backup og meta

ลักษณะท้องของคนท้อง เป็นอย่างไร บอกอะไรได้บ้าง

ลักษณะท้องของคนท้อง เป็นอย่างไร บอกอะไรได้บ้าง

ลักษณะท้องของคนท้อง อาจแตกต่างกันในแต่ละคน โดยอาจเปลี่ยนแปลงตามอายุครรภ์ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร ขนาดตัวหรือลักษณะของทารกในครรภ์ ลักษณะท้องที่เปลี่ยนแปลงไปอาจไม่ได้บ่งบอกถึงเพศของทารกในครรภ์ว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง และอาจไม่ได้บอกถึงสุขภาพของทางรกในครรภ์ แต่ในบางกรณีลักษณะท้องอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะสุขภาพบางประการ ดังนั้น คุณแม่จึงควรเข้ารับการตรวจครรภ์ตามนัดหมายของคุณหมออย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพครรภ์ของคุณแม่และสุขภาพของทารกในครรภ์

ลักษณะท้องของคนท้อง บอกอะไร

ลักษณะท้องของคนท้องแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป อาจขึ้นอยู่กับอาหาร การออกกำลังกายและลักษณะของทารกในครรภ์ด้วย ดังนี้

ลักษณะท้องเล็ก

ลักษณะท้องของคนท้องที่มีลักษณะท้องเล็ก อาจมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายและขนาดตัวทารกในครรภ์ นอกจากนี้ลักษณะท้องเล็กยังอาจเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

  • หน้าท้องที่เล็กอาจเกี่ยวข้องกับอายุครรภ์ โดยหน้าท้องจะขยายใหญ่ขึ้นประมาณ 1 เซนติเมตร/สัปดาห์ หากอายุครรภ์ยังน้อยและทารกยังมีขนาดตัวเล็กก็อาจทำให้ลักษณะหน้าท้องมีขนาดเล็ก
  • สำหรับคุณแม่ที่รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย และออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยให้มดลูกที่กำลังเติบโตไม่ยื่นออกมามากนัก ทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรง ไม่มีการสะสมของไขมัน ส่งผลให้หน้าท้องดูเล็กลง อาจเป็นไปได้ว่าคุณแม่ที่มีขนาดตัวสูงอาจมีหน้าท้องที่เล็กกว่าคุณแม่ที่มีขนาดตัวที่เล็กกว่า

นอกจากนี้ ลักษณะท้องเล็กอาจเป็นเพราะปัญหาการตั้งครรภ์บางประการอย่างภาวะน้ำคร่ำน้อย คือ ภาวะมีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่า 500 มิลลิลิตร ส่งผลให้หน้าท้องมีขนาดเล็ก ดังนั้น ควรเข้าพบคุณหมอเมื่ออายุครรภ์ 15-20 สัปดาห์ เพื่อตรวจวัดหน้าท้องและติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

ลักษณะท้องใหญ่

ลักษณะท้องของคนท้องที่มีลักษณะท้องใหญ่ อาจมีสาเหตุมาจากน้ำหนักตัวของคุณแม่ในขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและค่า BMI ก่อนตั้งครรภ์ด้วย โดยค่า BMI ที่เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์มีดังนี้

  • ผู้ที่มี BMI น้อยกว่า 18.5 ก่อนการตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 12.5-18 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มี BMI 18.5-24.9 ก่อนการตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 11.5-16 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มี BMI 25-29.9 ก่อนการตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 7-11.5 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มี BMI มากกว่า 30 ก่อนการตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเพียง 5-9 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์

โดยสามารถคำนวณ BMI ได้จากค่า น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง ได้ผลลัพธ์เป็นหน่วย กิโลกรัม/เมตรยกกำลังสอง

สำหรับอีกหลายสาเหตุที่ทำให้หน้าท้องใหญ่อาจเป็นเพราะอายุครรภ์ การท้องลูกแฝดหรือขนาดตัวของทารกในครรภ์ที่ขยายใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ การท้องลูกคนที่สองยังอาจทำให้หน้าท้องขยายใหญ่เร็วกว่าท้องแรก เนื่องจากกล้ามเนื้อสามารถรับแรงกดของมดลูกที่ขยายตัวได้ง่ายขึ้น รวมถึงอาจเป็นเพราะโครงสร้างร่างกายของคุณแม่ หากคุณแม่มีขนาดตัวเล็กก็อาจทำให้มองเห็นว่าหน้าท้องมีขนาดใหญ่กว่าปกติ

ในบางกรณี หน้าท้องที่ใหญ่ขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาการตั้งครรภ์อย่างภาวะน้ำคร่ำมาก ซึ่งเป็นภาวะที่มีน้ำคร่ำมากผิดปกติส่งผลให้หน้าท้องขยายใหญ่ หากเกิดภาวะเช่นนี้ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อรับการตรวจวัดหน้าท้องและตรวจครรภ์

ลักษณะท้องยกสูง

ลักษณะท้องของคนท้องที่มีลักษณะท้องยกสูง คือ ท้องกลมและยกขึ้นสูงเกือบถึงใต้ราวนม คุณแม่บางคนอาจมีลักษณะท้องยกสูงตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงกำหนดคลอด หรือบางคนอาจมีลักษณะท้องยกสูงในช่วงไตรมาสที่ 2-3 จนถึงกำหนดคลอด ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหน้าท้องของคุณแม่มีความแข็งแรง เนื่องมาจากการออกกำลังกายเป็นประจำและรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี ผักผลไม้ ลดไขมันและน้ำตาลส่งผลให้หน้าท้องกระชับและยกตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน

ลักษณะท้องต่ำ

ลักษณะท้องของคนท้องที่มีลักษณะท้องต่ำ อาจมีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งหรืออายุครรภ์ที่ถึงกำหนดใกล้คลอด นอกจากนี้ลักษณะท้องต่ำยังอาจเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

  • คุณแม่บางคนที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป อาจสังเกตเห็นว่าหน้าท้องของตนเองมีลักษณะต่ำลง ซึ่งอาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหน้าท้องที่เคยยืดจากการท้องครั้งแรกกำลังขยายออกอีกครั้งเมื่อท้องครั้งที่ 2 แต่เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่คอยทำหน้าที่พยุงหน้าท้องเริ่มอ่อนแรงจนไม่สามารถอุ้มหน้าท้องให้ยกสูงขึ้นได้เหมือนการตั้งครรภ์ครั้งแรก
  • คุณแม่ที่ท้องลูกแฝดหรือท้องลูกหลายคนในครรภ์เดียว น้ำหนักของทารกในครรภ์ที่มากขึ้นอาจส่งผลให้ท้องต่ำได้เช่นกัน
  • คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ใกล้ถึงกำหนดคลอดจะมีหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นและท้องจะมีลักษณะต่ำลง เนื่องจากทารกในครรภ์อาจกำลังกลับหัวและเคลื่อนตัวไปยังกระดูกเชิงกรานเพื่อเตรียมพร้อมคลอด ดังนั้น หากสังเกตเห็นว่าท้องต่ำลงในชั่วข้ามคืนก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพราะอาจเป็นสัญญาณว่าร่างกายพร้อมคลอดแล้ว

สำหรับลักษณะท้องต่ำอาจทำให้คุณแม่หลายคนรู้สึกไม่สบายตัว มีอาการปวดหลังส่วนล่างเนื่องจากต้องรับน้ำหนักและแรงกดมาก อาจลองออกกำลังกายหรือเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อบรรเทาอาการและช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น เช่น การนอนตะแคงข้าง เล่นโยคะ ออกกำลังกายบริหารอุ้งเชิงกราน

ลักษณะท้องขยายออกด้านข้าง

ลักษณะท้องของคนท้องที่มีลักษณะท้องขยายออกด้านข้าง อาจมีสาเหตุมาจากทารกในครรภ์นอนอยู่ในแนวขวาง ซึ่งไม่เป็นปัญหาต่อสุขภาพทารกหรือการตั้งครรภ์ เว้นแต่ทารกไม่กลับหัวเมื่อถึงกำหนดคลอด อาจทำให้คุณแม่จำเป็นต้องผ่าคลอด สำหรับคุณแม่ที่มีน้ำหนักเกินในขณะตั้งครรภ์อาจมีโอกาสที่ท้องจะขยายออกด้านข้างได้มากกว่าคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพของทารกในครรภ์ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทารกตัวโต ความผิดปกติของท่อประสาท

[embed-health-tool-due-date]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Reproductive Health. https://www.cdc.gov/reproductivehealth/maternalinfanthealth/pregnancy-weight-gain.htm. Accessed March 11, 2022

WHICH PREGNANCY MYTHS ARE ACTUALLY TRUE?. https://healthcare.utah.edu/the-scope/shows.php?shows=0_qtd1io6q. Accessed March 11, 2022

Pregnancy: What to Know About How You’re Carrying. https://www.webmd.com/parenting/pregnancy-know-how-you-are-carrying. Accessed March 11, 2022

น้ำคร่ำ (Amniotic fluid). https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/6822/#:~:text=%. Accessed March 11, 2022

น้ำหนักที่เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์. https://www.dmthai.org/index.php/knowledge/understand-diabetes/diabetes-pregnant/56. Accessed March 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/03/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ท้อง 8 สัปดาห์ คุณแม่และทารกในครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

อาการปวดท้องคลอด สัญญาณที่ควรสังเกต


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา