backup og meta

เบาหวานรักษาหายไหม ควรรักษาและป้องกันอย่างไร

เบาหวานรักษาหายไหม ควรรักษาและป้องกันอย่างไร

เบาหวานรักษาหายไหม ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาหรือยาที่ช่วยให้โรคเบาหวานหายขาดได้ เป้าหมายในการรักษาเบาหวาน คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อให้ร่างกายอยู่ในภาวะปกติ และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน จากเบาหวาน ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้ยาควบคู่ไปกับการดูแลตัวเองเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ชะลอการลุกลามของโรค และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

[embed-health-tool-bmr]

เบาหวานรักษาหายไหม

ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ให้หายขาดได้ มีเพียงแต่การรักษาเพื่อประคองอาการ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลต่ำ ไขมันต่ำ มีกากใยสูง การออกกำลังกาย และการควบคุมน้ำหนัก เพื่อช่วยบรรเทาอาการ ชะลอการลุกลามของโรค ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต ปัญหาสุขภาพเท้า ปัญหาผิว  ระบบประสาทเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด

การรักษาโรคเบาหวาน

การรักษาโรคเบาหวานอาจทำได้ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

การรักษาด้วยอินซูลิน

ผู้ป่วยเบาหวานจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ การรักษาด้วยอินซูลิน เป็นการช่วยเพิ่มการเผาผลาญสารอาหารและการควบคุมน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงานให้กับเซลล์ โดยการรักษาด้วยอินซูลินอาจมีหลายประเภท เช่น อินซูลินที่ออกฤทธิ์สั้น อินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็ว อินซูลินที่ออกฤทธิ์ปานกลาง อินซูลินที่ออกฤทธิ์นาน การให้ยาอาจขึ้นอยู่กับอาการและการพิจารณาของคุณหมอด้วย

การรับประทานยา

มีการเลือกใช้ยาสำหรับการรักษาเบาหวานชนิดรับประททน หลากหลายกลุ่ม แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นกับสภาวะร่างกายในแต่ละระยะเวลา เช่น เมตฟอร์มิน (Metformin) ยายับยั้งตัวขนส่งกลูโคส (SGLT2 inhibitors) เพื่อช่วยเข้าไปกระตุ้นตับอ่อนให้ผลิตอินซูลินได้มากขึ้น หรืออาจยับยั้งการผลิตและปล่อยกลูโคสออกจากตับ

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

เพื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับอินซูลินอาจจำเป็นต้องตรวจเป็นประจำเพื่อช่วยควบคุมไม่ให้ระดับน้ำตาลสูงหรือต่ำเกินไป

การปลูกถ่ายตับอ่อน

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อาจรับการปลูกถ่ายตับอ่อนใหม่เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการผลิตอินซูลินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจจะมีการปลูกถ่ายตับอ่อนร่วมกับการปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วย และผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน เพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะไปตลอดชีวิต

การผ่าตัดลดน้ำหนัก

อาจใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นโรคอ้วน เพื่อช่วยควบคุมปริมาณการรับประทานอาหาร และอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งการลดน้ำหนักในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคอ้วนอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลงและกลับมาเป็นปกติ จนอาจไม่ต้องทำการรักษาด้วยยาโรคเบาหวานอีก แบ่งออกเป็น 3 วิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง (restrictive procedure)
  • การผ่าตัดเพื่อลดการดูดซึมอาหาร (malabsorptive procedure)
  • การผ่าตัดอาศัยทั้งกลไกการลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลงร่วมกับลดการดูดซึมอาหาร (combine both restrictive and malabsorptive procedure)

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการ อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรคเบาหวานได้ เช่น

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควรเลือกอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลต่ำ กากใยสูง โดยเน้นรับประทานผักและผลไม้ โปรตีน และธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น เนื้อไม่ติดมัน ผักผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ปลา นมไขมันต่ำ ขนมปังโฮลวีท นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและไขมันทรานส์อีกด้วย
  • ออกกำลังกาย ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ เต้นแอโรคบิค ขี่จักรยาน โดยควรออกกำลังกาย 30 นาทีขึ้นไป อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งการออกกำลังกายอาจช่วยเผาผลาญน้ำตาลให้กลายเป็นพลังงาน และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลินในร่างกายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยก่อนเสมอ

การป้องกันโรคเบาหวาน

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเลือกรับประทานอาหารไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ ใยอาหารสูง เช่น ผักผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อไม่ติดมัน
  • ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายความเข้มข้นปานกลาง เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ เต้นแอโรคบิค วันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์
  • ลดน้ำหนักส่วนเกิน การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอาจช่วยลดคอเลสเตอรอล ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุลได้ แต่ไม่ควรลดน้ำหนักในระหว่างตั้งครรภ์ และควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักในระหว่างตั้งครรภ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Type 2 Diabetes: Can You Cure It?. https://www.uofmhealth.org/health-library/abo1541. Accessed December 20, 2021

Is There a Diabetes Cure?. https://www.webmd.com/diabetes/guide/is-there-a-diabetes-cure. Accessed December 20, 2021

Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/diabetes.html#:~:text=Diabetes%20is%20a%20chronic%20(long,your%20pancreas%20to%20release%20insulin. Accessed December 20, 2021

Diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/symptoms-causes/syc-20371444. Accessed December 20, 2021

Diabetes-Diagnosis-treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/diagnosis-treatment/drc-20371451. Accessed December 20, 2021

การผ่าตัดคนไข้โรคอ้วน. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1280. Accessed December 20, 2021

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/04/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

รักษาเบาหวาน สุขภาพที่ดีไม่มีภาวะแทรกซ้อน เริ่มต้นที่ควบคุมน้ำตาล

เท้าบวม เบาหวาน สาเหตุและการดูแล


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา