backup og meta

Molar pregnancy คืออะไร

Molar pregnancy คืออะไร

Molar pregnancy คือ ภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติและไม่สมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า ครรภ์ไข่ปลาอุก โดยปกติ เมื่อไข่ผสมกับอสุจิและเกิดการปฏิสนธิ ร่างกายจะสร้างรกขึ้น แต่หากเซลล์ที่สร้างรกผิดปกติ จะก่อให้เกิดถุงน้ำภายในโพรงมดลูกและถุงน้ำจะเจริญเติบโตแทนตัวอ่อน อย่างไรก็ตาม การทราบสาเหตุ การรักษา และวิธีดูแลตัวเองที่เหมาะสม อาจช่วยให้รับมือกับภาวะนี้ได้ดีขึ้น

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

Molar pregnancy คือ

Molar pregnancy คือ ภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติและไม่สมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า ครรภ์ไข่ปลาอุก โดยปกติ เมื่อไข่ผสมกับอสุจิและเกิดการปฏิสนธิ ร่างกายจะสร้างรกขึ้น แต่หากเซลล์ที่สร้างรกผิดปกติ จะก่อให้เกิดถุงน้ำภายในโพรงมดลูกและถุงน้ำจะเจริญเติบโตแทนตัวอ่อน การตั้งครรภ์ชนิดนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่มีตัวอ่อน เนื่องจากตัวอ่อนไม่เจริญเติบโตตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 3-5 สัปดาห์แล้ว แต่ส่วนที่ออกมาให้เห็นเป็นเม็ด ๆ คือส่วนของเนื้อรกที่เจริญผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกคล้ายถุงน้ำอยู่ภายในโพรงมดลูก ส่วนมากจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย (Benign tumor) ไม่มีอันตรายร้ายแรง มีเพียงส่วนน้อยที่อาจกลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งเยื่อรก (Choriocarcinoma) ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 2

อาการของ Molar pregnancy

ในระยะเริ่มแรก Molar pregnancy อาจมีอาการเหมือนการตั้งครรภ์ปกติ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • คลื่นไส้และอาเจียนรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีขนาดมดลูกโตกว่าปกติและมีระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) สูงมาก
  • ขนาดของมดลูกโตเร็วกว่าอายุครรภ์และบวมน้ำมาก คุณแม่อาจพบว่าขนาดของท้องหรือมดลูกโตเร็วมากกว่าอายุครรภ์ที่ควรจะเป็น โดยที่ยังไม่รู้สึกเลยว่าทารกในครรภ์ดิ้น
  • เลือดที่ออกทางช่องคลอดมีสีน้ำตาล ลักษณะเหมือนเลือดเก่า
  • อาจมีถุงน้ำลักษณะคล้ายเมล็ดองุ่นออกมาจากช่องคลอด

หากพบสัญญาณเตือนหรืออาการใด ๆ ของ Molar pregnancy ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อตรวจหาสัญญาณอื่น ๆ เช่น

  • ความดันโลหิตสูง
  • ไทรอยด์เป็นพิษ จะมีอาการใจสั่น มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก
  • ซีสต์รังไข่ โดยทั่วไปจะโตประมาณ 6-12 เซนติเมตร และอาจจะโตได้ถึง 20 เซนติเมตร ลักษณะของถุงน้ำนี้จะเป็นแบบหลาย ๆ ช่อง และเป็นทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
  • ภาวะโลหิตจาง
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่ทำให้ความดันโลหิตสูง และอาจมีโปรตีนในปัสสาวะในช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์

สาเหตุของ Molar pregnancy

ครรภ์ไข่ปากอุก เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมภายในไข่ที่ได้รับการผสมและปฏิสนธิ ทำให้ไข่ไม่สามารถเจริญเติบโตมาเป็นตัวอ่อนได้ โดยปกติเมื่อไข่ผสมกับอสุจิและปฏิสนธิจะต้องมีจำนวนโครโมโซม 46 โครโมโซม ซึ่งได้จากคุณพ่อและคุณแม่เท่า ๆ กัน และส่งผลให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตเป็นทารกได้อย่างปกติ แต่ครรภ์ไข่ปลาอุกนั้นมีโครโมโซมซ้ำจากคุณพ่อ จึงทำให้ตัวอ่อนมีความผิดปกติและไม่สามารถอยู่รอดได้ ทั้งยังอาจทำให้ตัวอ่อนเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ภายในไม่กี่สัปดาห์ โดยครรภ์ไข่ปลาอุก อาจแบ่งออกได้ 2 ประเภทดังนี้

  • Molar pregnancy แบบเดียว (Complete Molar pregnancy) เป็นภาวะที่เซลล์เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติภายในครรภ์หลังการปฏิสนธิ และอาจไม่มีการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ลักษณะโครโมโซมเป็น 46, XX
  • Molar pregnancy ร่วมกับการมีทารก หรือมีบางส่วนของทารกร่วมอยู่ด้วย (Partial Molar Pregnancy) ซึ่งเป็นภาวะเริ่มต้นของการมีทารก แต่ทารกจะไม่สามารถพัฒนาหรืออยู่รอดได้ ลักษณะโครโมโซมเป็น 69, XXX หรือ 69, XXY

อย่างไรก็ตาม บางครั้ง Molar pregnancy ก็อาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม่ได้เกิดจากโครโมโซมที่ผิดปกติ สำหรับแนวโน้มที่อาจทำให้เกิดภาวะ Molar pregnancy คือ

  • เคยมีประวัติแท้งบุตร
  • เคยมีภาวะ Molar pregnancy มาก่อน
  • ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35 ปี

การวินิจฉัย Molar pregnancy

การวินิจฉัย Molar pregnancy อาจเริ่มในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยคุณหมออาจให้เข้ารับการทดสอบ ดังนี้

  • ตรวจเลือด ซึ่งอาจรวมถึงการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin) หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์ เพื่อดูว่ามีฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) อยู่ในระดับที่สูงผิดปกติหรือไม่ 
  • อัลตราซาวด์ เพื่อตรวจดูเนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้องและอุ้งเชิงกราน โดยในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก มดลูกและท่อนำไข่อาจจะอยู่ใกล้ช่องคลอดมากกว่าช่องท้อง ซึ่งการอัลตราซาวด์อาจแสดงผลที่แตกต่างกัน ดังนี้
    • อัลตราซาวด์ Molar pregnancy แบบเดียว อาจตรวจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 8-9 สัปดาห์ โดยจะแสดงให้เห็นว่า รกหน้าเกือบเต็มมดลูก มีซีสต์บริเวณรังไข่ ไม่มีตัวอ่อนในครรภ์ ไม่มีน้ำคร่ำ 
    • อัลตราซาวด์ Molar pregnancy ร่วมกับการมีทารก หรือมีบางส่วนของทารกร่วมอยู่ด้วย อาจแสดงให้เห็นว่า น้ำคร่ำต่ำ รกมีความผิดปกติ ทารกใครรภ์มีขนาดเล็กไม่สอดคล้องกับอายุครรภ์

หากตรวจพบภาวะ Molar pregnancy คุณหมออาจให้ตรวจหาปัญหาทางการแพทย์อื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งอาจรวมถึง โรคโลหิตจาง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะครรภ์เป็นพิษ

การรักษา Molar pregnancy

สำหรับการรักษาภาวะ Molar pregnancy อาจทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • การรักษาด้วยยา ผู้หญิงบางคนที่มีภาวะ Molar pregnancy อาจได้รับการรักษาด้วยยา เพื่อทำให้มดลูกหดตัว และกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติ 
  • การขูดมดลูกโดยใช้เครื่องดูดไฟฟ้า (Suction curettage) เป็นวิธีที่คุณหมอนิยมเลือกใช้ เพราะทำได้เร็ว เสียเลือดน้อยกว่าการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือปกติ และสามารถทำได้แม้ว่ามดลูกจะมีขนาดใหญ่ ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์อายุยังน้อยหรือต้องการมีลูก คุณหมอจะขูดมดลูกโดยใช้เครื่องดูดไฟฟ้า แล้วติดตามการรักษาอย่างน้อย 1 ปี
  • การตัดมดลูก วิธีการรักษานี้มักไม่ค่อยได้รับความนิยม จะพิจารณาทำในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือไม่ต้องการมีลูกแล้วและมีระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ในเลือดสูง เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกสูง อาจมดลูกทะลุ และมีเลือดออกจากโพรงมดลูกมากได้ ดังนั้น การตัดมดลูกจะเป็นประโยชน์มากกว่า หลังตัดมดลูก จะต้องติดตามการรักษาอย่างน้อย 1 ปี  ก่อนเข้ารับการผ่าตัดมดลูก คุณหมออาจปรึกษากับผู้ป่วย เพื่อบอกถึงประโยชน์และข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด
  • ติดตามอาการ หลังจากได้รับการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อเอาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออกเรียบร้อยแล้ว คุณหมออาจนัดติดตามอาการ ซึ่งรวมถึงการตรวจดูระดับฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) ด้วยการเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What is a Molar Pregnancy?. https://www.webmd.com/baby/what-is-molar-pregnancy#1.  Accessed October 16, 2021

Molar pregnancy. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/molar-pregnancy/symptoms-causes/syc-20375175. Accessed October 16, 2021

Molar Pregnancy. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/birth-defects/molar-pregnancy/. Accessed October 16, 2021

Molar pregnancy. https://www.nhs.uk/conditions/molar-pregnancy/. Accessed October 16, 2021

Molar pregnancy. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/molar-pregnancy. Accessed October 16, 2021

Management of molar pregnancy. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3279094/. Accessed October 16, 2021

About molar pregnancy. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/gestational-trophoblastic-disease-gtd/molar-pregnancy/about. Accessed October 15, 2021

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/05/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เจาะน้ำคร่ำ คัดกรองความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์

เลือดออกทางช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ กับสัญญาณที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 10/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา