backup og meta

5 สมุนไพร แก้เบาหวาน และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/11/2022

    5 สมุนไพร แก้เบาหวาน และข้อควรระวังในการบริโภค

    สมุนไพร แก้เบาหวาน เป็นการรักษาทางเลือกที่อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวาน การรักษาโรคเบาหวานด้วยสมุนไพรอาจพบในตำราแพทย์แผนโบราณที่ระบุว่า สมุนไพรหลายชนิดอาจรักษาโรคเบาหวานได้ แอย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุอย่างชัดเจนว่าสมุนไพรสามารถใช้รักษาโรคเบาหวานได้ เพื่อความปลอดภัยการใช้สมุนไพรในการรักษาควรอยู่ภายใต้การดูแลจากคุณหมอ

    5  สมุนไพร แก้เบาหวาน

    สมุนไพรหลายชนิดอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โดยมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนสรรพคุณของสมุนไพรต่อการป้องกันและรักษาโรค ดังนี้

    ว่านหางจระเข้

    ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารประกอบที่มีประโยชน์กว่า 75 ชนิด มีคุณสมบัติช่วยปรับปรุงความไวต่ออินซูลิน จึงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันให้อยู่ในระดับปกติ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยลดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้

    งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Diabetes & Metabolic Disorders ปี พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันด้วยว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยก่อนเป็นเบาหวาน พบว่า การใช้สารสกัดจากว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยก่อนเป็นเบาหวาน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติภายใน 4 สัปดาห์ และควบคุมระดับไขมันให้ปกติหลังจากผ่านไป 8 สัปดาห์ โดยการปรับปรุงความไวของเซลล์ต่ออินซูลิน นอกจากนี้ ว่านหางจระเข้ยังอุดมไปด้วยสารประกอบกว่า 75 ชนิด เช่น อัลคาไลน์ฟอสเฟต (Alkaline Phosphate) อะไมเลส (Amylase) แคลเซียม คลอรีน โครเมียม ทองแดง เหล็ก แมกนีเซียม แบรดีไคเนส (Bradykinase) คาร์บอกซีเปปติเดส (Carboxypeptidase) คาตาเลส (Catalase) ไซโคลออกซิเดส (Cyclooxidase) ไซโคลออกซีเจเนส (Cyclooxygenase) วิตามินเอ วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินอี โคลีน กรดโฟลิก ออกซิน (Auxin) จิบเบอเรลลินส์ (Gibberellins) ที่อาจมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้

  • ตำลึง

  • ตำลึงอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น โพลีฟีนอล (Polyphenols) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซาโปนิน (Saponins) ที่อาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสมดุล ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

    งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Traditional and Complementary Medicine ปี พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และการเพิ่มความไวของอินซูลินในพืชตระกูลตำลึง พบว่า ตำลึงอาจมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น โพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ ซาโปนิน ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคเบาหวาน และป้องกันภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ยังเพิ่มความไวต่ออินซูลินในร่างกายซึ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน

    1. มะระขี้นก

    มะระขี้นกเป็นสมุนไพรที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและต้านเบาหวาน เนื่องจากประกอบด้วยโพลีเปปไทด์ พี  (Polypeptide-p) ที่เป็นส่วนประกอบโมเลกุลโปรตีนในพืชที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน และสารขมกลุ่มคิวเคอร์บิตาซิน ซึ่งเป็นสารที่ให้รสขมในพืช เช่น โมโมดิซิน (Momordicin) ที่อาจมีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

    จากงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Environmental Research and Public Health ปี พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ดีขึ้นด้วยมะระขี้นกในผู้ป่วยที่มีภาวะดื้ออินซูลินและภาวะก่อนเบาหวาน  พบว่า ในมะระขี้นกมีสารประกอบทางยามากกว่า 228 ชนิด โดยเฉพาะสารซาแรนติน (Charantin) โพลีเปปไทด์ พี สารวิซีน (Vicine) โมมอร์ดิน (Momordin) และอนุพันธ์ที่คล้ายกัน เช่น โมมอร์ดินอล (Momordinol) โมมอร์ดิซิลิน (Momordicilin) โมโมชาริน (Momorcharin) มีคุณสมบัติช่วยปรับปรุงและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ โพลีเปปไทด์ พี เป็นสารสกัดที่พบในมะระขี้นก มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนอินซูลินที่สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Complementary Therapies in Medicine ปี พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการลดน้ำตาลในเลือดและความปลอดภัยของมะระขี้นกในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยมีผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 90 คน รับประทานมะระขี้นกเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า หลังจากรับประทานมะระขี้นก ระดับฮีโมโกลบินในเลือดไม่เปลี่ยนแปลง แต่ระดับกลูโคสในเลือดหลังอดอาหารลดลง ซึ่งอาจมีผลต่อการลดระดับกลูโคสในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

    1. โสม

    สารสกัดจากโสมอย่างเอทานอล (Ethanol) และจินเซโนไซด์ (Ginsenoside) อาจมีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงลดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในเกิดโรคเบาหวานได้

    งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2551 ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโสมและน้ำตาลในเลือด พบว่า การรับประทานโสมสามารถต่อต้านและยับยั้งภาวะดื้อต่ออินซูลิน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และสารสกัดจากเอทานอลของรากโสมช่วยป้องกันการเพิ่มของน้ำหนัก ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ไตรกลีเซอไรด์ และระดับกรดไขมันอิสระสูง นอกจากนี้ จินเซโนไซด์ซึ่งเป็นสารสกัดที่ได้จากโสมสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ รวมทั้งลดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากอนุมูลอิสระในดวงตาและไตได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน การรับประทานโสมจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารให้คงที่ ซึ่งอาจช่วยให้สุขภาพดียิ่งขึ้น

    1. กระเทียม

    สารต้านอนุมูลอิสระในกระเทียม เช่น อัลลิซิน (Allixin) ซีลีเนียม (Selenium) ซัลลิลซิสเทอีน (Sallylcysteine) อาจช่วยปรับปรุงภาวะดื้อต่ออินซูลินที่ดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food & Nutrition Research ปี พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กระเทียมและการจัดการเบาหวานชนิดที่ 2  พบว่า กระเทียมมีสารประกอบที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เช่น อัลลิซิน ซีลีเนียม ซัลลิลซิสเทอีน ที่อาจช่วยปรับปรุงและบรรเทาภาวะดื้อต่ออินซูลิน ช่วยให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ และช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมคอเลสเตอรอลโดยรวมให้สมดุลอีกด้วย

    ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร แก้เบาหวาน

    • การใช้สมุนไพรควรได้รับคำแนะนำหรืออยู่ในการควบคุมจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากสมุนไพรต้องใช้ในสัดส่วนที่เหมาะสมและถูกวิธี หากใช้สมุนไพรในปริมาณที่มากเกินไปหรือผิดวิธี นอกจากอาการจะไม่ดีขึ้นแล้ว ยังอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ ตามัว ลิ้นชา ใจสั่น ใจเต้นแรง ความดันสูง หรืออาจหลอดเลือดบวม
    • ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ควรรักษาด้วยสมุนไพร หากมีอาการหมดสติ ท้องเดินอย่างรุนแรง ไข้สูง อาเจียนเป็นเลือด ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็กและสตรีมีครรภ์
    • ไม่ควรใช้สมุนไพรในการรักษาเบาหวานติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจมีสารตกค้างที่สะสมในร่างกายได้
    • ไม่ควรใช้สมุนไพรที่ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์ หรือไม่มีมีงานวิจัยที่เชื่อถือรองรับ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา