อาการแพนิค เป็นอาการตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน กระตุ้นปฏิกิริยาที่แสดงออกทางพฤติกรรมอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหวาดกลัว เสียขวัญ สูญเสียการควบคุมร่างกาย เหงื่อออก ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม ในบางกรณีอาการแพนิคอาจรุนแรงมากส่งผลให้หัวใจวายหรือเสียชีวิตได้ บางคนอาจมีอาการเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือบ่อยครั้ง ทั้งนี้ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรักษาอาการแพนิคไม่ให้รุนแรงจนกระทบกับการใช้ชีวิต
อาการแพนิค คืออะไร
อาการแพนิค คือ อาการตื่นตระหนกมากกว่าปกติ อาจมีอาการหวาดกลัว ตื่นตกใจแม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์อันตรายใด ๆ เกิดขึ้นจริง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการกระทำ หรือกิจวัตรประจำวันบางอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตื่นตระหนกอีก โดยอาการแพนิคสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และอาจเริ่มตั้งอายุ 15-25 ปี พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ทั้งนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการแพนิค แต่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อสมองของผู้ป่วยไวเป็นพิเศษในการตอบสนองต่อความกลัว อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ สิ่งกระทบอารมณ์ที่ทำให้มีความรู้สึกด้านลบบ่อยครั้ง หรืออาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ การสูญเสียคนรัก อุบัติเหตุ สูญเสียทารก
อาการแพนิค ที่พบบ่อย
อาการแพนิคสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมักเกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า บางคนอาจมีอาการบ่อยครั้งหรือเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และหลังจากเกิดอาการแพนิค ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรง เหนื่อยล้าได้ อาการแพนิคที่พบบ่อย ดังนี้
- เกิดความวิตกกังวล รู้สึกไม่สบายใจ เริ่มหลีกเลี่ยงบางสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัว
- รู้สึกถึงอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น คิดถึงอันตรายล่วงหน้าหรือการพลัดพราก กลัวตาย
- สูญเสียการควบคุม มีเสียงก้องในหู
- หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก ตัวสั่น หนาวสั่น ร้อนวูบวาบ
- หายใจถี่หรือรู้สึกแน่นในลำคอ
- ปวดท้องน้อย คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก
- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม
- รู้สึกเสียวซ่า อาการชา
ควรพบคุณหมอเมื่อไหร่
หากมีอาการแพนิคควรพบคุณหมอทันที เพราะหากอาการเกิดขึ้นอาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจและการดำเนินชีวิตในระยะยาว ซึ่งอาการแพนิคนั้นเป็นอาการที่ยากต่อการจัดการได้ด้วยตนเอง จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากคุณหมอ และหากไม่ทำการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น หัวใจวาย โรคซึมเศร้า เพิ่มความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ออกห่างจากสังคม เกิดปัญหาที่ทำงานหรือที่โรงเรียน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดในทางที่ผิด
การวินิจฉัยอาการแพนิค
คุณหมออาจวินิจฉัยอาการแพนิคด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ทดสอบการทำงานของหัวใจ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึงประเมินทางจิตวิทยาโดยการพูดคุยเกี่ยวกับอาการ ประวัติครอบครัว ความกลัวหรือความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด หรือปัญหาความสัมพันธ์ คุณหมออาจใช้เกณฑ์การวินิจฉัย ดังนี้
- ผู้ป่วยมีอาการตื่นตระหนกบ่อยครั้งและเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ
- อาการตื่นตระหนกเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งหรือมากกว่านั้น หรือผู้ป่วยเกิดความกลัวอย่าสุดขีดหลังจากเกิดอาการแพนิคที่อาจทำให้สูญเสียการควบคุมร่างกายหรือหัวใจวาย หรือผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น หลีกเลี่ยงผู้คนหรือสถานการณ์บางอย่างที่คิดว่าอาจทำให้เกิดเกิดความตื่นตระหนกอีกครั้ง
- อาการแพนิคที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ยาหรือสารเสพติด ปัญหาสุขภาพ หรือภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรควิตกกังวล หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ
การรักษาอาการแพนิค
การรักษาอาจช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของการเกิดอาการแพนิคได้ ดังนี้
จิตบำบัด
จิตบำบัดเป็นวิธีบำบัดด้วยการพูดคุย หรือเรียกว่า การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา โดยนักบำบัดจะค่อย ๆ พูดคุยและสร้างสถานการณ์ให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัย ไม่รู้สึกถูกคุกคามจากประสบการณ์เลวร้าย วิธีนี้อาจต้องใช้เวลาในการรักษาซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
รักษาด้วยยา
ยาอาจช่วยลดอาการแพนิคที่อาจสร้างปัญหาให้กับการใช้ชีวิต มีดังนี้
- ยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors : SSRIs) ได้แก่ ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) และเซอร์ทราลีน (Sertraline)
- ยาต้านเศร้าเอสเอนอาร์ไอ (Serotonin and norepinephrine reuptake inhibitors : SNRIs)
- เบนโซไดอะซีพีน (Benzodiazepines) เป็นยากดประสาทส่วนกลาง มักใช้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ ได้แก่ อัลปราโซแลม (Alprazolam) และโคลนเซแพม (Clonazepam)
การป้องกันและการรักษาอาการแพนิค
อาจยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันอาการแพนิคได้ แต่วิธีเหล่านี้อาจเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการได้ ดังนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอและเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
- เข้าร่วมกลุ่มสำหรับผู้ที่มีอาการแพนิคหรือโรควิตกกังวล เพื่อร่วมพูดคุยและไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยว
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาเสพติด สิ่งเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้อาการแย่ลงได้
- จัดการความเครียดโดยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ปลูกต้นไม้ ดูหนังฟังเพลง และฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น โยคะ การหายใจลึก ๆ และการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำโดยการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอาจทำให้อารมณ์สงบลงได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกานรู้สึกสดชื่นและไม่ง่วงนอนระหว่างวัน