backup og meta

การตรวจความดันโลหิตที่บ้าน (Home Blood Pressure Test)

การตรวจความดันโลหิตที่บ้าน (Home Blood Pressure Test)

คำจำกัดความ

การตรวจความดันโลหิตที่บ้าน คืออะไร

การตรวจความดันโลหิตที่บ้าน (Home Blood Pressure Test) ช่วยให้ติดตามค่าความดันโลหิตที่บ้านได้ด้วยตัวเอง โดยเป็นการวัดแรงดันของเลือดภายในหลอดเลือด

คนส่วนใหญ่ใช้เครื่องมืออัตโนมัติเพื่อวัดความดันโลหิตที่บ้าน เครื่องมือนี้ทำงานโดยการเป่าลมเข้าไปยังสายรัดแขนที่จะใช้พันรอบแขนส่วนบนเพื่อหยุดกระแสเลือดในหลอดเลือดชั่วคราว ในขณะที่อากาศถูกปล่อยจากผ้ารัดแขนอย่างช้าๆ เครื่องมือวัดความดันโลหิตจะบันทึกค่าความดันขณะที่เลือดเริ่มไหลเวียนอีกครั้ง

ความดันโลหิตจะถูกบันทึกเป็นสองค่า

  • ตัวเลขแรกเป็นค่าความดันซิสโตลิก (systolic pressure) หมายถึงค่าความดันโลหิตสูงสุดที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจบีบตัว
  • ตัวเลขที่สองเป็นค่าความดันไดแอสโตลิก (diastolic pressure) หมายถึงค่าความดันโลหิตต่ำสุดที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจคลายตัวในระหว่างการเต้นของหัวใจ

ค่าความดันโลหิตสองประการนี้แสดงเป็นหน่วยมิลลิเมตรของปรอท (mm Hg) เนื่องจากเครื่องมือดั้งเดิมที่ใช้วัดความดันโลหิตเป็นการใช้ปรอท ค่าความดันโลหิตบันทึกเป็น systolic/diastolic เช่น หากค่าความดันซิสโตลิกมีค่าเป็น 120 mm Hg และค่าความดันไดแอสโตลิกมีค่าเป็น 80 mm Hg ค่าความดันโลหิตของคุณบันทึกเป็น 120/80

เครื่องมือวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ

เครื่องมือวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องมือวัดความดันโลหิตอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัล เป็นเครื่องมือวัดความดันโลหิตแบบใช้แบตเตอรี่ที่ใช้ไมโครโฟนเพื่อจับจังหวะการไหลเวียนเลือด สายรัดแขน ซึ่งใช้พันโดยรอบแขนส่วนบนจะมีการดูดลมเข้าและปล่อยลมออกโดยอัตโนมัติเมื่อกดปุ่มเริ่มการทำงาน

เครื่องมือวัดความดันโลหิตที่พบได้ทั่วไปในซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา และชอปปิงมอลล์เป็นเครื่องมือแบบอัตโนมัติ

ส่วนเครื่องมือวัดความดันโลหิตที่วัดค่าบริเวณนิ้วมือหรือข้อมือมักแสดงผลไม่แม่นยำและไม่แนะนำให้ซื้อ

เครื่องมือวัดความดันโลหิตแบบธรรมดา

เครื่องมือวัดความดันโลหิตแบบธรรมดาคล้ายคลึงกับเครื่องมือที่แพทย์ใช้เครื่องมือดังกล่าวที่เรียกว่าเครื่องวัดความดันชนิดปรอท (Sphygmomanometer) มักประกอบด้วยสายรัดแขน หลอดสำหรับบีบเพื่อเป่าลมเข้าสายรัดแขน เครื่องมือฟังเสียงหัวใจ (stethoscope หรือ microphone) และมาตรวัดเพื่อวัดความดันโลหิต

การวัดความดันโลหิตทำได้โดยการหยุดการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดชั่วคราว (มักทำโดยการเป่าเข้าผ้ารัดแขนที่ใช้พันรอบแขนส่วนบน) จากนั้นวางเครื่องมือฟังเสียงหัวใจลงบนผิวหนังเหนือหลอดเลือดสามารถเริ่มฟังเสียงเลือดที่เริ่มไหลเวียนผ่านหลอดเลือดอีกครั้งในขณะที่ปล่อยอากาศออกจากสายรัดแขน

ความดันโลหิตจะแสดงเห็นได้ในหน้าปัดรูปวงกลมที่มีเข็มชี้ ในขณะที่ความดันในสายรัดแขนเพิ่มขึ้น เข็มบนหน้าปัดจะเคลื่อนที่ตามเข็มนาฬิกา ในขณะที่ความดันของสายรัดแขนลดลง เข็มจะเคลื่อนที่ทวนเข็มนาฬิกา ในขณะที่ความดันของสายรัดแขนลดลงนั้น เครื่องวัดจะตรวจกระแสเลือดไหลเวียนที่ได้ยินเป็นครั้งแรกซึ่งจะปรากฏเป็นค่าความดันซิสโตลิก ส่วนค่าที่ปรากฏที่มาตรวัดเมื่อไม่สามารถได้ยินกระแสเลือดอีกเป็นค่าความดันไดแอสโตลิก

เครื่องมือวัดความดันโลหิตแบบต่อเนื่องที่บ้าน

เครื่องมือวัดความดันโลหิตแบบต่อเนื่องที่บ้านเป็นเครื่องมือขนาดเล็กที่ใส่ติดตัวคนไข้ตลอดทั้งวันเป็นเวลา 24 หรือ 48 ชั่วโมง เครื่องมือนี้วัดความดันโลหิตได้โดยอัตโนมัติ

แพทย์อาจแนะนำเครื่องมือนี้หากแพทย์คิดว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงปลอม (white-coat/office hypertension) หากวิธีอื่นไม่ให้ผลการตรวจที่คงที่

ความจำเป็นในการตรวจความดันโลหิต

แพทย์อาจแนะนำให้วัดความดันโลหิตที่บ้าน ในกรณีดังนี้

  • ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะก่อนความดันโลหิตสูง (Prehypertension) (ความดันซิสโตลิก – ค่าบน – ตัวเลขระหว่าง 120 และ 139 mm Hg หรือ ความดันไดแอสโตลิก – ค่าล่าง – ตัวเลขระหว่าง 80 และ 89 mm Hg)
  • ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความดันโลหิตสูง (ความดันซิสโตลิกเท่ากับ 140 mm Hg หรือมากกว่า หรือความดันไดแอสโตลิกเท่ากับ 90 mm Hg หรือสูงกว่า)
  • ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดความดันโลหิตสูง

ข้อควรรู้ก่อนตรวจ

ข้อควรรู้ก่อนตรวจความดันโลหิต

  • ห้ามปรับเปลี่ยนยาความดันโลหิตสูงตามค่าความดันโลหิตที่วัดที่บ้านหากแพทย์ไม่ได้สั่ง
  • ความดันโลหิตมักสูงขึ้นและลดลงในแต่ละช่วงเวลา และในแต่ละวันต่างกัน โดยความดันโลหิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในตอนเช้าและลดลงในตอนกลางคืน
  • ความเครียด การสูบบุหรี่ การรับประทาน การออกกำลังกาย อาการหวัด อาการปวด เสียงดัง ยาที่ใช้ และแม้แต่การพูด ล้วนมีผลต่อความดันโลหิตทั้งสิ้น การอ่านได้ค่าสูงเพียงครั้งเดียวไม่ได้หมายความว่ามีความดันโลหิตสูง หรืออ่านได้ค่าปกติครั้งเดียวก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความดันโลหิตสูง ดังนั้น จำเป็นต้องหาค่าเฉลี่ยจากการวัดซ้ำหลายครั้งตลอดทั้งวันซึ่งจะมีความถูกต้องมากกว่าการวัดเพียงครั้งเดียว
  • ความดันโลหิตอาจมีค่าสูงเฉพาะเมื่อผู้ป่วยไปหาหมอเท่านั้น โดยทั่วไปเรียกว่าความดันโลหิตปลอม (white-coat/office hypertension) ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดเกี่ยวกับการไปหาหมอ เมื่อตรวจวัดความดันเลือดที่บ้านตามปกติ อาจพบว่าความดันโลหิตมีค่าต่ำกว่าเวลาไปพบคุณหมอ

ขั้นตอนการตรวจ

การเตรียมตัวก่อนการตรวจความดันโลหิตที่บ้าน

ก่อนตรวจวัดความดันโลหิต ควรปฏิบัติดังนี้

  • หาสถานที่เงียบ ๆ เพื่อตรวจวัดความดันโลหิต เนื่องจากจำเป็นต้องฟังเสียงหัวใจเต้น
  • ทำใจให้สบายและผ่อนคลายด้วยการขับถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนการตรวจ (การปวดปัสสาวะอาจมีผลต่อค่าความดันโลหิต)
  • พับแขนเสื้อขึ้นหรือถอดเสื้อผ้าที่แขนเสื้อรัดแน่นเกินไปออก
  • พักที่เก้าอี้เป็นเวลา 5 ถึง 10 นาที โดยควรวางแขนอย่างสบายในระดับหัวใจ และให้นั่งตัวตรงหลังพิงเก้าอี้โดยไม่ไขว่ห้าง และวางแขนท่อนปลายบนโต๊ะโดยหงายฝ่ามือไว้

ขั้นตอน การตรวจความดันโลหิตที่บ้าน

ความดันโลหิตในแขนข้างขวาอาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าความดันโลหิตในแขนข้างซ้าย ด้วยเหตุผลนี้ ให้พยายามใช้แขนข้างเดียวกันในการตรวจวัดทุกครั้ง

ในระยะแรก ควรวัดความดันโลหิต 3 ครั้งติดต่อกัน โดยแต่ละครั้งห่างกัน 5 หรือ 10 นาที แต่ถ้ารู้สึกสบายในการวัดความดันโลหิตด้วยตัวเองแล้วควรตรวจวัด 1-2 ครั้งในแต่ละครั้ง

ข้อแนะนำสำหรับการใช้เครื่องมือวัดความดันโลหิตมีความหลากหลายโดยขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องมือที่ใช้ โดยแนวทางทั่วไปมีดังต่อไปนี้

  • วัดความดันโลหิตในขณะที่รู้สึกสบายและผ่อนคลาย ให้นั่งเงียบๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาทีโดยวางเท้าทั้งสองข้างลงบนพื้น และพยายามไม่เคลื่อนไหวหรือพูดในขณะที่กำลังวัดความดันโลหิต
  • นั่งโดยให้แขนงอเล็กน้อยและวางแขนอย่างผ่อนคลายลงบนโต๊ะเพื่อให้แขนส่วนบนอยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
  • พันสายรัดแขนโดยรอบผิวหนังบริเวณแขนส่วนบน อาจจำเป็นต้องพับแขนเสื้อขึ้น นำแขนออกจากแขนเสื้อ หรือถอดเสื้อออก
  • พันสายรัดแขนให้พอดีกับรอบแขนส่วนบนเพื่อให้ปลายด้านล่างของสายรัดแขนอยู่เหนือส่วนโค้งของข้อศอกในระยะ 1 นิ้ว (2.5 ซม.)

หลังการตรวจความดันโลหิตที่บ้าน

ให้บันทึกตัวเลขความดันโลหิตโดยระบุวันที่และเวลา อาจใช้สมุดบันทึกรายการหรือตารางในคอมพิวเตอร์ เครื่องมือวัดความดันโลหิตอาจสามารถบันทึกตัวเลขไว้ได้ หรือเครื่องมือบางประเภทสามารถส่งข้อมูลนี้ไปยังคอมพิวเตอร์ได้ด้วย

นอกจากนี้ ควรบันทึกกิจกรรมประจำวันด้วย เช่น เวลาที่ใช้ยาหรือเวลาที่รู้สึกหงุดหงิดหรือรู้สึกเครียด บันทึกดังกล่าวอาจช่วยอธิบายความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับค่าความดันโลหิตและช่วยให้แพทย์ปรับเปลี่ยนการใช้ยารักษาได้

ผลการตรวจ

ผลการตรวจความดันโลหิตที่บ้าน

ความดันโลหิตสำหรับผู้ใหญ่อายุ 18 ปี และมากกว่า (mm Hg)

  • ค่าความดันซิสโตลิกที่ควรเป็นเท่ากับ 119 หรือต่ำกว่า ส่วนค่าความดันไดแอสโตลิก ควรเท่ากับ 79 หรือต่ำกว่า

ภาวะก่อนเป็นความดันโลหิตสูง

  • ค่าความดันซิสโตลิก 120 ถึง 139 ค่าความดันไดแอสโตลิก 80 ถึง 89
  • ค่าความดันซิสโตลิก140 หรือสูงกว่า ค่าความดันไดแอสโตลิก 90 หรือสูงกว่า

โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งมีความดันโลหิตต่ำเท่าใดยิ่งดี เช่น ค่าความดันโลหิตที่ต่ำกว่า 90/60 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีหากรู้สึกดี แต่หากมีความดันโลหิตต่ำ รู้สึกเวียนศีรษะ เป็นลม หรือรู้สึกเหมือนจะอาเจียน ควรปรึกษาแพทย์

ค่าปกติสำหรับการตรวจความดันโลหิตที่บ้านอาจมีความหลากหลายโดยขึ้นอยู่กับผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการและโรงพยาบาลแต่ละแห่ง โปรดปรึกษาแพทย์หากมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับผลการทดสอบ

หากมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับการตรวจความดันโลหิตที่บ้าน โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจคำแนะนำของแพทย์ได้ดีขึ้น

Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ferri, Fred. Ferri’s Netter Patient Advisor. Philadelphia, PA: Saunders / Elsevier, 2012. Print edition. Page 535.

How to Pick a Home Blood Pressure Monitor

https://www.webmd.com/hypertension-high-blood-pressure/how-pick-home-blood-pressure-monitor#1. Accessed January 21, 2019

Automated vs. Manual Blood Pressure Readings: Guide to Checking Blood Pressure at Home

https://www.healthline.com/health/how-to-check-blood-pressure-by-hand. Accessed January 21, 2019

Checking Your Blood Pressure at Home

https://www.webmd.com/hypertension-high-blood-pressure/guide/hypertension-home-monitoring#1. Accessed January 21, 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/05/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

An interview with Dr Joseph Saba, Chief Executive Officer at Axios

เช็กกันหน่อยไหม ใครมีความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 13/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา