งนี้ ความถี่ของการตรวจอาจแตกต่างกันไปตามแผนการรักษา ชนิดของโรคเบาหวานและระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวานของแต่ละบุคคลด้วย