เจาะน้ำคร่ำ เป็นการตรวจคัดกรองระหว่างตั้งครรภ์ โดยคุณหมอจะนำตัวอย่างน้ำคร่ำมาตรวจสอบความผิดปกติของโครโมโซม ส่วนใหญ่การเจาะน้ำคร่ำมักทำในช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ และคุณหมอมักแนะนำให้มีการเจาะน้ำคร่ำในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุ 35 ปีขึ้นไป สมาชิกในครอบครัวมีโครโมโซมที่ผิดปกติ หรือพบสัญญาณปัญหาสุขภาพตอนตรวจครรภ์ เนื่องจากอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทารกในครรภ์มีภาวะผิดปกติ
[embed-health-tool-due-date]
เจาะน้คร่ำ คืออะไร
การเจาะน้ำคร่ำ เป็นการเก็บตัวอย่างน้ำคร่ำซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวใส หรือสีเหลืองอ่อน ที่ทำหน้าที่ปกป้องทารกในครรภ์ และช่วยให้ทารกมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหว ซึ่งส่วนประกอบหลักของน้ำคร่ำ คือ ปัสสาวะของทารก (Fetal Urine) และสารคัดหลั่งที่ขับจากปอดทารก (Fetal Lung Fluid) นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ สารน้ำที่ซึมผ่านจากผิวหนังทารกที่ยังไม่มีเคราติน สารน้ำจากรก เยื่อหุ้มทารก และสายสะดือ โดยที่คุณหมอจะนำน้ำคร่ำที่อยู่รอบ ๆ ตัวของทารกไปตรวจสอบและวินิจฉัยความผิดปกติของโครโมโซม เช่น ดาวน์ซินโดรม เอ็ดเวิร์ดส์ซินโดรม (Edwards’ Syndrome) หรือความผิดปกติของท่อประสาทชนิดเปิด (Open Neural Tube Defect หรือ ONTDs) เช่น ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง
ทำไมถึงต้องเจาะน้ำคร่ำ
การเจาะน้ำคร่ำเป็นการตรวจคัดกรองในกรณีพิเศษ มักใช้ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์เข้ารับการตรวจคัดกรองชนิดอื่น ๆ เช่น อัลตราซาวด์ แล้วคุณหมอพบว่าทารกอาจเสี่ยงเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยการเจาะน้ำคร่ำช่วยให้รับรู้ถึงความผิดปกติ หรือโรคทางพันธุกรรมได้ เช่น
- โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle-Cell Disease หรือ SCD) โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)
- โรคที่เกี่ยวกับโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม กลุ่มอาการพาทัวซินโดรม (Patau’s Syndrome) เอ็ดเวิร์ดส์ซินโดรม (Edwards’ Syndrome)
- ความผิดปกติของท่อประสาทชนิดเปิด เช่น ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina Bifida)
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการเจาะน้ำคร่ำ
ก่อนการเจาะน้ำคร่ำ คุณหมอจะอธิบายขั้นตอน และประเมินข้อห้ามในการเจาะน้ำคร่ำ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ มีแผลอักเสบติดเชื้อบริเวณผนังหน้าท้อง ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และให้เซ็นเอกสารยินยอมรับทราบข้อตกลง แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่จำเป็นเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ ไม่ต้องอดอาหาร และอดน้ำ หากอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ ควรถ่ายปัสสาวะก่อนเข้ารับการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะถุงน้ำคร่ำรั่ว แต่หากอายุครรภ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์ คุณหมออาจแนะนำให้งดถ่ายปัสสาวะก่อนเจาะน้ำคร่ำ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะช่วยรองรับถุงน้ำคร่ำไว้
วิธีการ เจาะน้ำคร่ำ
การเจาะน้ำคร่ำใช้เวลาประมาณ 45 นาที โดยคุณหมอจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตราซาวด์ เพื่อตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจ ตำแหน่งของรก สายสะดือ และถุงน้ำคร่ำ จากนั้นคุณหมอจะทำความสะอาดบริเวณหน้าท้องด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วใช้เข็มแทงผ่านทางผนังหน้าท้องและผนังมดลูกเข้าไปที่ถุงน้ำคร่ำ แล้วดูดน้ำคร่ำออกมาประมาณ 20-30 มิลลิลิตร และนำน้ำคร่ำที่ได้ไปส่งตรวจในทางห้องปฏิบัติการต่อไป
ปัจจัยเสี่ยงในการเจาะน้ำคร่ำ
แม้การเจาะน้ำคร่ำจะทำโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ และใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ปลอดเชื้อ แต่ก็เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังเจาะน้ำคร่ำได้ เช่น การติดเชื้อของรกและถุงน้ำคร่ำ น้ำคร่ำรั่ว มีเลือดออกทางช่องคลอด แต่อาจพบได้ไม่บ่อยนัก นอกจากนี้ การเจาะน้ำคร่ำอาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะแท้ง ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 0.5 หรือ 1 ใน 200
อย่างไรก็ตาม การเจาะน้ำคร่ำไม่สามารถบ่งบอกโรคทุกโรคที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์ได้ และควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ เพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจเข้ารับการเจาะน้ำคร่ำ