พัฒนาการเด็ก เดือนที่ 12 คือ ช่วงที่ลูกน้อยจะเริ่มเดินได้ด้วยตัวเอง โดยอาจจะยังเกาะสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ในการพยุงตัว นอกจากนั้น ยังเริ่มเปล่งเสียงพูดได้เป็นภาษามากขึ้น และเริ่มสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิดและหาวิธีส่งเสริมพัฒนาการและทักษะด้านต่าง ๆ ของลูกน้อยให้เหมาะสมกับวัย
[embed-health-tool-vaccination-tool]
การเจริญเติบโต พฤติกรรมและ พัฒนาการเด็ก เดือนที่ 12
ลูกน้อยจะเติบโตและมีพัฒนาการเด็ก เดือนที่ 12 อย่างไร
ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกน้อยมีอายุครบ 1 ขวบ และเริ่มเดินได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเด็กหลายคนอาจเริ่มเดินเมื่ออายุระหว่าง 9-12 เดือน และจะเดินคล่องแคล่วขึ้นเมื่อมีอายุได้ 14 หรือ 15 เดือน อย่างไรก็ตาม หากลูกน้อยยังเกาะเฟอร์นิเจอร์บางอย่างไม่ยอมปล่อย ไม่ควรเป็นกังวลมากเกินไป เพราะถือเป็นเรื่องปกติที่เด็กแต่ละคนอาจมีพัฒนาการช้าเร็วแตกต่างกันไป
นอกจากนั้น ลูกน้อยจะเริ่มเปล่งเสียงพูดได้เป็นภาษามากขึ้น หลังจากที่พูดอ้อแอ้มาเมื่อหลายเดือนก่อน คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูก เปล่งเสียงถ้อยคำต่าง ๆให้ชัดเจน เพื่อลูกจะได้เรียนรู้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ความสามารถและพัฒนาการในการพูดของเด็กแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ควรให้เวลาลูกน้อยได้เรียนรู้ หากอยู่กับผู้ใหญ่ที่พูดคุยกับเด็กตลอดเวลา อาจทำให้เด็กมีพัฒนาการพูดที่เร็วขึ้น
ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร
- ส่งเสริมให้ลูกน้อยเดิน ด้วยการให้ลูกน้อยได้เคลื่อนไหวบ่อย ๆ โดยไม่ต้องช่วย หรือคอยอุ้มจนบ่อยเกินไป ถ้าลูกน้อยพยายามจะเดินเตาะแตะ และหกล้มบ้าง ควรปล่อยให้เขาเริ่มเรียนรู้ที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง และลุกขึ้นด้วยตัวเอง มองอยู่ห่าง ๆ และอาจช่วยกำจัดสิ่งกีดขวางทางเดิน
- ให้ลูกน้อยดื่มนมที่มีไขมันครบส่วน (Whole Milk) เพราะเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับลูกน้อยในวัยนี้ เนื่องจากวัยหัดเดินเป็นวัยที่ต้องการไขมัน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพลังงานให้แก่ร่างกาย แต่อาจจะมีข้อยกเว้น คือ ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ อาจให้ลูกน้อยดื่มนมที่มีไขมันต่ำแทน
- เป็นแบบอย่างที่ดี ในช่วงวัยนี้ ลูกน้อยกำลังจับตาดู เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ทำทุกสิ่งทุกอย่าง และชอบเลียนแบบพฤติกรรมของคนรอบข้าง เพราะนี่คือวิธีเรียนรู้พฤติกรรมขั้นพื้นฐาน ดังนั้น หากต้องการให้ลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม อารมณ์ดี มีมารยาท พูดจาไพเพราะ ควรสังเกตตนเองว่าเป็นแบบอย่างที่ดีหรือไม่
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรปรึกษาคุณหมออย่างไร
ลูกน้อยควรได้รับการตรวจร่างกายเมื่อมีอายุครบ 12 เดือน โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเตรียมข้อมูลสำหรับตอบคำถาม ซึ่งคุณหมอมักจะถามคำถามต่อไปนี้
- ลูกน้อยใช้เวลานอนในตอนกลางคืน และงีบหลับในนอนกลางวันนานเท่าไหร่
- ลูกน้อยรับประทานอาหารแข็งชนิดใดบ้าง รับประทานอาหารได้ดีหรือไม่ และชอบรับประทานอาหารด้วยมือหรือไม่
- ลูกน้อยมีฟันขึ้นกี่ซี่แล้ว
- ลูกน้อยสามารถคลานได้คล่องแคล่วไหม ลุกขึ้นยืนได้ไหม เดินได้ไหม ชี้นิ้วได้ไหม สบตาและตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อไหม
- คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นลูกน้อยชอบหรี่ตาหรือขยี้ตาไหม หรือชอบถือของเล่นและหนังสือไว้ใกล้ ๆ ใบหน้าหรือเปล่า
- ลูกหันไปตามเสียงไหม
- ลูกเลียนเสียง พูดอ้อแอ้ หรือพูดเป็นคำ ๆ ได้ไหม
คำถามเหล่านี้จะช่วยให้คุณหมอสามารถประเมินผลการนอน สายตา พัฒนาการของร่างกายและพฤติกรรมของลูกน้อยได้ หากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกน้อยควรถามคุณหมอเพื่อความเข้าใจลูกน้อยที่มากขึ้น
การตรวจวัดน้ำหนักและส่วนสูง
คุณหมออาจมีการวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก และวัดขนาดศีรษะของลูกน้อย ซึ่งค่าทั้งหมดจะถูกบันทึกลงในตารางบันทึกการเติบโต และตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เด็กในวัย 12 เดือน ควรมีค่าเฉลี่ยของการเจริญเติบโต ดังนี้
- เด็กผู้ชาย น้ำหนัก 10 กิโลกรัม ส่วนสูง 78 เซนติเมตร และรอบศรีษะ 46 เซนติเมตร
- เด็กผู้หญิง น้ำหนัก 5 กิโลกรัม ส่วนสูง 78 เซนติเมตร และรอบศีรษะ 45 เซนติเมตร
ตัวเลขเหล่านี้แสดงเป็นอัตราส่วนครึ่งหนึ่งของจำนวนเต็มร้อย ซึ่งหมายถึง 50% ของเด็กที่มีอายุ 1 ขวบ จะมีน้ำหนักเท่ากับหรือน้อยกว่าลูกน้อย และ 50% ของเด็กจะมีน้ำหนักมากกว่าลูกน้อย
หากลูกน้อยอยู่ในเกณฑ์ 25% ไม่ได้หมายความว่ามีความผิดปกติ แต่จะหมายถึง 25% ของเด็กวัย 1 ขวบ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับลูกน้อยหรือน้อยกว่า ซึ่งลูกน้อยอาจมีช่วงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแต่อาจไม่ต่อเนื่อง คุณหมอจะให้ความสำคัญกับอัตราการเจริญเติบโตของเด็กมากกว่าการวัดค่าอื่น ๆ หากลูกน้อยหยุดการเจริญเติบโตหรือน้ำหนักลด นั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ
ข้อสังเกตอื่น ๆ เกี่ยวกับ พัฒนาการเด็ก เดือนที่ 12
คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองเด็กวัยหนึ่งขวบ ควรสังเกตพฤติกรรมและอาการต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาสุขภาพหลัก ๆ ที่อาจมีสัญญาณเตือนในเบื้องต้น ดังนี้
สุขภาพสายตา
เด็กมักจะไม่รู้ว่าสายตาของตนกำลังมีปัญหา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังสัญญาณที่บ่งบอกว่า ลูกอาจกำลังมีปัญหาสายตา และควรปรึกษาคุณหมอ เมื่อลูกน้อยมีอาการ ดังนี้
- หรี่ตาหรือกระพริบตาบ่อย ๆ
- เอียงศีรษะเพื่อจะได้มองเห็นได้ดีขึ้น เช่น เวลาที่ดูรูปภาพ ดูโทรทัศน์
- ขยี้ตาเมื่อไม่ได้รู้สึกง่วง
- มองเห็นสิ่งของไม่ชัดเจน จนทำให้เดินเตะของหรือมีอาการซุ่มซ่ามมากกว่าปกติ
คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกน้อยเข้ารับการตรวจสายตา ถ้าลูกน้อยมีสัญญาณของท่อน้ำตาอุดตัน อาการบาดเจ็บ หรือติดเชื้อ เช่น โรคตาแดง สัญญาณเหล่านี้ก็อาจรวมถึงน้ำตาไหลมากขึ้น อาการแดง ปวด ไวต่อแสง เป็นหนอง หรือมีสะเก็ดในดวงตา
สุขภาพฟัน
ลูกน้อยเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น จึงควรดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันให้ลูกน้อยเป็นประจำ ช่วยแปรงฟันให้ลูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งและควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากอย่างน้อยทุก 6 เดือน