backup og meta

แพทย์เผย! ปิดปาก-ปิดจมูก ขณะจาม อาจเสี่ยง โรคลมเข้าสมอง

แพทย์เผย! ปิดปาก-ปิดจมูก ขณะจาม อาจเสี่ยง โรคลมเข้าสมอง

นายแพทย์. มนูญ ลีเชวงวงศ์ อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ  กล่าวถึง คนไทยที่ป่วยเป็น “โรคลมเข้าสมอง” หลังจากเอามือปิดปาก-ปิดจมูกขณะจาม ชี้เป็นคนแรกของโลกที่เกิดขึ้น 2 ครั้ง ในช่วงเวลาห่างกัน 3 ปี วันนี้ Hello คุณหมอ จึงนำรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มาฝากทุกคนกันค่ะ จะมีรายละเอียดอะไรบ้างนั้น ติดตามอ่านในบทความนี้เลย

โรคลมเข้าสมอง (Pneumocephalus) คืออะไร

โรคลมเข้าสมอง (Pneumocephalus) เกิดขึ้นจากการที่มีอากาศเข้าไปภายในสมองแล้วค้างอยู่ภายในสมอง โดยมีสาเหตุเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น หลังจากการผ่าตัดกะโหลกศีรษะ อุบัติเหตุที่ศีรษะหรือที่เกี่ยวข้องกับฐานกะโหลกศีรษะ เนื้องอกฐานกะโหลกศีรษะ เป็นต้น

การทำซีที สแกน (Computerized Tomography Scan) จะช่วยให้เราสามารถตรวจหาอากาศที่ถูกเก็บไว้ในสมอง จะเห็นถึงอากาศที่ถูกอัดอยู่ในสมองส่วนหน้า เป็นสัญลักษณ์ของภูเขาไฟฟูจิ โดยชื่อนี้ได้มาจากความคล้ายคลึงของสมองที่เหมือนกับภูเขาไฟฟูจิ ในประเทศญี่ปุ่น

อาการของผู้ป่วยโรคลมเข้าสมอง

นายแพทย์ Markham ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมระบบประสาท มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมืองพาโลอัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการสำรวจผู้ป่วย 300 ราย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคลมเข้าสมอง จะมีอาการ ดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ และอาเจียน
  • อาการชัก

หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ เผยปิดปาก-ปิดจมูก ขณะจาม อาจเสี่ยงโรคลมเข้าสมอง

ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2563 นายแพทย์. มนูญ ลีเชวงวงศ์ อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ  ระบุว่า หากปิดปาก-ปิดจมูก ขณะจาม อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคลมเข้าสมองได้ การเอามือมาบีบจมูกและเม้มปากแน่นขณะที่เราจามนั้น ความแรงของการจามอาจทำให้ลมพุ่งออกจากจมูกและปากด้วยความเร็ว อาจทำให้เกิดอากาศรั่วเข้าสมอง

ดังนั้นคุณหมอจึงได้แนะนำทุกคนอย่าเอามือปิดปาก-ปิดจมูกและเม้มปากขณะจามเด็ดขาด แต่สามารถจามในขณะที่สวมใส่หน้ากากอนามัยได้ เพราะมีลมไหลพัดผ่าน

กรณีเคสผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 85 ปี  ที่มีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวานและมีไข้สูง มาโรงพยาบาลวิชัยยุทธ  ด้วยอาการพูดไม่ชัด หูข้างซ้ายอื้อ มีเสียงดัง นึกคำพูดไม่ออก หลังจามแล้วเอามือปิดจมูกปิดปากพร้อม ๆ กัน คุณหมอจึงได้ทำการวินิจฉัยตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging :MRI) พบว่ามีลม (Air pocket) ในเนื้อสมองข้างซ้ายขนาด 7 4 3.2 เซนติเมตร  จึงได้ทำการรักษาตามอาการ ผู้ป่วยเริ่มดีขึ้นช้าๆ และกลับมาเป็นปกติ  ลมคงค่อยๆดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด และหายไปเองภายใน 50 วัน คุณหมอจึงได้ทำการสรุปเคสของผู้ป่วยรายนี้ ผ่านช่องทางออนไลน์ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC  มีรายละเอียดใจความสำคัญดังนี้

ลมเข้าสมองจากการเอามือบีบจมูกเม้มปากแน่นขณะจาม รายแรกของโลกเกิดขึ้น 2 ครั้งในเวลาห่างกัน 3 ปีกว่า

ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 85 ปี เป็นโรคเบาหวานและไขมันสูง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 มาโรงพยาบาลด้วยอาการพูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก หูข้างซ้ายอื้อ มีเสียงดัง หลังจากจามแล้วเอามือบีบจมูกเม้มปากแน่นพร้อมๆกัน ได้ทำ MRI คลื่นแม่เหล็กสมอง พบมีลม (air pocket)ในเนื้อสมองข้างซ้ายขนาด 7 × 4 × 3.2 เซนติเมตร ให้การรักษาตามอาการ ผู้ป่วยดีขึ้นช้า ๆ และกลับมาเป็นปกติ ทำคอมพิวเตอร์สมองซ้ำ ลมคงค่อย ๆ ดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด หายไปเองภายใน 50 วัน ได้เตือนผู้ป่วยเวลาจามห้ามเอามือมาบีบจมูกและเม้มปากอีกเด็ดขาด

วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ผู้ป่วยกลับมารพ.อีกครั้งหลังจากจามแล้วเอามือบีบจมูกเม้มปากแน่นเพราะไม่อยากให้มีเสียงดัง หลังทำมีอาการพูดไม่ชัด หน้าข้างขวาเบี้ยว หูข้างซ้ายอื้อ มีเสียงดัง ทำคอมพิวเตอร์สมองพบลม (air pocket) ในเนื้อสมองข้างซ้ายขนาด 5.1 × 4.1 × 2.8 เซนติเมตร ตำแหน่งเดิมเหมือนเมื่อ 3 ปี 5 เดือนก่อน แต่ปริมาตรของลมในเนื้อสมองครั้งนี้น้อยกว่า ผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล 4 วัน อาการดีขึ้นช้า ๆ กลับบ้านได้

สาเหตุของลมเข้าสมองทั้ง 2 ครั้งของผู้ป่วยรายนี้ คือจามแล้วเอามือบีบจมูกเม้มปากแน่นพร้อม ๆ กัน ปกติความแรงของการจามทำให้ลมพุ่งออกจากจมูกและปากด้วยความเร็วสูงถึง 110 กม/ชม เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้บีบจมูกเม้มปากแน่นขณะจาม แรงดันในช่องปากคงสูงมาก ลมผ่านจากท่อในปากเข้าหูชั้นกลางด้านซ้าย แล้วดันทะลุผ่านกระโหลกใต้สมองเข้าเนื้อสมองด้านซ้าย

นอกจากลมจะรั่วเข้าสมองจากการบังคับไม่ให้จามออกทางปากและจมูกแล้ว ยังมีรายงานแรงดันสูงทำให้ปอดรั่ว แก้วหูทะลุ ผนังช่องคอทะลุ เส้นเลือดในสมองแตกได้อีกด้วย

เพราะฉะนั้นอย่าทำร้ายตัวเองด้วยการเอามือมาบีบจมูกและเม้มปากแน่นขณะจามเด็ดขาด จามขณะใส่หน้ากากอนามัยไม่เป็นอันตราย เพราะลมสามารถผ่านหน้ากากได้

 

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pneumocephalus. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK535412/. Accessed 25 May 2020.

โรคลมเข้าสมอง โดย หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC. https://www.facebook.com/604030819763686/posts/1635683669931724/?d=n. Accessed 25 May 2020.

Pneumocephalus. https://www.mayoclinicproceedings.org/article/S0025-6196(11)61407-9/fulltext. Accessed 25 May 2020.

Pneumocephalus. https://derangedphysiology.com/main/required-reading/neurology-and-neurosurgery/Chapter%20613/pneumocephalus. Accessed 25 May 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/07/2020

เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

สัญญาณและอาการสมองล้า ที่บอกว่าคุณต้องการ อาหารบำรุงสมอง

สมองบกพร่องระดับเบา (Mild cognitive impairment)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 01/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา